COVID-19

แจงชัด แขกพิเศษของรัฐบาล – Medical and Wellness Tourism ทำไมไม่ต้องกักตัว

แขกพิเศษของรัฐบาล และผู้ป่วยเดิม รวมถึงผู้ติดตาม ในโครงการ Medical and Wellness Tourism ศบค. แจงชัด จัดอยู่ใน 11 กลุ่มที่ผ่อนผันไม่ต้องกักตัว

นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) เปิดเผยว่า กรณีการเดินทางเข้าประเทศไทยโดยเป็น แขกพิเศษของรัฐบาล และผู้ที่เดินทางมาตามข้อตกลงพิเศษ ที่มาในระยะสั้น (Special Arrangement) อาทิ ผบ.ทบ. สหรัฐฯ จัดอยู่ใน 11 กลุ่มที่ผ่อนผัน ไม่ต้องเข้าสู่การกักตัว State Quarantine ตามข้อกำหนดในการผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 5

แขกพิเศษของรัฐบาล

ทั้งนี้ จะต้องมีคณะผู้กำกับ ติดตามการเดินทาง แบ่งออกเป็น 2 คณะ ดังนี้

คณะที่ 1 คือกลุ่มผู้ติดตาม ที่จัดขึ้นโดยผู้เป็นฝ่ายเชิญ

คณะที่ 2 คือเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองคณะ จะต้องผ่านการอบรม วิธีการป้องกันตนเองมาก่อน และต้องรายงานหน่วยงานของตน ให้มีการตรวจสุขภาพ เพื่อความมั่นใจ

สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ ของคณะทำงาน 2 กลุ่มนี้ เป็นการทำงานระยะสั้น รักษาระยะห่าง Social Distancing ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องกักตัว 14 วัน หลังเสร็จภารกิจ

ทั้งนี้ เป็นการใช้หลักการเดียวกับ การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่มีความใกล้ชิด กับชาวต่างชาติเป็นจำนวนมาก แต่ไม่จำเป็นต้องทำการกักตัว หรือ การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ในพื้นที่ State Quarantine ที่ใกล้ชิดกับกลุ่มผู้มีความเสี่ยง ก็ไม่จำเป็นต้องทำการกักตัวเช่นกัน

สำหรับการเปิดรับชาวต่างชาติ เดินทางเข้าประเทศไทย ในโครงการ Medical and Wellness Tourism โดยจะนำร่องในพื้นที่โรงพยาบาลเอกชน ยืนยันว่า เป็นโครงการ ที่เคยทำมาก่อนหน้า สถานการณ์การแพร่ระบาด ของเชื้อไวรัสโควิด-19

medical tourism ๒๐๐๗๐๙

“เนื่องจากมีผู้ป่วยเดิม ที่จะต้องติดตามการรักษา อีกจำนวนมาก ที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากการงดเดินทางเข้า – ออก ประเทศไทย จึงถือว่าเป็นการรักษาต่อ ของผู้ป่วยเดิม และเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกด้วย” นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าว

ขณะที่การรักษาทั้งหมด อยู่ในโรงพยาบาล ที่ถือว่ามีความเสี่ยงน้อย สามารถกำกับ ควบคุมได้ ทั้งยืดระยะเวลา การรักษาในโรงพยาบาล ให้ครบ 14 วัน เท่ากับระยะเวลาการกักตัวใน State Quarantine และ จะต้องไม่เป็นการใช้ทรัพยากร ที่เป็นภาระแก่โรงพยาบาล เช่น กรณีการผ่าตัดใหญ่

ในส่วนของการรักษา ในโครงการ Medical and Wellness Tourism ที่สามารถทำได้ คือ การทำศัลยกรรมความงาม การรักษาโรคกระดูก และข้อ การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) การผ่าตัดแปลงเพศ เป็นต้น

จากข้อมูลเบื้องต้น พบว่า อาจมีผู้เดินทางเข้ามา ทั้งผู้เข้ารับการรักษา และผู้ติดตาม ประมาณ 2,000 คน ในอนาคตอาจมีการบูรณาการร่วมกับ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในการสนับสนุนการท่องเที่ยว หลังรับการรักษาเสร็จ และไม่พบอาการ ติดเชื้อไวรัสโควิด-19

ในที่ประชุม กระทรวงสาธารณสุข ยังได้หารือในเรื่องของ กลุ่มแรงงาน ที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทย โดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งการเดินทางของกลุ่มบุคคลดังกล่าวนั้น ยังไม่สามารถวางใจได้ ทั้งในกลุ่มของคนต่างด้าว หรือ คนไทย

อย่างไรก็ตาม ต้องมีการผ่อนคลาย หลักเกณฑ์การเฝ้าระวัง (PUI) เพื่อให้สามารถดำเนินการเฝ้าระวัง ตรวจสอบโรคได้เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน ต้องมีการเพิ่มความเข้มข้น ของมาตรการป้องกัน ในจุดตรวจต่าง ๆ เพิ่มขึ้นด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo