Business

‘สรท.’ ปรับคาดการณ์ส่งออกเป็นติดลบ 10% ส่งหนังสือจี้ ‘นายกฯ’ แก้บาทแข็ง

‘สรท.’ ปรับตัวเลขส่งออกของไทยติดลบหนัก คาดทั้งปี 63 หดตัว 10% พร้อมส่งหนังสือจี้ “นายกฯ” แก้เงินบาทแข็งค่า กระทบความสามารถในการแข่งขัน  

น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สภาผู้ส่งออกฯ ได้ปรับคาดการณ์ตัวเลขการส่งออกของไทยในปี 2563 เป็นหดตัว -10% จากเดิมคาดการณ์ไว้ว่าจะหดตัว -8% บนสมมุติฐานว่าค่าเงินบาทอยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์

ส่งออกติดลบ

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกหดตัว คือ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก หลายประเทศต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ แม้ปัจจุบันจะมีการผ่อนคลายล็อกดาวน์บ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติ หลายกิจการยังกลับมาดำเนินการไม่สะดวก รวมทั้งมีความกังวลว่า จะเกิดการแพร่ระบาดรอบที่ 2

นอกจากนี้ ยังมีปัจจับลบอื่นๆ เช่น การหดตัวของอุปสงค์จากคู่ค้าต่างประเทศและอุปทานการผลิตภายในประเทศยังไม่ฟื้นตัว โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มสินค้ายานยนต์

ปัญหาการขนส่งสากล (International logistics) ที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่งสินค้า เช่น อัตราค่าระวางปรับขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะเส้นทางอเมริกา, การจัดการโลจิสติกส์ในประเทศปลายทางมีอุปสรรคจากมาตรการล็อกดาวน์, ความเสี่ยงการได้รับชำระเงินค่าสินค้าระหว่างประเทศ (default risk), ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง, ราคาน้ำมันในตลาดโลกต่ำกว่าปี 2562 และปัญหาภัยแล้งภายในประเทศ

ด้านปัจจัยบวกที่สำคัญมีเพียงปัจจัยเดียว คือ การส่งออกสินค้าในกลุ่มเกษตรแปรรูปและอาหาร และสินค้ากลุ่มเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง เช่น ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป และอาหารกระป๋อง แปรรูป

สำหรับภาพรวมการส่งออก 5 เดือนแรกของประเทศไทยในปี 2563 ระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2563 มีมูลค่ารวม 97,898 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 3.71% เฉพาะเดือนพฤษภาคม 2563 มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 16,278 ล้านดอลลาร์ หรือติดลบ 22.50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้านการนำเข้ามีมูลค่า 13,583 ล้านดอลลาร์ หรือติดลบ 34.41%

เงิน

น.ส.กัณญภัค กล่าวต่วอ่า จากปัญหาเงินบาทแข็งค่า ในวันนี้ (7 ก.ค.63) สรท.จะทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้เข้ามาดูแลและแก้ไขปัญหาเรื่องเงินบาทแข็งค่าเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง

โดยเสนอว่า อัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ จากปัจจุบันอยู่ที่ 31.12 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วกว่าประเทศเพื่อนบ้าน จนส่งผลให้ความสามารถในการแข็งขันของไทยลดลง

ในปี 2558 ค่าเงินบาทอยู่ที่ 34 บาทต่อดอลลาร์, ปี 2559 อยู่ที่ 35 บาทต่อดอลลาร์, ปี 2560 อยู่ที่ 34 บาทต่อดอลลาร์ และปี 2561 อยู่ที่ 33 บาทต่อดอลลาร์

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo