Economics

‘ลิงเก็บมะพร้าว’ เรื่องทางวัฒนธรรม ‘จุรินทร์’ เล็งพาทูตอียูดูถึงที่

“ลิงเก็บมะพร้าว” เรื่องทางวัฒนธรรม ‘จุรินทร์’ เล็งพาทูตอียูดูถึงที่ นัดหารือเอกชน 8 ก.ค.นี้ ร่วมกันทำแผนชี้แจง และทำความเข้าใจ กรณีการใช้ลิงเก็บมะพร้าว ย้ำเป็นเรื่องทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต และการท่องเที่ยว

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีองค์กรประชาชนเพื่อการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีจริยธรรม (พีตา) เรียกร้องต่อต้านผลิตภัณฑ์มะพร้าวจากไทย เนื่องจากการใช้แรงงานลิงว่า ประเด็นปัญหาที่เป็นข่าวอยู่ขณะนี้ มีความเข้าใจ ที่คลาดเคลื่อนเกิดขึ้นว่า ประเทศไทยมีการใช้แรงงานลิงในการเก็บมะพร้าว

cover ลิงเก็บมะพร้าว 0

เรื่องนี้ได้เคยปรากฏเป็นประเด็นขึ้นมาแล้วก่อนหน้านี้ สุดท้ายก็ชี้แจงทำความเข้าใจ และช่วงนี้ก็เกิดประเด็นนี้ขึ้นมาอีก ซึ่งที่ผ่านมา ได้เคยหารือกับผู้ประกอบการแปรรูปกะทิ และผลผลิตอาหารสำเร็จรูปมาแล้ว ได้รับการชี้แจงในประเด็นนี้มาแล้วครั้งหนึ่งว่า สำหรับในเรื่องของการใช้ลิงเก็บมะพร้าวนั้น ส่วนใหญ่ประเด็นในเรื่องทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต และการท่องเที่ยวมากกว่า แต่ในเรื่องของการใช้ลิงเก็บมะพร้าว เพื่อการผลิตภาคอุตสาหกรรมเกือบจะเรียกได้ว่าไม่มีปรากฏแล้ว

“ภาพของการใช้ลิงเก็บมะพร้าวที่ใช้ทางการท่องเที่ยว อาจจะยังปรากฏในคลิปอยู่ และทำให้เกิดความเข้าใจผิด และความเข้าใจคาดเคลื่อน ซึ่งในวันที่ 8 กรกฎาคมนี้ ผมได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เชิญผู้ผลิตกะทิ และผู้แปรรูปผลผลิตจากมะพร้าว มาหารือกัน หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อจะได้หาแนวทางร่วมกัน ในการที่จะชี้แจงทำความเข้าใจกับประเทศผู้นำเข้า ที่ยังสงสัยอยู่ รวมทั้งในองค์การพิทักษ์สัตว์ที่ต้องการข้อมูล ซึ่งทั้งหมดนี้จะได้ข้อสรุปอีกครั้งหนึ่งว่าจะประชาสัมพันธ์แจ้งทำความเข้าใจในรูปแบบไหน อย่างไร”

นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะเชิญทูตที่ประจำอยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะในประเทศที่ยังมีข้อสงสัยไปดูการผลิต และการเก็บมะพร้าวภาคอุตสาหกรรมของจริง จะได้เห็นภาพว่าเป็นอย่างไร จะได้ไม่เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อไป เพื่อต้องการที่จะคงตัวเลขการส่งออกผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวของไทย ในตลาดต่างๆ ในโลกเอาไว้

นายจุรินทร์กล่าวว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว มีผลิตภัณฑ์ที่สำคัญ 2 ชนิด คือ กะทิ และ มะพร้าวอ่อน แต่ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ คือ เรื่องของกะทิ ซึ่งกะทิ มียอดการส่งออกเมื่อปีที่แล้วตกประมาณ 12,300 ล้านบาท ส่งออกไปยังสหภาพยุโรป (อียู) 18% มูลค่า 2,250 ล้านบาท ซึ่ง 8% ที่ส่งออกไปยังอียูนี้ มาจากสหราชอาณาจักร ตลาดที่กำลังมีปัญหานี้อยู่ราว 8% มูลค่า 1,000 ล้านบาท

สินค้าที่ส่งออกไปยังสหราชอาณาจักร จะวางจำหน่ายอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร และโรงแรมของชาวเอเชียประมาณ 70% ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบ เพราะในโซนเอเชียเข้าใจว่าเป็นอย่างไร แต่ที่มีผลกระทบ คือ 30% ที่มีเจ้าของเป็นอียู หรือยุโรป ซึ่งต้องทำความเข้าใจต่อไป

ลิงเก็บมะพร้าว

พีตากล่าวหาทารุณสัตว์ ใช้ “ลิงเก็บมะพร้าว”

การเคลื่อนไหวข้างต้นมีขึ้น หลังกลุ่มประชาชนเพื่อการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีจริยธรรม (People for the Ethical Treatment of Animals) หรือพีตา ซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อพิทักษ์สิทธิสัตว์ ออกแถลงการณ์ กล่าวหาว่า ผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวของไทย ได้มาจากการจับลิงมาจากป่า และนำมาฝึกเพื่อให้ปืนเก็บลูกมะพร้าววันละ 1,000 ลูก

พีตา บอกด้วยว่า ลิงเก็บมะพร้าวในไทย ได้รับการปฏิบัติเหมือนกับเป็น “เครื่องจักรเก็บมะพร้าว”

แถลงการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าจำนวนหนึ่งในอังกฤษ อย่าง เวทโรส โอคาโด โค-ออป และบูทส์ ออกมาให้คำมั่นถึงการยุติการขายสินค้าจำนวนหนึ่ง  ขณะที่ มอร์ริสันส์ ซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ของอังกฤษ ระบุว่า ทางร้านได้ดำเนินการเก็บสินค้าที่ได้มาจากการใช้ลิงเก็บลูกมะพร้าว ออกจากชั้นวางจำหน่ายแล้ว

ทางด้านนางสาวแครี ไซมอนส์ นักอนุรักษ์นิยม คู่หมั้นของนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ทวีตข้อความ เรียกร้องให้ซูเปอร์มาร์เก็ตทุกแห่งคว่ำบาตรสินค้า ที่มาจากการใช้แรงงานลิง

นางสาวไซมอนส์ ยังเรียกร้องให้เทสโก้ เชนซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ ของอังกฤษ ให้คำมั่น ถึงการยุติการขายสินค้า ทำนองเดียวกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ด้วย

พีตา ระบุว่า มีสวน 8 แห่งในไทย ที่บังคับให้ลิงเก็บมะพร้าว เพื่อส่งออกไปทั่วโลก โดยลิงตัวผู้จะสามารถเก็บลูกมะพร้าวได้ถึง 1,000 ลูกต่อวัน โดยประเมินว่า คนเก็บได้วันละ 80 ลูกเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังอ้างถึงการเจอ “โรงเรียนลิง” ที่ใช้ฝึก ลิงเก็บมะพร้าว รวมถึง ขี่จักรยาน และเล่นบาสเก็ตบอล เพื่อนำไปแสดงให้ความบันเทิงกับนักท่องเที่ยว

“สัตว์ที่อยู่ในสถานที่เหล่านี้ ส่วนใหญ่แล้วถูกจับมาอย่างผิดกฎหมาย ตั้งแต่ยังเป็นลูกสัตว์อยู่ แสดงพฤติกรรมที่บ่งชี้ให้เห็นว่ามีความเครียดในระดับสูงมาก”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo