Economics

‘อุตตม’ สั่งสรรพสามิตจัดหนักมาตรการภาษีอุ้มแรงงาน-ภาคธุรกิจ

เผย “อุตตม” สั่งสรรพสามิตคลอดมาตรการทางภาษีชุดใหญ่ อุ้มแรงงาน – ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด

นาย ธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (covid-19) หรือ โควิด ส่งผลกระทบอย่างแพร่หลายเป็นวงกว้าง รวมทั้งมีจำนวนผู้ติดเชื้อ และ เสียชีวิตทั่วโลก เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลกระทบรุนแรง ต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย และทั่วโลกทั้งทางตรงและทางอ้อม กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก

สถานประกอบการ จำเป็นต้องปิดกิจการชั่วคราว และถาวร กระทบต่อการบริโภคภายในประเทศ การจ้างงาน ภาคการเกษตร และภาคการส่งออก ซึ่งผู้ประกอบอุตสาหกรรม ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจเช่นเดียวกัน

อุตตม

ทั้งนี้ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สั่งการให้กรมสรรพสามิต เยียวยาฟื้นฟู และอำนวยความสะดวกภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

นายธนกร กล่าวอีกว่า กรมสรรพสามิต ได้ดำเนินมาตราการที่เป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจในบางสินค้าเรียบร้อยแล้ว ดังนี้

1. รถยนต์ (ประเภทรถยนต์นั่งสามล้อ แบบพลังงานไฟฟ้า) เพิ่มพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์นั่งสามล้อ แบบพลังงานไฟฟ้า เพื่อเป็นการส่งเสริมการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์นั่งสามล้อที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และการจ้างงาน และส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด โดยกำหนดให้เสียภาษีตามมูลค่า 2% (จากเดิม 4%)

2. เครื่องดื่มน้ำผลไม้ และน้ำพืชผัก ที่มีการเติมสารอาหารและสารอื่น แก้ไขอัตราส่วนผสมของน้ำผลไม้ และน้ำพืชผักที่มีการเติมสารอาหารหรือสารอื่นจาก 20% เป็น 10% เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องดื่ม โดยคำนึงถึงนวัตกรรมในปัจจุบัน และผู้บริโภค มีทางเลือกในการบริโภคสินค้าเครื่องดื่ม ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ

3. สนับสนุนให้สถานบริการ คงปริมาณการจ้างงาน เพื่อช่วยเหลือลูกจ้างไม่ให้ตกงาน สถานบริการที่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีปริมาณการจ้างงาน เท่ากับก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของ ไวรัสโคโรนา จะได้รับสิทธิเสียภาษีอัตราตามมูลค่า 0% ของรายรับของบริการจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในภาคท่องเที่ยวและบริการรวมทั้ง เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนจากสถานการณ์ดังกล่าว

4. ขยายเวลาการบังคับใช้อัตราภาษีปัจจุบัน ของบุหรี่ซิกาแรตและยาเส้นออกไปถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 และเลื่อนการบังคับใช้อัตราภาษีใหม่ของบุหรี่ซิกาแรตและยาเส้นออกไป โดยให้เริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป

ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมยาสูบและยาเส้น และเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบและยาเส้น ได้รับการเยียวยาจากปัญหาการขาดสภาพคล่องที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว

5. ขยายเวลาในการส่งสินค้าที่ได้รับการยกเว้นภาษีออกนอกราชอาณาจักรหรือนำเข้าไปในเขตปลอดอากรจากเดิมภายใน 15 วันและขยายได้อีก 15 วันรวมทั้งหมดไม่เกิน 30 วัน เปลี่ยนเป็นภายใน 30 วันและขยายได้อีก 30 วัน

รวมถึงขยายได้หากมีความจำเป็นอีก 60 วันรวมทั้งหมดไม่เกิน 120 วัน และขยายเวลาในการส่งเอกสารหลักฐานจากเดิมภายใน 60 วันและขยายได้อีก 60 วันรวมทั้งหมดไม่เกิน 120 วันเปลี่ยนเป็นภายใน 90 วัน และขยายได้หากมีความจำเป็นอีก 60 วันรวมทั้งหมดไม่เกิน 150 วัน

นายธนกร กล่าวก่อนหน้านี้ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รัฐบาล สามารถควบคุมสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี แต่ไวรัส โควิด-19 ส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจอย่างหนัก ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก รัฐบาลดำเนินการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในทุกๆ ด้าน

ที่ผ่านมา กระทรวงการคลัง ออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงินเยียวยา 5000 บาท ผ่านโครงการเราไม่ทิ้งกัน ทั้งกลุ่มอาชีพอิสระจำนวนกว่า 15 ล้านคน และเกษตรกรเกือบ 10 ล้านคนเป็นเวลา 3 เดือน นอกจากนั้น ธนาคารของรัฐก็ได้ออกมาตรการสินเชื่อช่วยเหลือทั้งประชาชนทั่วไป ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์ทางการเมืองจะเข้มข้นขึ้น แต่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไม่ได้ให้ความสนใจประเด็นทางการเมืองแม้แต่น้อย ยังคงเดินหน้าช่วยเหลือพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วน

โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้กับพี่น้องประชาชน รวมถึงการเดินหน้าเยียวยาและฟื้นฟูประเทศ เพราะที่ผ่านมาประเทศเราเคยประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจปี2540 มาแล้ว วันนี้ทั่วโลกประสบปัญหาโควิด-19 เหมือนกันหมด ดังนั้น รัฐบาลจะต้องเตรียมรับมือให้ดี

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo