Finance

หวั่นความไม่แน่นอน! คนกอดเงินสดแน่น ฝากสูงสุดในรอบ 9 ปี

เงินฝาก พุ่ง 12% สูงสุดในรอบ 9 ปี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้คนยังกังวลต่อความเสี่ยงที่ยังไม่แน่นอน ทำให้ประชาชนรายย่อยและภาคธุรกิจ เลือกที่จะเก็บเงินสด

น.ส.กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ยอด เงินฝาก ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา คาดเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก 3.4 แสนล้านบาท หรือเติบโต 2.4% มียอด เงินฝาก คงค้าง 14.35 ล้านล้านบาท และถ้าเทียบกับไตรมาส 2 ปี 62 เงินฝากจะเติบโตสูงถึง 12% สูงสุดในรอบ 9 ปีนับตั้งแต่ปี 2555

ทั้งนี้ เนื่องจากคนยังกังวลต่อความเสี่ยงที่ยังไม่แน่นอน ทำให้ประชาชนรายย่อยและภาคธุรกิจ เลือกที่จะเก็บเงินสด หรือเก็บสภาพคล่องไว้ก่อน เพราะยังไม่รู้จะเอาเงินไปทำอะไร และส่วนหนึ่งได้ขายสินทรัพย์เสี่ยงมาเก็บไว้บัญชี เงินฝาก ซึ่งถือว่าปลอดภัยที่สุดแม้ดอกเบี้ยจะต่ำก็ตาม

เงินฝาก

สำหรับแนวโน้มในครึ่งปีหลัง ยังเชื่อว่า จะคงเติบโตต่อเนื่อง แต่อาจชะลอน้อยลงบ้าง เนื่องจากเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย และเศรษฐกิจกลับมาดีขึ้น กิจกรรมกิจการต่างๆ เริ่มดำเนินได้ ทำให้ภาคธุรกิจ จะนำเงินออกมาลงทุนมากขึ้น และประชาชนจะจับจ่ายใช้สอยได้บ้าง

อย่างไรก็ตาม คาดว่าทั้งปีนี้เงินฝากจะเติบโต 9 – 12% เทียบกับปีก่อน จะมียอดคงค้างสิ้นปีนี้ที่ 14.6 ล้านล้านบาท จากสิ้นปี 2562 ที่มีอยู่ 13.19 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ ครึ่งปีแรกเงินฝากโตสูงมากถึง 12% เมื่อเทียบกับปีก่อน ถือเป็นการโตสองหลักและสูงสุดในรอบ 9 ปี โดยเห็นได้ชัดเจนคือในเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเริ่มแรกของการระบาดโควิด-19 ทำให้นักลงทุนและประชาชนได้เทขายสินทรัพย์เสี่ยงและเก็บเงินสดไว้ในมือ

“เงินฝากยังปลอดภัยที่สุด ส่งผลให้ไตรมาสแรกที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2562 ถึง 8.12 แสนล้านบาทเติบโต 6.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และยังต่อเนื่องมาจนถึงไตรมาส 2 นี้ด้วย” น.ส.กาญจนา กล่าว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อจีดีพี อาจขยับสูงขึ้นไปอยู่ในกรอบประมาณ 88 – 90% ณ สิ้นปี 2563 ซึ่งนับเป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 18 ปี (ข้อมูล ธนาคารแห่งประเทศไทย ย้อนหลังถึงปี 2546) เนื่องจากเศรษฐกิจหดตัวลงแรง

นอกจากนี้ สัญญาณช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยของสถาบันการเงิน ทั้งการลดภาระผ่อนต่อเดือนและการพักชำระหนี้ เพื่อลดภาระทางการเงินให้กับลูกหนี้ น่าจะมีผลทำให้ยอดหนี้คงค้างของครัวเรือน และลูกค้ารายย่อย ไม่ปรับลดลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ จากข้อมูลของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ณ วันที่ 15 มิถุนายน 2563 พบว่า มีลูกหนี้รายย่อย ได้รับความช่วยเหลือแล้ว เป็นจำนวน 11.48 ล้านราย มูลหนี้รวม 3.8 ล้านล้านบาท

เงินฝาก

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์หนี้ครัวเรือนในระดับสูงนี้ เกิดขึ้นกับหลายๆ ประเทศในแถบเอเชีย ไม่ใช่เฉพาะกับประเทศไทย โดยภาพดังกล่าว สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้าง พร้อมๆ กับประเด็นที่ต่อเนื่อง ต่อคุณภาพของพอร์ตสินเชื่อรายย่อย ในระบบธนาคารพาณิชย์

ทั้งนี้ ผลกระทบจากสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ประเด็นหนี้ครัวเรือน ที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างอยู่แล้ว มีความเปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะในมิติของสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ที่เพิ่มขึ้นแตะระดับ 80.1% ในไตรมาส 1/2563 สะท้อนว่า ภาคครัวเรือนกำลังรับมือกับปัญหาการหดตัวของรายได้ ซึ่งเร็วกว่าการชะลอตัวของการกู้ยืม

แม้ภาพดังกล่าว จะตอกย้ำปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ไทยกำลังเผชิญ แต่ท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจ ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า ทำให้โจทย์เฉพาะหน้า ของทางการและสถาบันการเงิน ยังต้องเน้นไปที่การช่วยเหลือ กลุ่มลูกหนี้รายย่อย เพื่อช่วยประคองให้ผ่านพ้นระยะวิกฤตินี้ไปให้ได้ก่อน

จากข้อมูลล่าสุด ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนของไทยในไตรมาส 1/2563 ลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีครึ่ง จากประมาณ 3,562 ล้านบาท มาอยู่ที่ 13.479 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียง กับยอดคงค้างหนี้ครัวเรือน ช่วงปลายปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 13.483 ล้านล้านบาท เนื่องจากครัวเรือน และกลุ่มลูกหนี้รายย่อย ยังคงมีการชำระคืนหนี้ตามปัจจัยฤดูกาล

ขณะที่ความกังวล เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลให้หนี้คงค้างกับบริษัทหลักทรัพย์ ปรับตัวลดลงมาก ตามการทรุดตัวครั้งใหญ่ของตลาดหุ้น เช่นเดียวกับ สินเชื่อในกลุ่มที่ไม่มีหลักประกัน ทั้งบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ภายใต้การกำกับ ที่หดตัวลงมากตามทิศทางการจับจ่ายใช้สอยของครัวเรือนที่เป็นไปอย่างระมัดระวัง

อย่างไรก็ดี หนี้ครัวเรือนไทย ยังคงอยู่ในระดับสูง และเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง เพราะยังเห็นการก่อหนี้ก้อนใหญ่ ทั้งเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย และเช่าซื้อรถยนต์ ที่เพิ่มขึ้นตามแคมเปญที่ผู้ประกอบการผลักดันออกมา เพื่อประคองตลาด สวนทางสัญญาณอ่อนแอ ของกำลังซื้อภาคครัวเรือน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายๆ ส่วน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo