Economics

‘บีทีเอส’ ตั้งเป้ารถไฟฟ้ากระชากไม่เกิน 3 ครั้งต่อเดือน!!

bts3

คมนาคมอัพเดท “แผนเผชิญเหตุรถไฟฟ้า” เพิ่มปัญหาใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ด้าน “บีทีเอส” ตั้งเป้ารถไฟฟ้ากระชากไม่เกิน 3 ครั้งต่อเดือน

นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการประสานงานและบริหารจัดการแก้ไขปัญหา กรณีเกิดเหตุขัดข้องของระบบรถไฟฟ้าขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ และปริมณฑลว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการประสานฯ ชุดนี้ขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2561 เพื่อกำกับและติดตามการแก้ไขปัญหาระบบรถไฟฟ้าขัดข้อง หลังจากรถไฟฟ้าบีทีเอสเกิดปัญหาหลายครั้งในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

โดยคณะกรรมการชุดนี้อยู่ภายใต้ “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อเผชิญเหตุตามแผนบริหารความเสี่ยง และแผนเผชิญเหตุของระบบการขนส่งสาธารณะ ทางรางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล” ระหว่าง 12 หน่วยงาน ที่ลงนามไว้ตั้งแต่ปี 2559

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาปรับปรุง “คู่มือแผนบริหารความเสี่ยงและเผชิญเหตุในระบบขนส่งสาธารณะทางรางในกรุงเทพฯ และปริมณฑล” ให้มีความทันสมัย ครอบคลุม และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น เช่น เพิ่มปัญหาจากระบบอาณัติสัญญาณ, เหตุวินาศกรรม หรือไฟฟ้าดับจนไม่สามารถให้บริการได้ ซึ่งเหตุการณ์ประเภทนี้มีโอกาสเกิดน้อยมาก แต่ก็ได้เพิ่มเข้าไปในแผน เพื่อจัดมาตรการรองรับให้ครอบคลุม

โดยคู่มือฉบับใหม่เพิ่มระดับความรุนแรงของเหตุการณ์ จากปัจจุบันมีอยู่ 3 ระดับ ต่อไปจะเพิ่มเป็น 5 ระดับ ได้แก่

ระดับสีเหลือง หรือระดับที่ยอมรับได้ คือ เกิดความล่าช้าไม่เกิน 5 นาที
ระดับสีเขียว หรือระดับต่ำ คือ เกิดความล่าช้า 5-15 นาที ในช่วงเวลาปกติ
ระดับฟ้า หรือระดับปานกลาง คือ เกิดความล่าช้า 5-15 นาที ในช่วงเวลาเร่งด่วน (Peak)
ระดับสีส้ม หรือระดับรุนแรง คือ ต้องใช้เวลาแก้ไขมากกว่า 15 นาทีขึ้นไป ในช่วงเวลาปกติหรือช่วงพีค
ระดับสีแดง หรือระดับรุนแรงสูงสุด คือ ต้องหยุดให้บริการ

ภายในคู่มือจะมีแนวทางรับมือกับปัญหาระดับต่างๆ และแนวทางดำเนินการของแต่ละหน่วยงาน เช่น องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ต้องเตรียมวิ่งรถโดยสารประจำทาง (รถเมล์) รองรับประชาชนที่ตกค้างจากรถไฟฟ้า, กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ต้องตรวจตราขนส่งมวลชนระบบอื่น เพื่อป้องกันไม่ให้มีการเอาเปรียบผู้โดยสาร และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ต้องช่วยตรวจสอบคลื่นที่ระบบกวนระบบอาณัติสัญญาณ เป็นต้น

นอกจากนี้จะแต่งตั้งผู้บัญชาการเหตุการณ์ขึ้นมา 1 คน ทำหน้าที่ประสานงานและกระตุ้นหน่วยงานต่างๆ ในขณะเหตุ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างราบรื่น โดยผู้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการเหตุการณ์ อาจเป็นประธานหรือรองประธานของคณะกรรมการชุดนี้ ส่วนเรื่องการชดเชยผู้โดยสารเมื่อเกิดปัญหา เป็นเรื่องระหว่างคู่สัญญาของรถไฟฟ้าแต่ละสายและอยู่นอกเหนือความรับผิดชอบของคณะกรรมการฯ

นายสราวุธ กล่าวว่า คณะกรรมการฯ จะนัดประชุมเพื่อทบทวนคู่มือครั้งต่อไปในเดือนหน้า โดยเมื่อสรุปคู่มือแล้ว จะเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาในเดือนพฤศจิกายน หลังจากนั้นให้ทุกฝ่ายนำไปปฏิบัติต่อไป

สำหรับกรณีที่รถไฟฟ้าบีทีเอส เกิดปัญหาเรื่องระบบอาณัติสัญญาณตั้งแต่เดือนมิถุนายนนั้น นายสราวุธกล่าวว่า บีทีเอสอยู่ระหว่างติดตั้งระบบซอร์ฟแวร์ ย้ายคลื่นความถี่ และปรับปรุงตัวกรองสัญญาณประมาณ 200 จุด โดยจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในเดือนตุลาคมนี้

“ตุลาคมนี้ การแก้ไขปัญหาของรถไฟฟ้าบีทีเอสถือว่าจบ แล้วก็คาดว่าจะมีการตั้งตัวชี้วัดระหว่าง กทม. และบีทีเอส เช่น ใน 1 เดือนจะเกิดความล่าช้าไม่เกินกี่ครั้ง เกิดการกระตุกหรือการกระชากใน 1 เดือนไม่เกินกี่ครั้ง โดยช่วงที่มีปัญหามากๆ ในเดือนมิถุนายน เกิดการกระตุก 200-300 ครั้ง/วัน ปัจจุบันเหลือ 10 ครั้ง/วัน แต่ถ้าเดือนตุลาคมทุกอย่างเรียบร้อยหมด บีทีเอสก็ท้าทายตัวเองว่าจะเกิดการกระตุกน้อยที่สุด ไม่เกิน 2-3 ครั้ง/เดือน” นายสราวุธกล่าว

Avatar photo