COVID-19

สื่อนอกชี้ นโยบายรัฐ ‘ดึงคนรวย’ เที่ยวไทย ซ้ำเติม ‘นวดแผนไทย’ ยุคหลังโควิด

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า ธุรกิจ นวดแผนไทย กำลังโดนบีบให้ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองใหม่ ในช่วงที่กำลังเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้การถูกเนื้อต้องตัวกันเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ และหมอนวดต้องสวมหน้ากากอนามัยปิดบังใบหน้าเอาไว้

วิบูลย์ อุตสาหจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สยาม เวลเนส กรุ๊ป บริษัทที่มีกิจการร้านนวด และสปาถึง 70 แห่งทั่วประเทศไทย บอกว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่เหมือนกับทุกวิกฤติที่เคยเจอมาก่อน

นวดแผนไทย

“เราจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจใหม่ทั้งหมด ต้องติดตั้งอุปกรณ์ฆ่าเชื้อด้วยแสงอุลตราไวโอเลตในทุกห้อง ต้องเตรียมสำรองอุปกรณ์ด้านสุขภาพ และการทำความสะอาดเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ทั้งที่มีลูกค้าน้อยลง”

การอยู่รอดของอุตสาหกรรม นวดแผนไทย และสปา ถือเป็นเรื่องสำคัญของไทย

ข้อมูลจากสถาบันสุขภาพโลก แสดงให้เห็นว่า การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพเช่นนี้ ทำให้เกิดการใช้จ่ายมากถึง 12,000 ล้านดอลลาร์ หรือมากกว่า 357,000 ล้านบาท เมื่อปี 2560 ซึ่งเป็นเม็ดเงินที่มากกว่าจำนวนการใช้จ่ายในอินโดนีเซีย และมาเลเซียรวมกัน

ทั้งภาคอุตสาหกรรมนี้ ยังมีการจ้างงานโดยตรงราว 530,000 คน คิดเป็นสัดส่วนราว 1.4% ของอัตรการจ้างงานทั้งหมดในประเทศ และสัดส่วน 2.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) รายปี ของไทย

ขณะที่ กระทรวงสาธารณสุข ประเมินไว้ว่า ธุรกิจ นวดแผนไทย  สปา และการแพทย์ ที่รวมกันเป็นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพนั้น มีมูลค่าราว 1,300 ล้านดอลลาร์ หรือมากกว่า 40,000 ล้านบาท จากจำนวนร้านนวดแผนไทยประมาณ 10,000 แห่ง และสปาแบบหรูหราอีก 2,800 แห่ง ทั่วประเทศ

สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัย และหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นวดแผนไทยนั้น เป็นภาคบริการ ที่ใช้แรงงานจำนวนมาก และเป็นงานที่ต้องใช้ทักษะโดยเฉพาะ ทำให้ยากที่จะเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่นได้

ทั้งการแข่งขันด้านนี้ ค่อนข้างสูงอยู่แล้ว เพราะมีผู้ประกอบการอยู่เป็นจำนวนมากทั่วประเทศ ซึ่งการจะทำให้ธุรกิจจำนวนมากในอุตสาหกรรมนี้ อยู่รอดได้นั้น เป็นเรื่องที่ท้าทายมาก

นักเศรษฐศาสตร์รายนี้บอกด้วยว่า นอกจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการแล้ว ปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์ของอุตสาหกรรมนี้เลวร้ายลงไปอีก คือ นโยบายของรัฐบาล ที่วางแผนจะปรับเปลี่ยนรูปโฉมการท่องเที่ยวของไทย ให้ไปเน้นดึงดูดนักท่องเที่ยวฐานะร่ำรวย เพื่อการเดินทางท่องเที่ยวอย่างหรูหรา ในยุดหลังโควิด ซึ่งเรื่องนี้อาจทำให้ตำแหน่งงานจำนวนมากในธุรกิจนวดแผนไทยหายไป

“มาตรการควบคุมการเดินทาง จะจำกัดจำนวนชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามา ในขณะที่ตลาดในประเทศก็หดตัวลง จากรายได้ที่ลดลง และการใช้จ่ายเงินอย่างประหยัดมากขึ้น”

นวดแผนไทย

ทั้งนี้ ธุรกิจนวดแผนไทยส่วนใหญ่เป็นร้านเล็กๆ ตั้งอยู่ริมถนน คิดค่าบริการระหว่าง 3-10 ดอลลาร์ หรือประมาณ 100-300 บาทต่อชั่วโมง ลูกค้าจำนวนมากเป็นคนไทยด้วยกัน

ค่าบริการจะถูกแบ่งระหว่างร้าน กับพนักงานนวด ที่ฝ่ายหลังมักต้องนำรายได้ส่วนนี้ ไปจ่ายเป็นค่าน้ำมันนวด และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ในขณะนี้ ต้องรวมไปถึง ค่าหน้ากากอนามัยด้วย

กิจการกลุ่มนี้ มีแรงงาน 140,000 คน ที่ลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือ ในฐานะแรงงานนอกระบบ จากรัฐบาล ยังไม่รวมถึงคนที่ลงทะเบียน ในฐานะคนทำงานด้านอื่นๆ ด้วยเหตุผลความเป็นส่วนตัว และยังมีพนักงานนวด ที่เป็นชาวต่างชาติ พนักงานนวด ที่ทำงานในสปา และได้รับเงินเดือน ตามโรงแรม และรีสอร์ท

แม้จะได้รับอนุญาต ให้กลับมาเปิดบริการอีกครั้ง ตั้งแต่ต้นเดือนนี้ แต่ร้านนวดหลายแห่ง ยังคงปิดอยู่  เพราะอุปสรรคจากข้อกำหนดในมาตรการด้านสุขภาพ และการท่องเที่ยว ในแบบที่ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน 

รายงานข่าว ระบุด้วยว่า ในไม่ช้านี้ อาจมีนักเดินทางต่างชาติกลับเข้ามาในไทยอีกครั้งนี้ ภายใต้การทำข้อตกลง “ระเบียงเดินทาง” หรือ Travel Bubble ที่รัฐบาลไทยทำไว้กับประเทศ หรือดินแดนต่างๆ กระนั้นก็ตาม ยังไม่ชัดเจนว่า นักท่องเที่ยวเหล่านี้ จะได้รับการ นวดแผนไทย ในรูปแบบเดิมหรือไม่

นวดแผนไทย แบบปลอดโควิด

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้วางแนวทางการใช้บริการการแพทย์แผนไทยนสถานบริการสาธารณสุขของรัฐทั่วประเทศ เป็นต้นแบบให้กิจการ “นวด”

  • มีจุดคัดกรอง พร้อมอุปกรณ์ตรวจวัดอุณหภูมิ ผู้ปฏิบัติงาน โดยวัดไข้วันละ 2 เวลา คือ เช้าบ่าย
  • จัดแอลกอฮอลล์ 70% หรือเจลแอลกอฮล์ 70% สำหรับทำความสะอาดมือ
  • ใส่หน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า
  • เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล อย่างน้อย 1 – 2 เมตร
  • ถ้ามีไข้เกิน 37.3 องศา และเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น สัมผัสผู้ติดเชื้อ การเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง หรือมีโรคประจำตัว ให้ส่งต่อรับการดูแลทางการแพทย์แผนปัจจุบันทันที
  • จองล่วงหน้าก่อนเข้ารับบริการผ่านระบบ ออนไลน์ โทรศัพท์ แอปพลิเคชัน หรือในกรณีไม่ได้นัดหมายล่วงหน้า ให้จัดสถานที่สำหรับ ผู้รับบริการกรอกข้อมูล
  • บันทึกรายชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ วันที่ และเวลา ของผู้มารับบริการ เพื่อให้สามารถติดตามตัวได้ในกรณีที่ต้องสอบสวนโรค
  • มีระบบติดตามผู้รับบริการทุกราย หลังรับบริการอย่างน้อย 14 วัน
  • มีสื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลความรู้เรื่องโรคติดต่อ

อ่านเพิ่มเติม

Avatar photo