Environmental Sustainability

‘นักสิ่งแวดล้อม’ แนะ ‘ปลูกป่าชายเลน’ ลดโลกร้อนได้ดีที่สุด!

โลกร้อนส่งผลวิกฤติภัยแล้งในรอบ 20 ปี ดร.สนใจ หะวานนท์ ผู้เชี่ยวชาญป่าชายเลนจากกรมทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง ชวนปลูกต้นไม้ลดโลกร้อน รวมทั้ง ปลูกป่าชายเลน เพราะสามารถกักเก็บคาร์บอน ได้มากกว่าป่าบกในพื้นที่เท่ากัน

นักวิทยาศาสตร์ทำนายว่าปี 2563 อุณหภูมิของโลกจะสูงขึ้น 0.5-1 องศาเซลเซียส ซึ่งส่งผลกระทบ ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ของประเทศไทย ทำให้ฝนตกน้อยลง

ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศว่า ปีนี้ประเทศไทย จะเผชิญกับภัยแล้ง ที่รุนแรงมากที่สุดในรอบ 20 ปี ปริมาณน้ำฝนจะต่ำกว่าค่าปกติถึง 2-3 % ส่งผลให้ปริมาณน้ำ ในเขื่อนปีนี้ น้อยกว่าปีที่แล้ว ประมาณ 14 %

ป่าชายเลน 2

ส่วนที่กระทบหนักที่สุดคือ พื้นที่เพาะปลูกพืช ในหลายจังหวัด ซึ่งอาจขาดแคลนน้ำ ในการเกษตรกรรม ในขณะที่บางพื้นที่ ซึ่งไม่ต้องการน้ำฝนมาก กลับประสบปัญหาน้ำท่วม

จากการศึกษาเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อน นักวิทยาศาสตร์จำนวนมาก มีความเห็นว่า การปลูกต้นไม้เป็นหนทางแก้ไขที่สำคัญ ซึ่งถ้าช่วยกันปลูกต้นไม้ทั่วโลก จำนวน 1.2 ล้านล้านต้น จะช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจก ที่ก่อให้เกิดโลกร้อน ที่มนุษย์ได้สร้างเอาไว้ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาได้

แม้เป็นการยาก ที่จะปลูกต้นไม้ปริมาณมากขนาดนั้น ในระยะเวลาอันสั้น แต่ก็ยังมีข่าวดีคือ ถ้ามาช่วยกัน ปลูกป่าชายเลน จะสามารถช่วย ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้มากกว่าป่าอื่นๆ ในพื้นที่เท่ากัน และยังช่วยสะสมคาร์บอนในดินได้ยาวนาน และมากกว่าป่าบก หลายเท่าตัว

ดร.สนใจ หะวานนท์ ซึ่งศึกษาวิจัยเรื่องป่าชายเลน ในหลายประเทศมากว่า 40 ปี เผยถึงผลการวิจัยเรื่องป่าชายเลน ซึ่งร่วมโครงการกับกรมป่าไม้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และบริษัทคันไซ อิเลคทริค เพาเวอร์ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2543 และได้ผลสรุปในปี 2547 ว่า ถ้าเปรียบเทียบด้านการสะสมคาร์บอนไดออกไซด์ ระหว่างป่าชายเลน กับป่าบก

ดร.สนใจ 2
ดร.สนใจ หะวานนท์

กระบวนการสังเคราะห์แสง ที่ต้องใช้คาร์บอนไดออกไซด์ และปล่อยออกซิเจนออกมา พบว่า ป่าชายเลนของประเทศไทย สะสมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เหนือพื้นดินได้ 27.1 ตันต่อเฮกตาร์ (6.25 ไร่) และสะสมในดิน 16.9 ตันต่อเฮกตาร์ รวมแล้ว 44.0 ตันต่อเฮกตาร์ ประมาณการณ์ได้ว่า ป่าชายเลนของประเทศไทย ประมาณ 1.5 ล้านไร่ หรือประมาณ 0.24 ล้านเฮกแตร์ สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ประมาณ 11 ล้านตันต่อปี

สำหรับป่าดิบชื้น International Panel on Climate Change) (IPCC) ได้ให้ข้อมูลเฉพาะการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ของต้นไม้เหนือพื้นดินว่า โดยเฉลี่ย 20.2 ตันต่อเฮกตาร์

“แต่ถ้าในส่วนของการสะสมคาร์บอนที่อยู่ในดินแล้ว ป่าชายเลนจะมีมากกว่าป่าบกถึง 6 เท่าตัว เนื่องจากป่าบกสะสมคาร์บอนในดิน ได้เพียงประมาณ 200 ตันเท่านั้น ขณะที่การศึกษาที่อ่าวท่าคา-สวี จังหวัดชุมพร ในปี 2542 พบว่า ป่าชายเลน สามารถสะสมคาร์บอนที่บริเวณดินเลน ลึกลงไปได้อีกถึง 1,200 ตันต่อเฮกตาร์ เนื่องจากในชั้นดินเลน มีการสะสมธาตุคาร์บอนต่าง ๆ จากการทับถมของอินทรียวัตถุทั้งหลายได้เป็นเวลานาน และถ้าเป็นป่าชายเลน ที่ปลูกเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ สูงประมาณ 30 เมตร จะเก็บปริมาณคาร์บอนเพิ่มขึ้นได้อีก 200 ตันต่อเฮกตาร์ นี่คือเหตุผลว่า ป่าชายเลนสามารถ กักเก็บคาร์บอนได้มหาศาล”

ป่าชายเลน เป็นแหล่งรวมความหลากหลายของพรรณไม้ ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ เพื่อไปสังเคราะห์แสงได้มากกว่าป่าบก ในหน่วยพื้นที่เท่ากัน

จากการวิจัยที่ปากแม่น้ำท่าจีน พบว่า ไม้แต่ละสายพันธุ์ จะมีคุณสมบัติดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ต่างกัน

ปลูกป่าชายเลน

การเลือกพันธุ์ไม้ที่จะใช้ ปลูกป่าชายเลน ในพื้นที่ 1 ไร่

  • ไม้แสม สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ปีละ 7.49 ตัน
  • ไม้โกงกางดูดซับคาร์บอนได้ปีละ 6.22 ตัน
  • ไม้ตะบูนสามารถดูดซับคาร์บอนฯ ได้ 4.14 ตันต่อปี

ทั้งนี้ ไม้โกงกาง และตะบูนมีอายุยืนกว่า 100 ปี ไม้แสมอายุประมาณ 50 ปี

แต่เดิม พื้นที่ป่าชายเลนของประเทศไทยกินบริเวณทั้งชายฝั่งทะเลอันดามัน และชายฝั่งทะเลอ่าวไทย เป็นพื้นที่กว้าง แต่หลายปีที่ผ่านมา ป่าชายเลนถูกทำลายจากการทำนากุ้ง และการบุกรุก จึงทำให้พื้นที่ป่าชายเลนของไทยลดน้อยลงไปมาก

ปัจจุบัน กระทวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มีนโยบายในการส่งเสริมการปลูก และอนุรักษ์ป่าชายเลนในหลายพื้นที่ โดยได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม รวมทั้งประชาชนในท้องถิ่นหลายแห่ง ทำให้ป่าชายเลนของไทยค่อยๆ ฟื้นคืนมา แต่ก็ยังต้องการความร่วมมืออีกมากจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการดูแลต่อเนื่อง เพราะถ้า ปลูกป่าชายเลน ในสภาวะไม่เหมาะสมและไม่มีการดูแล ไม่นานต้นไม้ที่ปลูกใหม่ก็จะตาย

ตัวอย่างโครงการล่าสุด ที่กรมทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง ได้หารือร่วมกับเอกชน คือ โครงการ Dow and Thailand Mangrove Alliance ซึ่งเป็นการสร้างเครือข่ายชายฝั่ง ในการอนุรักษ์ป่าชายเลน ร่วมกับกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย และ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) เพื่อสนับสนุน การอนุรักษ์ป่าชายเลนอย่างครบวงจร และมีส่วนร่วม

โดยจะมีการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ห้องเรียนมีชีวิตในป่าชายเลน และเผยแพร่ความรู้ ด้านการคัดแยกขยะ เพื่อลดขยะทะเล โดยเริ่มต้นโครงการที่ปากน้ำประแส จังหวัดระยอง และมีแผนจะขยายไปในอีกหลายจังหวัด

ปลูกป่าชายเลน

สิ่งที่แตกต่างจากโครงการอื่นๆ ก็คือ จะมีการส่งเสริมกลไกคาร์บอนเครดิตของป่าชายเลนเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และจะเปิดให้ให้ชุมชน และประชาชนได้มีส่วนร่วมด้วยภายในปีนี้

สำหรับประชาชนทั่วไป หากต้องการช่วยกันลดโลกร้อน ขอให้ช่วยกันปลูกต้นไม้ให้ได้มากที่สุด และอย่าลืมเรื่องของการดูแลรักษา ทำอย่างไรให้ต้นไม้ ได้รับน้ำอย่างต่อเนื่องในช่วงแรก เพราะเมื่อต้นไม้ที่ปลูกใหม่แห้งตายหมด ก่อนที่จะแข็งแรงก็จะไม่สามารถช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ และขอให้ร่วมกันสนับสนุนโครงการปลูก และอนุรักษ์ป่าชายเลนให้มากๆ เพราะเป็นป่าที่ช่วยลดโลกร้อนได้ดีที่สุด

สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลความรู้ และ ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับป่าชายเลนในประเทศไทย สามารถติดตามได้จากเว็บไซต์ของ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo