Economics

มีผลแล้ว! ประกันสังคม เพิ่ม ‘ค่าทำศพกองทุนประกันสังคม’ เป็น 5 หมื่นบาท

ค่าทำศพกองทุนประกันสังคม เพิ่มขึ้นเป็น 50,000 บาท  สปส.เผยประกาศกฎกระทรวง ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ทดแทน กรณีตายเนื่องจากการทำงานจากเดิม 40,000 บาท มีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งแต่เมื่อวานนี้ (2 ก.ค.)  สอดคล้องภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน

นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงแรงงาน ได้ออกประกาศกฎกระทรวง กำหนดอัตราเงินค่าทำศพ ในกรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย โดยไม่ได้ประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน พ.ศ.2563 แห่งพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533

1593777701130

ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่2) พ.ศ.2537 ลงนามโดย ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้มีการปรับเพิ่มการจ่ายสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย โดยมิใช่ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน จากเดิม 40,000 บาท เพิ่มเป็น 50,000 บาท เพื่อจ่ายเป็นค่าทำศพให้กับผู้จัดการศพ ซึ่งได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นไป

นายทศพล กล่าวว่า สำหรับเงื่อนไข และหลักเกณฑ์ ในการขอรับสิทธิประโยชน์กรณีเสียชีวิตนั้น ผู้ประกันตนจะต้องส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 1 เดือน ภายในระยะเวลา 6 เดือน ก่อนถึงแก่ความตาย โดยสำนักงานประกันสังคมจะจ่ายให้กับผู้จัดการศพ  ส่วนเงินสงเคราะห์กรณีตาย จะจ่ายให้กับบุคคลที่ผู้ประกันตนระบุให้เป็นผู้รับ สิทธิประโยชน์ทดแทน โดยการทำหนังสือระบุไว้

กรณีที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำหนังสือระบุไว้ สำนักงานประกันสังคมจะจ่ายให้ผู้มีสิทธิตามกฎหมาย คือ บิดา มารดา สามี หรือภริยา และบุตร โดยจ่ายเฉลี่ยในอัตราคนละเท่าๆ กัน ดังนี้

  • ถ้าก่อนถึงแก่ความตาย ผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 120 เดือน ให้จ่ายเงินสงเคราะห์เป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 2 เดือน
  • ถ้าก่อนถึงแก่ความตายผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 120 เดือนขึ้นไป ให้จ่ายเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 6 เดือน ให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิสามารถขอรับประโยชน์ทดแทน ได้ภายใน 2 ปี

นายทศพล ระบุว่า  การปรับเพิ่มการจ่ายสิทธิประโยชน์ทดแทน กรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย โดยมิใช่ประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน เป็น 50,000 บาท ในครั้งนี้ เพื่อความเหมาะสม และสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และเป็นการสร้างหลักประกันให้กับผู้ประกันตนได้ประโยชน์สูงสุด

หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประกันสังคม กรุงเทพมหานคร พื้นที่ทั้ง 12 แห่ง สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขา/ที่สะดวก หรือโทร.1506 (เจ้าหน้าที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง)

ค่าทำศพกองทุนประกันสังคม
แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีตาย

หลักฐานสำหรับยื่นคำขอรับ ค่าทำศพกองทุนประกันสังคม

  • แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีตาย (สปส. 2-01)
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้จัดการศพพร้อมตัวจริง
  • หลักฐานจากฌาปนสถานหรือมัสยิดที่แสดงว่าเป็นผู้จัดการศพ
  • สำเนาใบมรณบัตรพร้อมตัวจริง
  • สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรกซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชี (กรณีขอรับเงินทางธนาคาร) ผ่านทางบัญชีธนาคารของผู้ประกันตน 9 ธนาคาร ได้แก่
    – ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน)
    – ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
    – ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
    – ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
    – ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
    – ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)
    – ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)
    – ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
    – ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน)

กรณีขอรับเงินสงเคราะห์

  • แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีตาย (สปส. 2-01)
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนพร้อมตัวจริง และสำเนาทะเบียนบ้าน ของผู้มีสิทธิรับเงินสงเคราะห์
  • สำเนาทะเบียนสมรส ของผู้ประกันตน และของบิดามารดาของผู้เสียชีวิต (ถ้ามี)
  • สำเนาสูติบัตรของบุตร หรือ สำเนาทะเบียนบ้านของบุตร กรณีไม่มีสูติบัตร
  • การมอบอำนาจให้บุคคลอื่นมารับแทน
    -หนังสือมอบอำนาจ
    -บัตรประจำตัวประชาชน ฉบับจริงของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ
    -หนังสือแจ้งผลการพิจารณาจากสำนักงานประกันสังคม

GettyImages 1167876793

ขั้นตอนการขอรับประโยชน์ทดแทน

  • ผู้จัดการศพผู้มีสิทธิต้องกรอกแบบ สปส. 2-01 พร้อมลงลายมือชื่อ และนำมายื่นที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ หรือยื่นขอรับทางไปรษณีย์ โดยมีหลักฐานครบถ้วน
  • เจ้าหน้าที่ตรวจหลักฐาน และพิจารณาอนุมัติ
  • สำนักงานประกันสังคมมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณา
  • พิจารณาสั่งจ่าย
    เงินสด/เช็ค (ผู้มีสิทธิมาขอรับด้วยตนเองหรือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นมารับแทน) ส่งธนาณัติให้ผู้มีสิทธิ โอนเข้าบัญชีธนาคารตามบัญชีของผู้ขอรับประโยชน์ทดแทน (กรณีขอรับเงินทางธนาคาร) ผ่านทางบัญชีธนาคารของผู้ประกันตน 9 ธนาคาร

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

Avatar photo