Lifestyle

‘โลหิตจาง’ อย่าวางใจ! รุนแรงแค่ไหน ที่นี่มีคำตอบ

‘โลหิตจาง’ และภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด คร่าชีวิต “นาธาน โอมาน” อดีตนักร้องชื่อดังด้วยวัยเพียง 45 ปี มาทำความรู้จัก “ภาวะโลหิตจาง” หรือ “โรคโลหิตจาง” เกิดจากอะไร รุนแรงแค่ไหน ที่นี่มีคำตอบ

หลังจากวงการบันเทิงได้ไว้อาลัยจากการเสียชีวิตของ “นาธาน โอมาน” อดีตนักร้องชื่อดังวัยเพียง 45 ปี หลังเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล เนื่องจากอาการป่วยด้วย “โรคโลหิตจาง” และมีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด เรามาทำความรู้จักกับ “ภาวะโลหิตจาง” หรือ “โรคโลหิตจาง” เพื่อป้องกัน และดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากความเสี่ยงในโรคนี้

ภาวะ โลหิตจาง คืออะไร

ภาวะ โลหิตจาง หรือ ที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ภาวะซีด เป็นภาวะที่เกิดจากร่างกายมีเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ ภาวะนี้พบได้บ่อยในประชากรทั่วไป เม็ดเลือดแดง มีหน้าที่ในการนำออกซิเจน ไปให้เซลล์ และ เนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกาย การที่เม็ดเลือดแดงลดลงจึงส่งผลให้เกิดความผิดปกติได้หลากหลาย

ตั้งแต่อาการเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย วูบ หมดสติ หากโลหิตจางรุนแรง อาจส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ หัวใจทำงานมากขึ้น จนถึงขั้นหัวใจล้มเหลวได้ อาการต่างๆ อาจเกิดมากน้อย แตกต่างกันในแต่ละคน ขึ้นอยู่กับระดับของเม็ดเลือดแดง ในร่างกายและความสามารถในการปรับตัวต่อ ภาวะโลหิตจางของแต่ละคน

โลหิตจาง

ภาวะโลหิตจาง เกิดจากอะไร ภาวะโลหิตจางแบ่งตามกลไกการเกิดได้เป็น 3 สาเหตุใหญ่ๆ ได้แก่

1. การสร้างเม็ดเลือดแดงลดลง ซึ่งเป็นได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • ขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง ได้แก่ ธาตุเหล็ก, วิตามินบี 12,
  • กรดโฟลิค โรคไตวายเรื้อรัง ทำให้ขาดปัจจัยในการกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง
  • โรคของไขกระดูก เช่น ไขกระดูกฝ่อ มะเร็งในไขกระดูก การติดเชื้อในไขกระดูก เป็นต้น
  • โรคเรื้อรังบางชนิด เช่น โรคมะเร็ง โรคข้ออักเสบ โรคเกี่ยว กับระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น

2. การทำลายเม็ดเลือดแดงมากขึ้นในร่างกาย โรคกลุ่มนี้จะเป็นสาเหตุให้เม็ดเลือดแดงแตกง่ายกว่าปกติ ผู้ป่วยมักจะมีอาการตัวและตาเหลือง (ดีซ่าน) ร่วมด้วย สาเหตุที่พบบ่อยในประเทศไทย เช่น

  • โรคธาลัสซีเมีย เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ ที่พบบ่อย ผู้ป่วยโรคนี้มีอาการได้หลากหลาย อาจมีอาการเพียงเล็กน้อย หรือ มีโลหิตจางรวดเร็วเมื่อเวลามีไข้ บางรายอาจมีภาวะโลหิตจางร่วม กับเหลือง ตับม้ามโต เป็นตั้งแต่อายุน้อยๆ
  • โรคเม็ดเลือดแดงแตกง่าย จากการขาดเอนไซม์ G-6PD เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ มักพบในเพศชาย ในภาวะปกติผู้ป่วยมักไม่มีอาการ หากมีการติดเชื้อหรือได้รับยาบางชนิดจะเกิดการกระตุ้น ให้เม็ดเลือดแดงแตกง่ายขึ้นจนเกิดอาการ โลหิตจางรวดเร็ว ดีซ่าน ปัสสาวะสีน้ำปลา
  • โรคเม็ดเลือดแดงแตกง่าย จากภูมิคุ้มกันของตนเองทำลายเม็ดเลือดแดง เป็นโรคที่พบมากในเพศหญิงวัยเจริญพันธุ์ อาจพบร่วมกับโรคของระบบภูมิคุ้มกันอื่นๆ
  • การติดเชื้อบางชนิด เช่น มาลาเรีย, คลอสติเดียม, มัยโค พลาสมา เป็นต้น

3. การเสียเลือดอาจเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน เช่น การเกิดอุบัติเหตุ การตกเลือด หรืออาจค่อยๆ เสียเลือดเรื้อรัง เช่น เสียเลือดทางประจำเดือนในผู้หญิง เสียเลือดในทางเดินอาหารในผู้ชายและผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ผู้ป่วยที่เสียเลือดเรื้อรังก็มักจะมีการขาดธาตุเหล็กตามมาด้วย

ทำอย่างไรเมื่อสงสัยว่ามี “ภาวะโลหิตจาง”

หากท่านสงสัยมีอาการของภาวะโลหิตจาง ท่านควรจะไปพบ แพทย์เพื่อทำการตรวจว่าอาการดังกล่าวเกิดจากโลหิตจางจริงหรือไม่ และเกิดจากสาเหตุใด โดยทั่วไปแพทย์จะทำการซักถามประวัติอย่างละเอียด รวมถึงตรวจร่างกายเพื่อเป็นแนวทางในการวินิจฉัยและเลือกการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการที่เหมาะสมเพื่อหาสาเหตุต่อไป

การตรวจทางห้องปฏิบัติการที่สำคัญ คือ การตรวจเม็ดเลือดสมบูรณ์ และการดูลักษณะเม็ดเลือด จากการย้อมสไลด์เลือด การเจาะตรวจเลือดชนิดนี้ ผู้ป่วยไม่ต้องมีการเตรียมตัวเป็นพิเศษ ไม่ต้องงดน้ำงดอาหารก่อนมาตรวจ ข้อมูลจากการตรวจเม็ดเลือดสมบูรณ์จะทำให้เราทราบว่าผู้ป่วยมีภาวะโลหิตจางจริงหรือไม่

โดยดูจากระดับฮีโมโกลบินและฮีมาโตคริตของเม็ดเลือดแดง ผู้ป่วยส่วนหนึ่งสามารถได้รับการวินิจฉัยสาเหตุของโลหิตจางได้จากการตรวจนี้ ผู้ป่วยอีกส่วนหนึ่งอาจต้องใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เพื่อหาสาเหตุต่อไป

การรักษาภาวะโลหิตจาง

โดยทั่วไปการรักษาภาวะโลหิตจางจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการที่เป็น หากอาการรุนแรงมากผู้ป่วยควรได้รับการรักษาในโรงพยาบาล ให้นอนพักไม่ออกแรงใดๆ ให้ออกซิเจน และอาจต้องให้เลือดแดงทดแทนไปด้วย

ส่วนผู้ป่วยที่ไม่มีอาการรุนแรง อาจให้การรักษาเป็นผู้ป่วยนอก หลักการรักษาภาวะโลหิตจางที่สำคัญที่สุด คือ การหาสาเหตุและรักษาที่สาเหตุนั้นๆ ในบางครั้งภาวะโลหิตจางอาจ ทำให้เราตรวจพบโรคร้ายแรงที่แอบซ่อนอยู่ก็ได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ และได้ผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจ

ขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลศิริราช

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo