Economics

จับคู่เมืองแฝด ‘เจิ้งโจว-อู่ตะเภา’ ยกระดับเป็น Global TransPark

154538

นักลงทุนไทย-ต่างชาติ ร่วมรับฟังแผนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภารอบ 2 คึกคัก ด้าน “คณิศ” ย้ำแผนพัฒนาระยะยาวต้องเป็น Global TransPark นำร่องเอ็มโอยูเจิ้งโจวเป็นเมืองคู่แฝดเชื่อมโยงขนส่งสินค้าระหว่างเมือง พร้อมลงนามกับจีน 1-2 เดือนนี้ดึงช่วยออกแบบพัฒนาเมืองรอบอู่ตะเภารัศมี 30 กิโลเมตร

ครั้งที่ 2 แล้วสำหรับงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (Market Sounding) โครงการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเขตส่งเสริมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเมืองการบินภาคตะวันออก (ท่าอากาศยานอู่ตะเภา) โดยพบว่ามีบริษัทเอกชนร่วมงาน 150 บริษัทกว่า  300 คน

เดินหน้าพัฒนาอู่ตะเภาก่อนเลือกตั้ง

โดยครั้งนี้ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมให้ความมั่นใจกับนักลงทุนในนามรัฐบาลไทย เขา ระบุว่าโครงการเขตส่งเสริมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ว่าจะเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยมีสนามบินอู่ตะเภาเป็นหัวใจของ EEC ภายใต้ธงนำให้ไทยเป็น “ผู้นำด้านการบินของเอเชีย”

“นายกรัฐมนตรีสั่งให้ทำโครงการนี้อย่างเต็มที่ และทำให้สำเร็จ โดยเวลานี้เรากำลังทำทุกทางเพื่อปลดล็อกกฎระเบียบต่างๆในการอำนวยความสะดวก มีปัญหาอะไรเราจะแก้ให้หมด และแน่นอนจะต้องทำให้สำเร็จก่อนการเลือกตั้ง ให้เดินหน้าได้เลยโดยไม่ต้องรอการเริ่มต้นใหม่ในรัฐบาลถัดไป จึงกำหนดเวลาให้ต้องได้ชื่อเอกชนผู้มาดำเนินการในลักษณะ PPP ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562″

ดร.กอบศักดิ์ ตอกย้ำภาพเพื่อดึงดูดนักลงทุนครั้งนี้ว่า “EEC คือกรุงเทพ 2”  หรือศูนย์กลางทางธุรกิจในอนาคต โดยมีสนามบินอู่ตะเภาเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ซึ่งมั่นใจพื้นที่นี้ และองค์ประกอบต่างๆที่จะอยู่ในศูนย์กลางการบินแห่งนี้ โดยเฉพาะศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานที่ทันสมัยจะเกิดที่อู่ตะเภา ทำให้ได้เปรียบกว่าประเทศอื่นๆ จะมีทั้งความสะดวก และประหยัดน้ำมันให้ผู้มาใช้บริการ ไม่ต้องบินไปอีก 2 ชม.เพื่อไปซ่อมบำรุงถึงสิงคโปร์ ซึ่งขณะนี้มีหลายๆบริษัทให้ความสนใจ ขณะเดียวกันก็มีโรงฝึกช่างอากาศยานรองรับด้วย

เขา ให้ความมั่นใจกับผู้ลงทุนอีกว่า บริษัทที่จะมาบริหารจัดการจะได้ประโยชน์แน่นอน เพราะผู้โดยสารจะเข้ามาจำนวนมาก กลุ่มนักท่องเที่ยวจะขยายขึ้นไปถึง 60 ล้านคนในอนาคต จากตอนนี้ก็มี 40 ล้านคน เพราะเชื่อมโยงกับ “พัทยา” ที่มีนักท่องเที่ยวไหลเข้ามากว่า 10 ล้านคนต่อปี และจะถึง 20 ล้านคนในอีกไม่นาน เพราะการขยายเมืองพัทยา ในฐานะเมืองใหม่ยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งการพัฒนาธุรกิจจัดประชุมและนิทรรศการ(MICE)  รวมถึงโครงการรถรางเบาที่จะเข้ามาเสริม

5 ปีข้างหน้าก่อนโครงการจะก่อสร้างแล้วเสร็จ เราคงไม่อยู่นิ่ง จะส่งเสริมให้มีคนมาใช้ทั้งรันเวย์และอาคารผู้โดยสารที่สนามบินอู่ตะเภาให้มากที่สุด เพื่อให้ผู้ที่มาบริหารจัดการสนามบินแห่งนี้ในอีก 5 ปีข้างหน้ามีลูกค้าในมือเรียบร้อย ซึ่งปัจจุบันรันเวย์ที่มีอยู่รับนักท่องเที่ยวได้ 15 ล้านคน ส่วนอาคารผู้โดยสาร 1 และ 2 รับได้อย่างน้อย 7,000 คน” ดร.กอบศักดิ์ ย้ำ

อู่ตะเภาคือประตูสู่ CLMV

Market Sounding ครั้งนี้ยังพล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ประธานอนุกรรมการการบินภาคตะวันออก มาเสริมแรงโดยระบุว่า EEC คือความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ของไทยจากทำเลที่ตั้ง รัฐบาลจึงต้องการผลักดันให้สำเร็จเป็นรูปธรรม ให้ภาคตะวันออกเป็นประตูสู่กลุ่มประเทศ CLMV ยกระดับท่าอากาศยานอู่ตะเภาเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค ช่วยขับเคลื่อนโครงการลงทุน EEC ให้สำเร็จ

NIK 7884

 

“อู่ตะเภาไม่ใช่แค่สนามบิน แต่คือมหานครแห่งภาคตะวันออก”  ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ย้ำกับนักลงทุนเพื่อให้มองโอกาสการลงทุนที่นี้ให้กว้างขึ้น  พร้อมระบุตารางเวลาว่า โครงการนี้จะประกาศเชิญชวนภาคเอกชนร่วมลงทุน (Invitation to Tender ) ภายในเดือนตุลาคมนี้อย่างแน่นอน โดยจะเป็นกรอบกว้างๆ ให้นักลงทุนมีโอกาสเสนอข้อเสนอเข้ามา และมกราคม-กุมภาพันธ์ 2562 ให้ยื่นข้อเสนอ (Proposal) ประกาศผลการคัดเลือก ภายในกุมภาพันธ์ 2562

ภายใต้การประกาศเชิญชวนนี้จะให้นักลงทุนดำเนินการทั้งโครงการใหญ่ รวมวงเงินลงทุนประมาณ 2 แสนล้านบาท ประกอบด้วยโครงการสำคัญ ได้แก่ 1. อาคารผู้โดยสาร แห่งที่ 3 (Terminal 3  ) 2.ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน(MRO) 3.ศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรทางการบิน  (Aviation Training Center ) 4. Air Cargo 5.Free Trade Zone และ 6.Commercial Gateway หรือ ศูนย์ธุรกิจการค้า  เพื่อให้ผู้ลงทุนที่ได้สิทธิรับไปดำเนินการทั้งก้อน แล้วให้ไปหาผู้ลงทุนเองแยกตามความเชี่ยวชาญในแต่ละกิจกรรมเอง โดยเราเปิดกว้างทุกข้อเสนอ เช่น จะให้รัฐลงทุนอะไรให้ และเอกชนจะลงทุนส่วนใด ต่างจากรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่รัฐบาลจะร่วมใส่เงินลงทุนเข้าไปครึ่งหนึ่ง และเอกชนจ่ายส่วนเกิน

โดยในช่วงขั้นตอนการซื้อซองเปิดให้บริษัทเอกชนที่มีสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติและไทย 75/25 ได้ แต่หลังจากได้ชื่อผู้มาดำเนินการตามต้องทำตามกฎหมายไทย อย่างไรก็ตามบางกิจกรรมอาจมีต่างชาติมาลงทุน 100% ขึ้นอยู่กับข้อเสนอ อย่างไรก็ตามสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)ในโครงการ EEC ถือว่ารัฐบาลไทยให้เต็มที่เท่าที่เคยให้มา

จับคู่เมืองแฝดเจิ้งโจว-อู่ตะเภาเชื่อมโยงขนส่งสินค้า  

“เราแตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้าน เพราะทำงานใกล้ชิดกับนักลงทุนมาตลอด และเปิดกว้างทุกประเทศที่พร้อมเข้ามาดำเนินการ  เป็น International Bidding อย่างแท้จริงตามนโยบายของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  ไม่ได้ยกให้ประเทศใดประเทศหนึ่งทำแล้วมีปัญหาตามมา”

ดร.คณิศ แย้มว่า ในช่วงที่ผ่านมาได้เดินทางไปพร้อมกับคณะของนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีในหลายประเทศ อาทิ อังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และจีน เพื่อศึกษาโครงการ และเชิญชวนนักลงทุนไปด้วย  โดยหลายประเทศสนใจ EEC มาก ล่าสุดนายหวัง หย่ง มนตรีแห่งรัฐของจีน ได้นำทัพนักลงทุนจีนมาที่ EEC และสนใจโครงการพัฒนาที่สนามบินอู่ตะเภามาก

ประกอบกับเราไปศึกษาดูงานเมืองเจิ้งโจว (Zhengzhou) ที่มีการพัฒนาเมืองการบินโดยรอบสนามบิน สอดคล้องกับแผนการพัฒนาให้อู่ตะเภาเป็น “เมืองมหานครการบินแห่งภาคตะวันออก” โดย ภายใน 1-2 เดือนนี้จะมีการลงนามความร่วมมือกับจีน เพื่อให้ช่วยออกแบบพัฒนาเมืองโดยรอบแบะเป็นคู่แฝดกับอู่ตะเภา ซึ่งเจิ้งโจวกับอู่ตะเภามีระยะห่างกันประมาณ 1,000 กิโลเมตร มีศักยภาพที่จะทำการเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างกันในระยะยาว 10-15 ปี

“ถือว่าเรามีศักยภาพกว่าเจิ้งโจวด้วย เพราะรัศมี 30 กิโลเมตรรอบสนามบินอู่ตะเภาครอบคลุมพัทยา-ระยอง ซึ่งนอกจากจะเป็นแหล่งอุตสาหกรรมแล้ว ยังมีเรื่องการท่องเที่ยวเข้ามารองรับด้วย”

พัฒนาเป็น “Global TransPark” ในอนาคต  

ดังนั้นในระยะต่อไปหลังจากโครงการก่อสร้างสนามบินและโครงการเกี่ยวข้องแล้วเสร็จ จะได้เห็นการเชื่อมโยงอู่ตะเภากับเจิ้งโจว  โดยดร.คณิศ มองว่า บริเวณนี้ที่มีสนามบินอู่ตะเภาเป็นศูนย์กลางกลายจะต้องเป็นฟรีโซน สามารถเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างสนามบิน หรือท่าเรือ เพื่อนำไปผลิตในนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่โดยรอบได้อย่างเสรีโดยปลอดจากการตรวจในบางเรื่อง เป็นต้น และแผนระยะต่อไปก็จะไปเชื่อมโยงกับสนามบินของประเทศอื่นๆด้วย เช่น แฟรงก์เฟิร์ต ของเยอรมัน ทำให้อู่ตะเภาเป็น  Global TransPark” ในอนาคต

ทางด้านพล.ร.อ.โสภณ วัฒนมงคล ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพเรือ และประธานกรรมการบริหารเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกของกองทัพเรือ ระบุว่า บนพื้นที่ 6,500 ไร่ที่กองทัพเรือดูแลอยู่นั้น ในส่วนของรันเวย์ 2 ที่กองทัพเรือจะลงทุนเอง ได้เริ่มต้นออกแบบแล้ว ซึ่งทั้งรันเวย์และอาคารผู้โดยสาร 3 จะต้องก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในปี 2566 เพื่อมาเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

สำหรับ Market Sounding ครั้งที่ 2 พล.ร.อ.โสภณ ระบุว่าได้รับความสนใจอย่างมากเช่นเดียวกับครั้งแรก และจัดอีกครั้งในเดือนตุลาคม 2561 โดยครั้งนี้ถือว่ารายละเอียดของโครงการมีความชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ตามจะนำความเห็นของนักลงทุนไปปรับร่างเอกสารสัญญาการร่วมลงทุน และร่างข้อกำหนดอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงการต่อไป เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันอย่างเท่าเทียมในการคัดเลือกและเจรจากับภาคเอกชน

ทั้งนี้การรับฟังความเห็นครั้งนี้ได้ให้รายละเอียดของรูปแบบและโอกาสการให้เอกชนร่วมลงทุนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาที่เป็น PPP  Net Cost โดยให้เอกชนได้รับสิทธิ์ในการจัดเก็บรายได้ และจัดสรรผลตอบแทนบางส่วนให้แก่รัฐตามข้อตกลง โดยหน้าที่ความรับผิดชอบของเอกชนจะเป็นการออกแบบและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับสนามบิน การลงทุนในการพัฒนาองค์ประกอบต่างๆของโครงการ และดำเนินการรวมถึงบำรุงรักษาตลอดอายุสัญญา ซึ่งรัฐอาจให้ระยะเวลาบริหารโครงการนี้ถึง 50 ปี เพื่อให้เอกชนได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม โดยเอกชนมีสิทธิรับรายได้จากการดำเนินงานของสนามบิน และองค์ประกอบอื่นๆของโครงการตลอดอายุสัญญา โดยผลการศึกษาผลตอบแทนโครงการ (IRR) เบื้องต้นอยู่ที่ 10-12%  อัตราผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น 11-13%

โดยการรับฟังความเห็นครั้งนี้ พบว่าภาคเอกชนสอบถามถึงความชัดเจนของการร่วมลงทุนและเงื่อนไขของ PPP Net Cost รวมถึงสิทธิประโยชน์ในรายละเอียด และบางส่วนแสดงความไม่มั่นใจการเป็นศูนย์กลางการบินของอู่ตะเภา เนื่องจากทำเลที่ตั้งไม่ได้อยู่ในจุดศูนย์กลางเหมือนกับดอนเมืองหรือสุวรรณภูมิ

Avatar photo