General

วันเข้าพรรษา ปี 2563 วิถีพุทธ ในแบบวิถีใหม่

วันเข้าพรรษา มีจุดกำเนิดมาจากการที่ ในสมัยพุทธกาลพระภิกษุ มีหน้าที่เผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้าต้องออกเดินทางไปในที่ต่างๆ  ไม่ได้อยู่กับที่เหมือนสมัยปัจจุบัน 

แต่เมื่อถึงฤดูฝนชาวบ้านทำการเกษตรปลูกพืชผัก ธัญญาหาร พระภิกษุเดินธุดงค์ได้ไปเหยียบพืชผักของชาวบ้าน ทำให้เกิดความเสียหาย พระพุทธเจ้าจึงให้พระภิกษุจำพรรษาอยู่กับที่ในช่วงฤดูฝน ได้ศึกษาพระธรรมคำสอนเพิ่มเติม แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และสร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์ โดยจะเริ่มวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี  เป็นวันเริ่มต้นของการจำพรรษา ทำให้เรียกวันนี้ว่าเป็น “วันเข้าพรรษา”

วันเข้าพรรษา

ความสำคัญของ วันเข้าพรรษา

  • ช่วงวันเข้าพรรษาเป็นช่วงฤดูฝน ชาวบ้านทำการเกษตรปลูกพืชผัก หากพระภิกษุสงฆ์ออกเดินธุดงค์ไปในที่ต่างๆ  ก็จะเหยียบย่ำทำให้พืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านเสียหาย
  • ตามปกติพระภิกษุสงฆ์ มีหน้าที่ธุดงค์ไปในที่ต่างๆ เพื่อเผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ได้พักอาศัยอยู่กับที่ ทำให้ในช่วงเข้าพรรษานี้จะเป็นช่วงที่พระภิกษุได้หยุดพักผ่อนเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย และหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า
  • เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้บำเพ็ญกุศลเป็นพิเศษ ด้วยการทำบุญตักบาตร ถวายเทียน ถวายผ้าอาบน้ำฝน ตลอดจนถือศีลฟังเทศน์ ฟังธรรมในช่วงเข้าพรรษา
  • เป็นช่วงที่ได้เผยแพร่พระพุทธศาสนาให้กับบุคคลทั่วไป และบวชให้กับบุตรที่อายุครบบวช

ระยะเวลาการเข้าพรรษา

ระยะเวลาที่เข้าพรรษาเป็นช่วงเวลา 3 เดือนตลอดฤดูฝน พุทธศาสนิกชน ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ทำบุญตักบาตร ถวายเทียนหรือหลอดไฟ และผ้าอาบน้ำฝน สำหรับใช้ ในตลอดเวลาที่จำพรรษา

ตามประเพณีไทยนั้น เมื่อชายที่อายุครบ 20 ปี บริบรูณ์จะอุปสมบทเป็นพระภิกษุเพื่อทดแทนพระคุณของพ่อแม่ โดยจะนิยมอุปสมบทในช่วงเข้าพรรษาหรือเรียกว่า “บวชเอาพรรษา” นั่นเอง

GettyImages 489973499

การถวายเทียน วันเข้าพรรษา

ตามประเพณีแล้ว จะมีการถวายเทียนในช่วงเข้าพรรษาแด่พระภิกษุสงฆ์ เพื่อใช้จุดบูชาพระประทานในโบสถ์เป็นการสร้างกุศลให้กับตัวเองอย่างหนี่ง ในการให้แสงสว่างแด่พระสงฆ์

แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป การถวายเทียนมีน้อยลงเป็นการประกวดแกะสลักเทียนแล้วแห่ทั้งทางบก และทางน้ำ หรือจะเป็นการถวายหลอดไปเพื่อให้แสงสว่าง

ผ้าอาบน้ำฝน

ตามประวัติ ระบุไว้ว่า พระภิกษุจะมีเครื่อง อัฏฐบริขาร ที่จำเป็นเท่านั้น อันได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ เข็ม บาตร รัดประคด หม้อกรองน้ำ และมีดโกน  เมื่อต้องอาบน้ำฝนก็มีเพียงสบงผืนเดียวเท่านั้น จึงต้องเปลือยกายอาบน้ำ ทำให้ดูไม่งามเหมือนนักบวชนอกศาสนา

นางวิสาขาจึงถวายผ้า “ผ้าวัสสิกสาฏก” เพื่อใช้ในการผลัดเปลี่ยนเวลาอาบน้ำ นับแต่นั้นมาจึงมาการถวายผ้าอาบน้ำฝนในช่วงวันเข้าพรรษาเป็นต้นมา

เข้าพรรษา 2563 มาแบบนิว นอร์มัล

อย่างไรก็ดี เนื่องจากในปีนี้ ช่วงเวลาของการเข้าพรรษา อยู่ในช่วงที่ยังเกิดการแพร่ะระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อยู่ ทำให้แนวทางการปฏิบัติในการเข้าวัดทำบุญ ต้องแตกต่างออกไปจากเดิม มีการดำเนินมาตรการเพื่อควบคุม และป้องกัน การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสชนิดนี้

วันเข้าพรรษา

กระทรวงสาธารณสุข โดย กรมอนามัย ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดทำคู่มือการจัดพิธีทางศาสนา และการจัดกิจกรรมทางประเพณี เพื่อเป็นแนวทางสำหรับพระภิกษุสงฆ์ นักบวช พราหมณ์ บาทหลวง และประชาชน แบบวิถีชีวิตใหม่ หรือ นิว นอร์มัล ขึ้นมา เพื่อให้การเข้าวัดทำบุญ เป็นไปอย่างปลอดภัย

ศาสนสถานทั้งวัด โบสถ์ และมัสยิด ต้องจัดทำป้ายคำแนะนำ ใช้ข้อปฏิบัติเช่นเดียวกับพื้นที่สาธารณะทั่วไป สำหรับข้อปฏิบัติสำหรับวัด พระสงฆ์ และผู้มาทำบุญตักบาตรองสวมหน้ากากผ้า/ หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ดำเนินการคัดกรองผู้ที่จะเข้ามาในพื้นที่ จัดให้มีอ่างล้างมือ และสบู่ เตรียมโต๊ะสำหรับวางของใส่บาตร

วันเข้าพรรษา

กำหนดที่นั่งห่างกันอย่างน้อย 2 เมตร จัดชุดสำหรับฉันอาหารเฉพาะรูป กำหนดเส้นทางเดินใส่บาตรให้เดินทางเดียว เว้นระยะห่าง 2 เมตร กำหนดเส้นทางเข้า-ออกไม่ให้สวนทางกัน ลดความแออัด และมีการประชาสัมพันธ์ย้ำเตือนการสวมหน้ากากและล้างมือ ที่สำคัญหากป่วยขอให้งดร่วมกิจกรรมทางศาสนา งานประเพณีต่าง ๆ

ส่วนผู้เข้าร่วมพิธี ต้องลงชื่อเข้าร่วม สวมหน้ากากตลอดเวลา และอาบน้ำ/ เปลี่ยนเสื้อผ้าทันที ที่กลับถึงที่พัก

ทำบุญตักบาตรด้วยเมนูสุขภาพ

กรมอนามัย ยังได้ให้คำแนะนำถึงการทำบุญตักบาตรของพุทธศาสนิกชน เนื่องใน วันเข้าพรรษา ว่า ควรเลือกอาหารที่เป็นเมนูชูสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็ม เลือกใช้ข้าวกล้องแทนข้าวขาวหรือข้าวกล้องผสมข้าวขาว เลี่ยงเมนูอาหารทอด โดยเปลี่ยนเป็นอาหารประเภทต้ม นึ่ง อบหรือยำแทน เพิ่มผักและผลไม้รสไม่หวาน เช่น ฝรั่ง ส้ม แตงโม มะละกอ เป็นต้น

สำหรับประชาชนที่ไม่ได้ปรุงอาหารเอง ควรเลือกซื้อจากร้านที่มีการปรุงสุก ใหม่ มีการใช้อุปกรณ์หยิบจับอาหารแทนการใช้มือและใช้ภาชนะบรรจุอาหารที่สะอาดปลอดภัย ไม่ใช้โฟมเพื่อสุขอนามัยที่ดี

GettyImages 681535874

ส่วนการตักบาตรด้วยอาหารกระป๋องนั้น ควรเลือกซื้อกระป๋องที่อยู่ในสภาพดี ไม่บุบ โดยเฉพาะตะเข็บ หรือ รอยต่อของกระป๋องต้องเรียบ ฝาหรือก้นกระป๋อง แบนเรียบ ส่วนขอบกระป๋อง จะต้องไม่มีรอยรั่วซึม ไม่เป็นสนิม ไม่โป่งนูน เนื่องจากมีแรงดันของก๊าซ ที่เกิดจากการเน่าเสียของอาหาร ภายในกระป๋อง และให้ดูฉลากสินค้า ที่ผ่านการตรวจรับรอง และ มีเลขสารบบอาหาร หรือตัวเลขหลังเครื่องหมาย อย.

ที่สำคัญ คือ ควรเลือกซื้ออาหารกระป๋อง ที่ผลิตใหม่ โดยสังเกต วัน เดือน ปี ที่ผลิต และวันหมดอายุ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo