Lifestyle

ใส่บาตรได้บุญ เลือกเมนูดูแลสุขภาพพระ ลดหวาน มัน เค็ม

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชน ทำบุญตักบาตร ด้วยเมนูชูสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็ม หากเป็นอาหารกระป๋อง ต้องไม่บุบ ไม่เป็นสนิม ไม่หมดอายุ

นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย ที่ดีขึ้นตามลำดับ ในช่วงวันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษาปีนี้ คาดว่ามีประชาชนไปทำบุญตักบาตรกันมากขึ้น

ตักบาตร1

อย่างไรก็ตาม การทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ที่วัด หากไม่คำนึงถึงอาหารที่จะนำมาตักบาตร ก็จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพพระสงฆ์ได้ เนื่องจากอาหารที่ประชาชนนิยมตักบาตร มักเป็นอาหารที่ไม่หลากหลาย และประกอบด้วย แป้ง น้ำตาล ไขมัน และกะทิ ที่ให้พลังงานสูง ทำให้เกิดการสะสมไขมันส่วนเกิน เพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพพระสงฆ์

ดังนั้น เพื่อสุขภาพที่ดีของพระสงฆ์ จึงควรเลือกอาหาร ที่เป็นเมนูชูสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็ม เลือกใช้ข้าวกล้องแทนข้าวขาว หรือ ข้าวกล้องผสมข้าวขาว เลี่ยงเมนูอาหารทอด โดยเปลี่ยนเป็นอาหารประเภทต้ม นึ่ง อบ หรือยำแทน รวมทั้ง เพิ่มผักและผลไม้รสไม่หวาน เช่น ฝรั่ง ส้ม แตงโม มะละกอ เป็นต้น

สำหรับประชาชนที่ไม่ได้ปรุงอาหารเอง ควรเลือกซื้อจากร้านที่มีการปรุงสุก ใหม่ มีการใช้อุปกรณ์หยิบจับอาหารแทนการใช้มือและใช้ภาชนะบรรจุอาหารที่สะอาดปลอดภัย ไม่ใช้โฟมเพื่อสุขอนามัยที่ดี

ตักบาตร

หากตักบาตรด้วยอาหารกระป๋อง ควรเลือกซื้อกระป๋องที่อยู่ในสภาพดี ไม่บุบ โดยเฉพาะตะเข็บหรือรอยต่อของกระป๋องต้องเรียบ ฝาหรือก้นกระป๋องแบนเรียบ ส่วนขอบกระป๋องจะต้องไม่มีรอยรั่วซึม ไม่เป็นสนิม ไม่โป่งนูน เนื่องจากมีแรงดันของก๊าซ ที่เกิดจากการเน่าเสียของอาหาร ภายในกระป๋อง และให้ดูฉลากสินค้าที่ผ่านการตรวจรับรองและมีเลขสารบบอาหารหรือตัวเลขหลังเครื่องหมาย อย.

ที่สำคัญ คือ ควรเลือกซื้ออาหารกระป๋อง ที่ผลิตใหม่ โดยสังเกต วัน เดือน ปี ที่ผลิต และวันหมดอายุ

นอกจากนี้ อีกประเด็นสำคัญ ที่ญาติโยมควรปฏิบัติ เมื่อไปทำบุญ คือ การสวมหน้ากากผ้า หรือ หน้ากากอนามัย มีการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล หรือนั่ง ยืน ตามที่ทางวัดกำหนดจุดให้ใส่บาตร และควรล้างมือให้สะอาดก่อนหยิบอาหารใส่บาตร หากประชาชนมีอาการเจ็บป่วย มีไข้ ควรงดการเดินทางไปทำบุญที่วัด

Avatar photo