Lifestyle

10 วิธีกินแบบพอเพียง ช่วงโควิด 19 สร้างร่างกายแข็งแรง ไร้พุง

10 วิธีกินแบบพอเพียง กรมอนามัยแนะ ช่วงโควิด 19 กินให้ได้คุณค่าทางโภชนาการ ร่างกายแข็งแรง หมั่นออกกำลังกาย ลดน้ำหนักเกิน ห่างไกลโรคอ้วนลงพุง

แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดี กรมอนามัย กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ประชาชนให้ความร่วมมือ ในการป้องกันการแพร่ระบาดด้วยการอยู่บ้าน กรมอนามัย จึงขอแนะนำ 10 วิธีกินแบบพอเพียง ด้วยการนำหลักพอเพียงมาใช้ในการกินอาหารแต่ละมื้อ เพื่อให้ได้สารอาหารและพลังงานที่เพียงพอ กับความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน

10 วิธีกินแบบพอเพียง

การสร้างพฤติกรรมการกินอย่างง่าย ภายใต้หลัก 10 วิธีกินแบบพอเพียง มีดังนี้

  • กินพออิ่มในแต่ละมื้อ โดยตักอาหารในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่มากจนเกินไป
  • ดัดแปลงอาหารที่เหลือ เป็นอาหารจานใหม่ เช่น ผัดคะน้า นำมาต้มจับฉ่ายผสมกับผักอื่น ๆ น้ำแกงส้มที่เหลือ สามารถเติมถั่วฝักยาว มะละกอ แครอท ผักบุ้ง ส่วนผลไม้ที่เหลือหลายชนิด นำมาทำเป็นสลัดผลไม้
  • เรียนรู้วิธีการเก็บรักษาอาหาร แต่ละประเภท เพื่อยืดอายุการใช้งาน ของวัตถุดิบต่าง ๆ และยังคงคุณค่าทางโภชนาการ โดยไม่เน่าเสียไปก่อน ที่จะนำมาปรุงประกอบอาหาร
  • หุงข้าวผสมข้าวโพด ถั่ว เผือก มัน เพื่อเพิ่มวิตามิน และยังได้สารอาหารอื่น ๆ เพิ่มด้วย
  • เลือกวัตถุดิบคุณภาพดี ราคาถูก ในการทำเมนูอาหาร เช่น อาหารประเภทเนื้อสัตว์ อาจใช้ ไข่ เต้าหู้ และถั่วเมล็ดแห้ง สลับเปลี่ยนหมุนเวียน กับเนื้อหมู ไก่ เลือกผักพื้นบ้าน ผลไม้ตามฤดูกาลที่หาได้ง่าย และราคาไม่แพง

ผลไม้

  • ลดการกินจุบกินจิบ กินอาหารให้เป็นเวลา ซึ่งอาหารหลัก 3 มื้อก็เพียงพอแล้ว หรือ อาหารว่างเลือกเป็นผลไม้ ถั่ว นม
  • งดการกินอาหารมื้อดึก เพราะถ้ากินอาหารมื้อดึกเข้าไป แล้วในช่วงเวลานั้น ไม่มีการออกกำลังกาย หรือเคลื่อนไหวร่างกายใด ๆ มีแต่การนอน ทำให้ร่างกายเผาผลาญอาหาร ที่กินไปน้อยมาก และจะสะสมเป็นไขมันแทน ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้
  • เคี้ยวอาหารช้า ๆ อย่ารีบร้อน จะทำให้รู้สึกอิ่มเร็วกว่า เพราะร่างกายคนเรา จะเริ่มรู้สึกอิ่ม เมื่อกินอาหารไปประมาณ 20 นาที
  • ไม่กินทิ้งขว้าง มีวินัยในการซื้อ และการกินที่ดี เพราะปัจจุบันอาหารเกือบทุกชนิด มีราคาสูง ต้องคำนวณให้ดี ในการซื้อแต่ละครั้ง เพราะหากซื้อมากเกินไป แล้วกินอาหารไม่หมด ก็ทำให้เสียเงินโดยเปล่าประโยชน์
  • เน้นกินเมนูที่หลากหลาย เช่น ข้าวราดแกง ก๋วยเตี๋ยว ขนมจีน และที่สำคัญ ควรหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 30 นาที เพื่อช่วยเผาผลาญพลังงาน ที่ได้รับในแต่ละวันด้วย

แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวว่า การอยู่บ้าน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด อาจทำให้กินอาหารในปริมาณมากเกินไป ไม่ถูกหลักโภชนาการ และไม่มีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสม ส่งผลให้เกิดภาวะน้ำหนักเกิน และ โรคอ้วนลงพุงตามมาได้

“กรมอนามัยจึงขอแนะนำการสร้างสุขภาพดีให้กับตนเอง หลังมีมาตรการผ่อนคลายต่าง ๆ ด้วยการนำหลักพอเพียงมาใช้ในการกินอาหารแต่ละมื้อ เพื่อให้ได้สารอาหาร และ พลังงานที่เพียงพอ กับความต้องการของร่างกาย ในแต่ละวัน โดยหากรู้สึกอิ่ม ให้ลด หรืองดการกิน เพราะความอยาก หรือ ลดกินอาหารหวาน มัน เค็มมากเกินไป” แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าว

ทั้งนี้จากการประมาณการของ บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า มูลค่าการบริโภค อาหารและเครื่องดื่ม เพื่อสุขภาพในปี 2563 ขยายตัวเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท จากปี 2562 ที่มูลค่าประมาณ 88,731 ล้านบาท หรือมีอัตราการขยายตัว 2.4% เมื่อเทียบจากปี 2561 ที่มีมูลค่าประมาณ 86,648 ล้านบาท โดยปี 2563 กลุ่มชาติอาเซียนจะเน้นไปในเรื่องสุขภาพ และโปรตีนทดแทนเป็นหลัก

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo