Sme

นายกฯย้ำ จัดงบ ช่วยเอสเอ็มอี​ ‘รวมพลังสร้างชาติ​’ ฝ่าโควิด

ช่วยเอสเอ็มอี ฝ่าวิกฤติโควิด-19 นายกรัฐมนตรีย้ำ จัดงบประมาณพร้อม เน้น “รวมไทยสร้างชาติ” ร่วมฟื้นฟู พัฒนา ยกระดับ เอสเอ็มอีไทย แข่งขันได้ยุค New Normal

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงในการประชุม สภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณา ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยย้ำว่า รัฐบาลมีมาตรการ ช่วยเอสเอ็มอี ในการบรรเทาผลกระทบ จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด- 19 เพื่อเพิ่มโอกาส และความสามารถทางการแข่งขัน ในโลกธุรกิจใหม่ New Normal

money ๒๐๐๗๐๓

ที่ผ่านมา รัฐบาลออกมาตรการเพื่อช่วย เอสเอ็มอี ทั้งมาตรการด้านภาษี เช่น การลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราร้อยละ 90 มาตรการด้านการลดต้นทุน ทั้งการลดดอกเบี้ย ขยายระยะเวลาชำระหนี้ การพักชำระค่าธรรมเนียม

นอกจากนี้ ยังจัดทำมาตรการ เข้าถึงแหล่งเงินใหม่ โดยจัดหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และการค้ำประกันสินเชื่อ เช่น มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สำหรับผู้ประกอบการรายย่อย จำนวน 45,000 ล้านบาท ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และ การจัดสินเชื่อใหม่ (ซอฟต์โลน) 5 แสนล้านบาท โดย ธนาคารแห่งประเทศไทย

ขณะเดียวกัน พบว่า เอสเอ็มอี บางรายยังติดขัด ข้อกำหนดต่าง ๆ ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินใหม่ จึงได้มอบหมายให้ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ จัดสรรเงินกู้ให้กับ เอสเอ็มอี ที่ไม่เข้าข่ายตามเกณฑ์ ซอฟต์โลน ของธนาคารแห่งประเทศไทย เพิ่มอีกจำนวน 10,000 ล้านบาท ด้วย

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

สำหรับปี งบประมาณ พ.ศ. 2564 ได้สนับสนุน งบประมาณ เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี ไม่ต่ำกว่า 300,000 ราย รวมวงเงิน 14,064.8903 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินงบประมาณ 13,773.2661 ล้านบาท และเงินนอกงบประมาณ 291.6242 ล้านบาท

ทั้งนี้ จะดำเนินการผ่าน แผนงานบูรณาการ พัฒนาผู้ประกอบการ เพื่อช่วยเหลือ ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง วิสาหกิจขนาดย่อม และ วิสาหกิจรายย่อย กองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และธนาคารออมสิน

“เอสเอ็มอี เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ให้มีความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืน ซึ่งภาคธุรกิจต้องปรับตัว ภายใต้สภาวะแวดล้อมแบบ New Normal ที่การแข่งขันสูง และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ดังนั้น ต้องใช้ความรู้ และความเชี่ยวชาญ จากทุกภาคส่วน ตามแนวคิด “รวมไทยสร้างชาติ” เป็นพลังร่วมฟื้นฟู พัฒนา และยกระดับ เอสเอ็มอี ของไทย ให้มีความเข้มแข็ง และสามารถเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน

ก่อนหน้านี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อม แห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพิ่มเติมจากที่ ธพว. ได้ดำเนินการมาแล้ว โดยเร่ง อนุมัติสินเชื่อ 4 หมื่นล้านช่วยเอสเอ็มอี มีเงื่อนไขพิเศษ เพื่อให้เอสเอ็มอีทุกกลุ่มธุรกิจทั่วประเทศ มีเงินทุนไปหมุนเวียน เสริมสภาพคล่อง จ้างงาน และฟื้นฟูธุรกิจให้กลับคืนมาสามารถดำเนินการได้ดีอีกครั้ง หลังจากโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย

ทั้งนี้ คาดว่า ธพว. จะสามารถอนุมัติสินเชื่อได้กว่า 40,000 ล้านบาท ช่วยธุรกิจเอสเอ็มอีได้ประมาณ 24,000 กิจการ และทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้สู่ท้องถิ่น อีกทั้งยังช่วยรักษาการจ้างงานประมาณ 120,000 ราย และสร้างมูลค่าหมุนเวียนทางเศรษฐกิจประมาณ 90,000 ล้านบาท

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo