Business

เปิดเคล็ดลับใช้ ‘เทคโนโลยีสร้างโอกาส’ หลังวิกฤติโควิด-19

เทคโนโลยีสร้างโอกาส หลังวิกฤติโควิด-19 บลูบิค แนะองค์กรเพิ่มความยืดหยุ่น ในการดำเนินธุรกิจ พร้อมสร้างความแข็งแกร่ง ผ่านพันธมิตร พร้อมรับมือระบาดรอบใหม่

นายพชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด–19 ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก รวมถึงเศรษฐกิจประเทศไทย ดังนั้นการปรับตัวของภาคธุรกิจ ต้องใช้ เทคโนโลยีสร้างโอกาส หลังวิกฤติโควิด-19

เทคโนโลยีสร้างโอกาส

ทั้งนี้ จากข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund – IMF) พบว่า จีดีพี ปี 2563 ของทั้งโลกมีโอกาสติดลบ 4.9% และประเทศไทยมีโอกาสติดลบ 7.7% เนื่องจากอุปสงค์ที่ลดลงในภาคการส่งออก และการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องยนต์หลัก ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ในขณะเดียวกันยังเปิดทางให้ผู้เล่นรายใหม่ได้พลิกวิกฤติสู่โอกาส จากช่องว่างทางการตลาดที่เกิดขึ้น หากสามารถปรับตัวรับมือกับวิกฤติได้

“วิกฤติที่เกิดขึ้น พบว่ามีธุรกิจบางส่วนที่หยุดชะงัก แต่ยังมีธุรกิจอีกกลุ่มหนึ่ง ที่สามารถคว้าโอกาส และขับเคลื่อนธุรกิจต่อไปได้ โดยสรุปโอกาสทางธุรกิจออกเป็น 4 ปัจจัย ดังนี้

  • ช่องว่างทางการตลาด จากภาวะเศรษฐกิจถดถอย จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ทำให้ผู้เล่นรายใหม่ สามารถแจ้งเกิดได้ ประกอบกับอุปสงค์ใหม่ที่เกิดขึ้น เช่น พฤติกรรมผู้บริโภค ที่เปลี่ยนเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เติบโตอย่างก้าวกระโดด
  • ดิจิทัล ดิสรัปชัน เป็นปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงภาคธุรกิจในระยะยาว เมื่อผู้บริโภคเริ่มคุ้นชิน กับแพลตฟอร์มดิจิทัล ผู้ประกอบการ จึงมีโอกาสเข้าถึงผู้บริโภค ผ่านช่องทางออนไลน์ได้มากขึ้น ซึ่งไร้ข้อจำกัด ทางด้านเวลาและสถานที่
  • การขยายธุรกิจข้ามอุตสาหกรรม เป็นการขยายโอกาส เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล และเพิ่มฐานลูกค้า ระหว่างผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญแตกต่างกัน ในแต่ละอุตสาหกรรม เกิดเป็นความร่วมมือที่สนับสนุนซึ่งกันและกัน เพื่อส่งเสริมความแข็งแกร่งของธุรกิจ ได้อย่างหลากหลายมิติมากขึ้น
  • กฎหมายบังคับใช้ใหม่ ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ และความน่าเชื่อถือของภาคธุรกิจ ในการดำเนินกิจกรรม พร้อมทั้งสามารถเตรียมความพร้อม ในการนำข้อมูลผู้บริโภค ไปใช้ต่อยอดทางธุรกิจ อาทิ ภายใต้พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ซึ่งส่งผลต่อแนวทางการปฏิบัติด้านข้อมูล หากธุรกิจปรับตัวได้เร็วเท่าใด ก็จะเกิดโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจได้เร็วยิ่งขึ้น
พชร อารยะการกุล
พชร อารยะการกุล

จากปัจจัยข้างต้น การค้นหาโอกาส และทางรอด ในยุคเศรษฐกิจผันผวน คือ กุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร ที่ช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจ และภาครัฐ ให้ฟื้นตัว หลังการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 และเตรียมพร้อมรับมือ หากเกิดการระบาดระลอก 2 ฉะนั้นองค์กรต้องเตรียมความพร้อม ด้วย 4 แนวทาง ดังนี้

1. ค้นหาโอกาสใหม่ทางธุรกิจ (New S – Curve) หรือ สร้างธุรกิจใหม่ (New Venture Creation)

องค์กรควรเตรียมธุรกิจให้พร้อมในช่วงนี้ เพื่อหวังสร้างผลกำไร ยามเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติ เพราะหากธุรกิจสามารถอยู่รอด และมีกลยุทธ์ที่ดี จะกลายเป็นอีกผู้เล่นหนึ่งที่น่าจับตา เช่น ธุรกิจค้าปลีก อาจวางกลยุทธ์ปรับช่องทางการขายหน้าร้านเดิม ให้เป็น Third Place ที่เชื่อมโยงวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ หรือเพิ่มช่องทางการขาย ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์

2. นำแพลตฟอร์มดิจิทัลมาปรับใช้ (Digital Platform)

ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เป็นช่วงชะลอตัวของภาคธุรกิจ ถือเป็นโอกาสในการนำแพลตฟอร์มดิจิทัล มาปรับใช้เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มความสะดวก ในการทำงานจากที่พักอาศัย เช่น การเก็บเอกสารในรูปแบบ Soft file ซึ่งสะดวกมากกว่าการเก็บเอกสารรูปแบบเดิม การจัดประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ หรือการใช้เครื่องมือ เพื่อช่วยในการบริหารจัดการงาน ร่วมกับทีม

พชร อารยะการกุล 1

3. ลดต้นทุน (Cost) และเพิ่มความยืดหยุ่น (Flexibility)

องค์กรควรแปลงค่าใช้จ่ายจากต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) สู่ต้นทุนแปรผันตามรายได้ (Variable Cost) ทั้งด้านบุคลากร และเทคโนโลยี ที่สามารถเลือกใช้บริการได้ตามต้องการ เพื่อบริหารค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การให้บริการจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ภายนอกองค์กร หรือการเลือกใช้ระบบซอฟต์แวร์แอปพลิเคชัน ซึ่งส่วนใหญ่คิดค่าบริการ ตามลักษณะการใช้งาน และสามารถเพิ่ม – ลดขนาดให้เหมาะกับธุรกิจ ได้ตลอดเวลา

4. สร้างพันธมิตรทางธุรกิจ (Partnership)

องค์กรควรขยายโอกาสในการทำธุรกิจ และปรับกลยุทธ์ในการขยายกิจการ ทั้งแนวตั้งและแนวนอน อาทิ การควบรวมกิจการ หรือการร่วมมือกับพันธมิตรข้ามอุตสาหกรรม ส่งผลให้มีโอกาส ในการทำกำไร เพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด พร้อมทั้งลดต้นทุน ผ่านการเพิ่มขนาดการผลิต ในห่วงโซ่อุปทานเดียวกัน (Supply Chain) จนก่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale)

สำหรับแนวทางการให้บริการครึ่งปีหลัง ของ บลูบลิค จะเน้นให้ความช่วยเหลือ องค์กรธุรกิจและภาครัฐฯ ในการวางกลยุทธ์เพื่อตอบโจทย์ใน 4 เรื่องหลักข้างต้น ประกอบด้วย 1. การลดต้นทุน และเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจ 2. การทรานส์ฟอร์มธุรกิจ และการหาโอกาสใหม่ทางธุรกิจ 3. การสร้างธุรกิจใหม่ และ 4. การส่งเสริมการปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนด เช่น การบริหารจัดการข้อมูลลูกค้าให้เป็นไปตามพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA)

ด้านนายปกรณ์ เจียมสกุลทิพย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในเวลาวิกฤติเช่นนี้ ทุกคนต้องเร่งปรับตัว โดยจะเห็นเทรนด์เทคโนโลยีเด่น ๆ บางอย่างที่จะตอบโจทย์ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) อาทิ การสร้างโอกาสจากข้อมูลที่อยู่บนช่องทางออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเปิดโอกาสให้กลุ่มธุรกิจได้ใช้ประโยชน์จาก Big Data เพื่อรองรับการเก็บข้อมูลจำนวนมหาศาล และนำมาต่อยอดทางธุรกิจได้

นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีไร้การสัมผัส (Contactless Technology) ซึ่งรวมไปถึงระบบการรับชำระเงิน (Cashless Payment Solution) ที่จะถูกนำมาใช้กับผู้ให้บริการด้านต่าง ๆ อาทิ ร้านค้าปลีก ระบบขนส่งมวลชน ระบบการจอดรถ ฯลฯ

เทคโนโลยีดังกล่าว นอกจากจะสามารถนำองค์กร ไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกต่อธุรกิจ และสร้างประสบการณ์ที่ดี ให้กับลูกค้าแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคอีกด้วย

ขณะที่ ทักษะด้านดิจิทัล ถือเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้บุคลากรทันต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อองค์กรนำดิจิทัลเทคโนโลยี เข้ามาปรับใช้ในกระบวนการทำงาน และอีกหนึ่งทักษะที่สำคัญที่สุด ของการปรับตัวด้านดิจิทัลก็คือ ความคิดสร้างสรรค์เชิงนวัตกรรม (Innovative thinking) ที่สามารถนำเสนอรูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ ที่ช่วยสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจของตนอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม มีความท้าทายในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขององค์กร 2 ประเภท คือ องค์กรที่ยังไม่พร้อม ในการปรับใช้เทคโนโลยี ควรมองหาผู้ช่วยหรือที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ในการวางแผน เพื่อนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ ในทางกลับกัน องค์กรที่มีความพร้อม อาจมองหาเครื่องมือที่เข้ามาช่วยทำให้ระบบการทำงานภายใน เป็นอัตโนมัติมากขึ้น

นางฉันทชา สุวรรณจิตร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ กล่าวเสริมว่า นอกเหนือจากการให้บริการที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ และที่ปรึกษาด้านไอทีแล้ว ในปีนี้บริษัท ยังมุ่งเน้นช่วยลูกค้าในการปรับตัว เพื่อรองรับความปกติใหม่ (New Normal) เพื่อให้กระบวนการทางธุรกิจของลูกค้า มีความเชื่อมโยงและสมดุลมากขึ้นทั้งในส่วนของกระบวนการหน้าบ้าน และกระบวนการหลังบ้าน จากการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

การปรับกระบวนการทางธุรกิจนั้น จะช่วยให้องค์กรของลูกค้า ไปสู่ความเป็นเลิศในการดำเนินงาน ‘Operational Excellence’ ภายใต้ 3 วัตถุประสงค์หลัก ได้แก่ กระบวนการการทำงานที่มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล สูงสุด รวมทั้งสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงทีอีกด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo