Business

ส่งออกทรุดหนัก ‘อนุสรณ์ ธรรมใจ’ แนะ ธปท. ต่อมาตรการการเลื่อนชำระหนี้

แนะ ธปท. ต่อมาตรการการเลื่อนชำระหนี้ “อนุสรณ์ ธรรมใจ” ชี้แก้ส่งออกทรุดหนัก งานเร่งด่วนรัฐบาล และธนาคารแห่งประเทศไทย พร้อมดูแลสถาบันการเงิน

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการ และกรรมการตรวจสอบ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การทรุดตัวลงอย่างรวดเร็วของภาคส่งออก จะทำให้เกิดการเลิกจ้างจำนวนมาก การผิดนัดชำระหนี้และหนี้เสียจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วช่วงครึ่งปีหลัง จึง แนะ ธปท. ต่อมาตรการการเลื่อนชำระหนี้ ที่กำลังสิ้นสุดลงประมาณเดือนตุลาคม 2563 โดยอาจต้องต่ออายุไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน

แนะ ธปท. ต่อมาตรการการเลื่อนชำระหนี้

อย่างไรก็ตาม มาตรการทางการเงิน ช่วยเหลือเอสเอ็มอี ในการเลื่อนชำระหนี้ จะกระทบต่อสถาบันการเงินบางแห่ง ที่มีอัตราส่วนกองทุนขั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงไม่สูง ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรสนับสนุนให้มีการเพิ่มทุน หรือมีมาตรการช่วยเหลือสถาบันการเงิน

“การที่หนี้เสียในระบบสถาบันการเงิน เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมกับหนี้สาธารณะต่อจีดีพี เป็นสัญญาณอันตรายทางเศรษฐกิจ ที่ต้องตระหนักว่า โครงการและมาตรการต่าง ๆ ภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ 400,000 ล้านบาทนั้น ต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วแต่รอบคอบ มีประสิทธิภาพ มีประสิทธิผลตามเป้าหมาย” นายธรรมสรณ์กล่าว

ขณะเดียวกันต้องมุ่งเป้าไปที่ การขยายการจ้างงานขนาดใหญ่ และการช่วยเหลือกิจการต่าง ๆ ไม่ให้ปิดกิจการเพิ่มเติม อย่าไปคาดหวังว่าจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวจำนวนมากโดยเร็ว เพราะภาคการท่องเที่ยวจะไม่ฟื้นตัวสู่ภาวะปกติไปอีกอย่างน้อย 1-2 ปี

ขณะที่ ธุรกิจการท่องเที่ยวและการจ้างงาน ในกิจการท่องเที่ยว ต้องมีการปรับโครงสร้างให้ไปทำงานอย่างอื่นแทน ไม่น้อยกว่า 30-40% เพราะอุปทานและห้องพักในโรงแรมที่มีอยู่ในขณะนี้ ล้นเกินความต้องการมาก และไม่จำเป็นต้องมีการลงทุนใหม่ อย่างน้อย 3-4 ปี

อนุสรณ์ ธรรมใจ
อนุสรณ์ ธรรมใจ

สำหรับการสร้างสนามบินแห่งใหม่ การขยายสนามบินนานาชาติ ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ควรนำเงินงบประมาณไปทำเรื่องเร่งด่วนเฉพาะหน้า ในการช่วยเหลือความเดือนร้อดของประชาชน และกิจการขนาดเล็กขนาดกลางมากกว่า

ขณะเดียวกัน ธปท.ต้องกล้าตัดสินใจ เพิ่มปริมาณเงินบาทเข้ามาในระบบ เพื่อชะลอการแข็งค่า พร้อมเสริมสภาพคล่อง ให้กับภาคการเงินและภาคธุรกิจ บริหารอัตราแลกเปลี่ยนเชิงรุก เพื่อให้เงินบาทอ่อนค่าลง และอาจต้องพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มอีก ในการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งต่อไป

ในส่วนของลูกหนี้ของ สถาบันทางการเงิน ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ เจ้าหนี้ของสถาบันการเงิน หรือผู้ฝากเงิน ไม่มั่นใจต่อฐานะของกิจการ โดยเฉพาะสถาบันการเงินขนาดเล็ก การเคลื่อนตัวจากภาคการเงินที่มีเสถียรภาพ สู่ภาคการเงินเปราะบาง เกิดขึ้นได้ในช่วงครึ่งปีหลัง และมีแนวโน้มเกิดภาวะหนี้เสียและวิกฤตินั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอน

ดังนั้น จึงมีความจำเป็น ที่จะต้องกำกับดูแลสถาบันการเงินแบบ “countercyclical” หรือ แบบต่อต้านภาวะเศรษฐกิจหดตัวมากขึ้น ผลักดันให้เกิดระบบ Smart Banking and Financial Market System อย่างทั่วถึง มีนโยบายแก้ปัญหา Shadow Banking และการเงินนอกระบบ การกำกับดูแลและพัฒนาระบบสถาบันการเงินและตลาดการเงิน ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ของภาคเศรษฐกิจจริง

นอกจากนี้ กระแสเงินระยะสั้นเก็งกำไร ยังคงไหลเข้าตลาดการเงิน ในภูมิภาคเอเชียและไทย ทำให้เงินบาทแข็งค่ามากขึ้น แม้ การส่งออก จะหดตัวอย่างรุนแรง โดยอัตราการหดตัวของ การส่งออก ในเดือน พฤษภาคม อยู่ที่ระดับติดลบ 22.5% ซึ่งเป็นอัตราการหดตัวสูงสุดในรอบ 11 ปี

ปัญหาการหดตัวของการส่งออก เกิดขึ้นจากทั้งอุปสงค์ และความต้องการในตลาดโลก ที่ดิ่งลงอย่างชัดเจน เสริมด้วย การชะงักงันของอุปทานภาคการผลิต Supply Chain Disruption ปัญหาชะงักงันของอุปทานภาคการผลิตที่ทำให้ การส่งออก ติดลบน่าจะผ่านจุดเลวร้ายที่สุดไปแล้ว หลังจากทุกประเทศทยอยผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองหรือล็อกดาวน์แล้ว

อย่างไรก็ตาม การอ่อนตัวลงของอุปสงค์โลกอย่างชัดเจน ยังไม่ถึงจุดต่ำสุด และกว่าจะกระเตื้องขึ้นบ้าง น่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี ผู้ส่งออกต้องระมัดระวังปัญหาผู้ซื้อในต่างประเทศ ไม่สามารถเรียกเก็บเงินค่าชำระสินค้าได้ หรือ ชำระเงินล่าช้ามาก

ภาวะดังกล่าว เกิดจากปัญหาการขาดทุนการขาดสภาพคล่อง และประสบภาวะล้มละลายของกิจการ จำนวนมาก 5 เดือนแรกของปีนี้ ผู้ซื้อต่างประเทศ (ผู้นำเข้าผ่านระบบประกัน การส่งออก ของ Exim Bank) เพิ่มขึ้น 195% คิดเป็นมูลค่าส่งออก 617 ล้านบาท

จากการคาดการณ์ของบริษัทการค้าระหว่างประเทศหลายแห่ง พบว่า มีธุรกิจการค้าระหว่างประเทศล้มละลายทั่วโลก ไม่ต่ำกว่า 20-30% คิดเป็นมูลค่า 3.5 ล้านล้านดอลลาร์ และ ตัวเลขนี้ ยังเป็นการประเมินเบื้องต้นเท่านั้น หากเกิดสงครามการค้าระหว่างจีนสหรัฐฯรอบใหม่ ปัญหาจะหนักกว่านี้

ส่วนการขยายระยะเวลาการชำระสินค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนนั้น เป็นดัชนีชี้ว่า ในครี่งปีหลังปีนี้ จะมีการผิดนัดชำระหนี้เงินค่าสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก จึงขอเตือนให้ผู้ส่งออกไทยทำประกันความเสี่ยงไว้ด้วย

ส่วนการนำเข้าที่ติดลบสูงถึง 34.4% จึงทำให้การค้ายังคงเกินดุล 2,694 ล้านดอลลาร์ แต่เป็นการเกินดุลที่ไม่พึงปรารถนา เพราะการนำเข้าสินค้าทุนและเครื่องจักรอุปกรณ์หดตัวหนักมาก สะท้อนการลงทุนที่ซบเซาในอนาคต ส่วนการเกินดุลการค้าแบบนี้ เมื่อผสมเข้ากับเงินระยะสั้นไหลเข้าเก็งกำไร จึงไม่เกิดประโยชน์อะไรต่อเศรษฐกิจมากนัก และ ยิ่งซ้ำเติมให้ การส่งออก อ่อนแอลงอีก จากการแข่งขันด้านราคาที่ด้อยลงอย่างรวดเร็ว จากการแข็งค่าของเงินบาท

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo