Finance

ตะลึง!! ตระกูลดังถือหุ้นถูกแขวนป้าย ‘C’ เพียบ

 

ฟ้าผ่า1

ตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประกาศขึ้นเครื่องหมาย  C  กับ 24 บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหุ้นไทย เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าบริษัทเหล่านั้น มีความเสี่ยงในด้านฐานะการเงิน โดยมีส่วนทุนต่ำกว่า 50%ของทุนชำระแล้ว และภายหลังจากถูกแขวนเครื่องหมายดังกล่าวแล้ว บริษัทจะต้องเร่งดำเนินการชี้แจงและแผนการแก้ไขปัญหาภายใน 15 วันทำการ

จากการสำรวจข้อมูลพบว่า ทั้ง 24 บจ.ได้แจ้งกำหนดวัน เวลาและสถานที่ที่จะเปิดชี้แจงแผนของแต่ละบริษัท รวมถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหา โดยส่วนใหญ่จะดำเนินการสิ้นเดือนสิงหาคม 2561 อย่างไรก็ตาม มีบางบริษัทได้เริ่มทยอยชี้แจงแนวทางแก้ไขปัญหามาบ้างแล้ว และเลือกที่เพิ่มประสิทธิภาพการสร้างรายได้เพิ่ม ลดต้นทุน และหาพันธมิตรสนับสนุนธุรกิจมากกว่าการเพิ่มทุน อย่างไรก็ตามแนวทางแก้ไขด้วยวิธีนี้อาจต้องใช้เวลา และมีความเสี่ยงที่จะทำให้ส่วนผู้ถือหุ้นลดลงต่ำกว่าเดิมอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาลงลึกไปถึงโครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัทที่ถูกขึ้นเครื่องหมาย C พบว่ามีกลุ่มตระกลูดังถือครองหุ้นคึกคัก และมีบางบริษัทที่มีสัดส่วนการถือหุ้นติดอันดับ 1 ใน 5 ของผู้ถือหุ้นใหญ่ ขณะเดียวกันบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ก็มีสัดส่วนการถือครองหุ้นอันดับต้นๆเช่นกัน

จากการตรวจสอบข้อมูล พบว่า กลุ่มพี่น้อง ตระกูลจุฬางกูร ถือหุ้นที่ติดเครื่องหมาย C  รวม 6 บริษัท ประกอบด้วย

บริษัท เอ็นอีพี อสังหาริมทรัพย์ และอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ NEP ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์
พลาสติกรวมทั้งบรรจุภัณฑ์ประเภทอื่น ถือหุ้นโดย ณัฐพล จุฬางกูร ถือหุ้น 180.86 ล้านหุ้นคิดเป็น 7.78%

บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK ดำเนินธุรกิจ บริการ/ขนส่งและโลจิสติกส์ ถือหุ้นโดย ณัฐพล จุฬางกูร 540.06 ล้านหุ้นคิดเป็น 23.77%, หทัยรัตน์ จุฬางกูร 160.96 ล้านหุ้นคิดเป็น 7.08%, ทวีฉัตร จุฬางกูร 420.01 ล้านหุ้น คิดเป็น 18.49%

บริษัท พรีเมียร์เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ PE ดำเนินธุรกิจด้านการลงทุนในธุรกิจบริการทางการเงินได้แก่ ธุรกิจการบริการรถเช่าเพื่อการดำเนินงาน (Operating Lease) ธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัย ธุรกิจการให้บริการสินเชื่อเพื่อ ธุรกิจต่างๆ และธุรกิจการให้บริการจัดการสินเชื่อ ถือหุ้นโดย ทวีฉัตร จุฬางกูร 196 ล้านหุ้นคิดเป็น 24.5%

บริษัท เอเชียซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AS บริการด้านความบันเทิงออนไลน์ โดยมุ่งเน้นการให้บริการเกมออนไลน์ และเกมบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในประเทศไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งจัดจำหน่ายเกมพีซี ถือหุ้นโดย ทวีฉัตร จุฬางกูร 31.49 คิดเป็น 7.68%

บริษัท เอ็มพีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ MPG ดำเนินธุรกิจค้าปลีก ถือหุ้นโดย ณัฐพล จุฬางกู 50.79 ล้านหุ้นคิดเป็น 5.2% ทวีฉัตร จุฬางกูร 40.23 ล้านหุ้น คิดเป็น 4.11%

บริษัท อี ฟอร์ แอล เอม จำกัด (มหาชน) หรือ EFORL บริษัทดำเนินธุรกิจหลักเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ บริษัทย่อยประกอบธุรกิจจำหน่ายเครื่องมือแพทย์และให้บริการด้านความงาม ถือหุ้น โดย ณัฐพล จุฬางกูร 396.28 ล้านหุ้นคิดเป็น 2.46%

1v2

ขณะที่กลุ่มมหากิจศิริ  ถือหุ้นบริษัท ไทยฟิล์มอินดัสตรี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TFI ดำเนินธุรกิจผลิตฟิลม์ประเภทบรรจุภัณฑ์ และการพิมพ์ ได้แก่ BOPP Film, Polyester Film, CPP Film และ Metallized Film เพื่อจำหน่ายภายในประเทศและส่งออกต่างประเทศ โดยถือผ่าน  อุษณา มหากิจศิริ 707.72 ล้านหุ้นคิดเป็น 34.57%, อุษณีย์ มหากิจศิริ 303.69 ล้านหุ้นคิดเป็น 14.83%, เฉลิมชัย มหากิจศิริ 227.26 ล้านหุ้นคิดเป็น 11.10% และ สุวิมล มหากิจศิริ 118.50 ล้านหุ้นคิดเป็น 5.79%

กลุ่มเตชะไกรศรี ถือหุ้น บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PACE บริษัทประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ระดับไฮเอนด์ ธุรกิจไลฟ์สไตล์รีเทลด้านอาหารและเครื่องดื่มกูร์เม่ต์ ภายใต้ของเครื่องหมายการค้า “ดีน แอนด์ เดลูก้า” ผู้ถือหุ้นประกอบด้วย สรพจน์ เตชะไกรศรี 4,683.52 ล้านหุ้น คิดเป็น 40.59%, วิวรรธน์ ไกรพิสิทธิ์กุล 832.97 ล้านหุ้นคิดเป็น7.22%, ยุพา เตชะไกรศรี 489.08  ล้านหุ้น คิดเป็น 4.24%

นอกจากนี้ยังมีบริษัทจดทะเบียนรายใหญ่หลายรายที่ถือหุ้นบจ.ที่ติดเครื่องหมาย C ประกอบด้วย บริษัทจี สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ GSTEL ถือหุ้น บริษัท จี เจ สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ GJS  2,122.42 ล้านหุ้นคิดเป็น 15.24%

บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)หรือ BTS ถือหุ้นบริษัท ทรีซิกตี้ไฟว์ จำกัด (มหาชน) TSF 367.18 ล้านหุ้นคิดเป็น 5.42 %

บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) หรือ MAJOR  ถือหุ้นบริษัท เอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ MPIC 1,202.13 ล้านหุ้น คิดเป็น 92.46%

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ให้ความเห็นว่า กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของแต่ละบริษัทย่อมมีบทบาทในการพิจารณากระบวนการแก้ไขปัญหาเพื่อให้บริษัทมีฐานะการเงินที่ดีขึ้นจนปลดล็อกเครื่องหมาย Cได้ การแก้ไขปัญหาโดยการเลือกเพิ่มรายได้ลดต้นทุนคงต้องใช้เวลาและต้องใช้เวลานานเกินไป ส่วนวิธีการแก้ไขปัญหาที่เร็วสุดคือการเพิ่มทุน  แต่เป็นเรื่องที่ยากเพราะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ถือหุ้นใหญ่ด้วย

“การปลดเครื่องหมายC ไม่ได้ทำได้ง่ายๆ หากจะแก้ไขปัญหาให้ได้เร็ว โดยเลือกการเพิ่มทุนนั้น ผู้ถือหุ้นใหญ่จะต้องยินยอมพร้อมใส่เงินเพิ่มทุน หรืออาจต้องเลือกหาพันธมิตรเข้ามารับซื้อหุ้นเพิ่มทุนแทน”

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight