Politics

รายงานการค้ามนุษย์ สหรัฐ ไทยรั้งเทียร์ 2 ต่อเนื่องปีที่ 3

รายงานการค้ามนุษย์ ของสหรัฐฯ ประจำปี 2563 จัดประเทศไทยอยู่ในระดับ 2 (Tier 2) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เดินหน้าใช้กฏหมาย มุ่งคุ้มครองช่วยเหลือ และป้องกัน

นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า กระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่ รายงานการค้ามนุษย์ หรือ Trafficking in Persons Report ประจำปี 2563 (TIP Report 2020) จัดระดับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวม 187 ประเทศ

รายงานการค้ามนุษย์

ทั้งนี้ ในรายงานการค้ามนุษย์ ดังกล่าว ได้จัดระดับประเทศไทย อยู่ในระดับ 2 (Tier 2) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เช่นเดียวกับปี 2561 และ 2562 เนื่องจากรัฐบาลไทยยังคงเพิ่มความพยายามอย่างสำคัญ ในการ ป้องกันและปราบปราม รวมทั้งแก้ไขปัญหา การค้ามนุษย์โดยรวมต่อเนื่อง

ในปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยและทุกภาคส่วน ได้ร่วมกันดำเนินงาน ป้องกันและปราบปราม การค้ามนุษย์ให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยมีผลการดำเนินงานสำคัญในรายงานดังกล่าว สรุปได้ดังนี้

1. ด้านดำเนินคดีและบังคับใช้กฎหมาย

มีการออก พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 พ.ศ. 2562 เพื่อกำหนดลักษณะความผิด และอัตราโทษ ฐานบังคับใช้แรงงานหรือบริการ การประชุมทวิภาคี เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล รวบรวมพยานหลักฐาน ในคดีค้ามนุษย์ การยอมรับคำให้การล่วงหน้า และ คำให้การทางวีดิทัศน์  เพื่อใช้เป็นหลักฐาน ในการพิจารณาคดีของศาล การทำงานร่วมกัน ระหว่างหน่วยงาน บังคับใช้กฎหมายของรัฐ NGOs และ องค์กรภาคประชาสังคม

2. ด้านการคุ้มครองช่วยเหลือ

พัฒนาแบบคัดแยก สำหรับผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และผู้เสียหาย จากการบังคับใช้แรงงาน หรือบริการ เปิดศูนย์คุ้มครองเด็กเพิ่ม รวมจำนวน 7 แห่ง เพื่อการจัดบริการที่เป็นมิตร สำหรับเด็ก เยียวยาผู้เสียหาย จากเงินกองทุนฯ จำนวน 11.88 ล้านบาท และผู้เสียหายได้รับค่าสินไหมทดแทน ตามการพิพากษาของศาล จำนวน 3.33 ล้านบาท การพัฒนา Mobile Application Protect-U สำหรับผู้เสียหาย และพยาน เพื่อขอรับการช่วยเหลือคุ้มครอง

ปรเมธี วิมลศิริ
ปรเมธี วิมลศิริ

3. ด้านการป้องกัน

สร้างความตระหนักรู้ให้กับนักเรียน ครู ผู้นำชุมชน จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ ข้อบ่งชี้การค้ามนุษย์ ช่องทางแจ้งเบาะแส เผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ และบนเครื่องบิน จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นระหว่างภาครัฐ NGOs และองค์การระหว่างประเทศ เพื่อสร้างความร่วมมือในการ ป้องกันและปราบปราม การค้ามนุษย์

พร้อมกันนี้ ยังได้เปิดศูนย์แรกรับเข้าทำงาน และสิ้นสุดการจ้าง 5 แห่ง เพื่อช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว ที่เข้ามาทำงานตามระบบ MOU มีความรู้เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ สิทธิ วัฒนธรรม การจัดทำสัญญาจ้างงาน และกลไกการร้องทุกข์ร้องเรียน และร่วมกับรัฐบาลต่างประเทศ ป้องกันไม่ให้ผู้มีประวัติการล่วงละเมิดทางเพศกับเด็ก เข้ามาในประเทศ

ขณะที่ กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ มีข้อแนะนำ ต่อการดำเนินงานของประเทศไทย เช่น พัฒนาศักยภาพของผู้บังคับใช้กฎหมาย ในการดำเนินคดีและตัดสินลงโทษผู้ค้ามนุษย์ด้านแรงงาน การคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ด้านแรงงาน การสอบสวน และดำเนินคดีเชิงรุก กับเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์

นอกจากนี้ ยังรวมถึงการดูแลผู้เสียหาย โดยคำนึงถึงผลกระทบจากบาดแผลทางจิตใจ ทั้งในสถานคุ้มครองของรัฐ และเอกชน การช่วยเหลือทางกฎหมาย การเยียวยาจิตใจ การเพิ่มความสามารถของผู้เสียหาย ที่จะเดินทางเข้าออกสถานคุ้มครอง และเข้าถึงเครื่องมือสื่อสาร ได้โดยอิสระ พัฒนาการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อคัดแยกผู้เสียหายประชากรกลุ่มเสี่ยง กลุ่มธุรกิจทางเพศ กลุ่มเด็กขอทานและขายของตามท้องถนน แรงงานต่างด้าวในภาคอุตสาหกรรม ฯลฯ

นายปรเมธี กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวง พม. ในฐานะหน่วยงานประสานงานหลัก (Focal point) จะบูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงานเพื่อ ป้องกันและปราบปราม การค้ามนุษย์ทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งคุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหายตามหลักสิทธิมนุษยชน

ทั้งนี้ จะได้จัดประชุมคณะอนุกรรมการกำกับและติดตาม การดำเนินงาน ป้องกันและปราบปราม การค้ามนุษย์ เพื่อพิจารณาและมอบหมายเจ้าภาพหลักรับผิดชอบข้อเสนอแนะในแต่ละประเด็น สำหรับติดตามผลการดำเนินงาน รวมทั้งใช้เป็นกรอบในการจัดทำรายงานของประเทศไทย ก่อนเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ ป้องกันและปราบปราม การค้ามนุษย์ รับทราบและพิจารณาเห็นชอบแผนการดำเนินงานและเจ้าภาพหลักต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo