Business

‘ศิริวัฒน์แซนด์วิช’ เตือน!! วิกฤติโควิดรุนแรง เก็บเงินสดให้มากที่สุด

“ศิริวัฒน์แซนด์วิช” เตือน!! วิกฤติโควิดรุนแรงกว่าต้มยำกุ้ง แนะต้องระวัง ต้องเตรียมตัว หาเงินสดให้มากที่สุด ลั่นเรากำลังเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจฝืดเคือง

นายศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ ผู้ก่อตั้งกิจการ “ศิริวัฒน์แซนด์วิช” อดีตนักธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540 โพสต์คลิปผ่านเฟซบุ๊คแฟนเพจ Sirivat Sandwich ศิริวัฒน์แซนด์วิช เนื่องในโอกาสครบ 23 ปีวิกฤติต้มยำกุ้ง โดยระบุว่า หากย้อนไปก่อนหน้าวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราจะอยู่ที่ 26 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ แต่หลังจากนั้นเงินบาทได้ลดลงไปต่ำสุดถึง 56 บาทต่อ 1 ดอลลาร์

วิกฤติครั้งนั้น ถูกระบุว่า เป็นสิ่งที่ประเทศไทยไม่เคยเจอมาก่อน ภาคธุรกิจที่ไปกู้เงินดอลลาร์มาเมื่อจะคืนเงิน ก็ต้องหาเงินเพิ่มขึ้นจากเดิมกว่าเท่าตัว นำไปสู่การที่ธุรกิจต่างๆ ล้มละลาย ผลกระทบเชื่อมต่อมายังสถาบันการเงิน ที่ต้องแบกภาระหนี้เสีย จากเดิมที่มีเพียง 5% ก็พุ่งสูงไปถึง 50% ซึ่งการลดค่าเงินถูกนำมาใช้เพื่อกระตุ้นการส่งออกและการท่องเที่ยว รวมถึงลดการนำเข้า

ศิริวัฒน์แซนด์วิช

แต่วิกฤติไวรัสโควิดนั้นต่างออกไป และจะเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดของโลก โรคระบาดครั้งนี้ ส่งผลต่อคนทุกชาติ

รวมถึงประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าไทย เช่น สหรัฐอเมริกา ที่มีผู้ติดเชื้อกว่า 2 ล้านคน เสียชีวิตกว่า 1 แสนคน และยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่จำนวนชาวอเมริกันที่ว่างงานสูงขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์สหรัฐ

ในเดือนพฤษภาคม ที่อเมริกา อัตราคนว่างงาน สูงสุดในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ ค.ศ.1950 ถึงปัจจุบัน คนว่างงานสูงถึง 42.8% เพราะคนที่มีงานทำมีอยู่ 57.2% ดังนั้น หมายความว่า คนอเมริกันนั้นตกงานเกือบครึ่งหนึ่ง” นายศิริวัฒน์ ระบุ

นายศิริวัฒน์ กล่าวอีกว่า เหตุที่ต้องให้ความสำคัญกับสหรัฐ เพราะเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ตีเป็นมูลค่าได้ถึง 25 ล้านล้านดอลลาร์ ส่วนจีนตามมาเป็นอันดับ 2 และญี่ปุ่นเป็นอันดับ 3 ซึ่งเมื่อประเทศขนาดเศรษฐกิจใหญ่เหล่านี้ มีปัญหากันหมด บรรดาประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศไทยจะรอดได้อย่างไร และตนขอย้ำว่า วิกฤติครั้งนี้จะรุ่นแรงยิ่งกว่าเมื่อปี 2540

ศิริวัฒน์แซนด์วิช

เพราะวิกฤติปี 2540 แม้ค่าเงินบาทจะลดต่ำลง แต่อีกด้านก็ทำให้การส่งออกเพิ่มขึ้น และการนำเข้าลดลง การค้าอยู่ในสถานะเกินดุล ทำให้เม็ดเงินจากต่างประเทศไหล เข้ามาสู่ประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีรายได้จากการท่องเที่ยว เช่น ในปี 2540 มีรายได้ส่วนนี้ประมาณ 2 แสนล้านบาท และอีก 22 ปีต่อมา ในปี 2562 เพิ่มขึ้นเป็น 1.9 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า

แม้ค่าเงินบาทจะกลับมาอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ คือประมาณ 30 บาทกว่าๆ ต่อ 1 ดอลลาร์ ไม่ใช่ 56 บาทอย่างสมัยปี 2540 ก็ตาม นับแต่วันนี้เป็นต้นไป เราจะไม่พูดถึงวิกฤติ 2540 วิกฤติต้มยำกุ้ง แต่เราจะมาพูดถึงวิกฤติโควิด จากนี้ไปจะเกิดอะไรขึ้น

“ที่ผมพยายามออกมาบอกว่า เราต้องระวัง ต้องเตรียมตัว เพราะเที่ยวนี้ยังไม่รู้ว่าโควิดจะจบเมื่อไร ไม่รู้ว่าโควิดจะยาวนานอีกเท่าไร จะจบอย่างไร ก่อนโควิดจะจบ ผมเชื่อว่าธุรกิจต่างๆ ในประเทศไทย อุตสาหกรรมต่างๆ คงจะสะบักสะบอมไปพอสมควร กว่าจะฟื้นขึ้นมาต้องใช้เวลา วันนี้อยากจะย้อนกลับไปนิดหนึ่ง โดยส่วนตัวผมพูดความจริง ขอใช้คำว่ายุคเศรษฐกิจรุ่งเรืองได้ผ่านพ้นไปแล้ว เรากำลังเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจฝืดเคือง” นายศิริวัฒน์ กล่าว

สิ่งที่ตนอยากจะเตือน คือ หากวันนี้ไม่ประหยัดอย่างที่สุด ไม่หาเงินสดให้ได้มากที่สุด ต่อไปจะไม่มีเงินไว้เติมน้ำมัน และซ่อมรถ รถก็จอดทิ้ง เป็นภาระอีก วิกฤติไวรัสโควิด จะยังคงอยู่จนกว่าจะมีการพบวัคซีน ในระหว่างนี้ก็ต้องอดทน แต่ถึงคนยุคนี้จะสบายน้อยลงสักครึ่งหนึ่งจากเดิม ก็เชื่อว่าคงไม่ลำบากมากขนาดคนรุ่นพ่อรุ่นปู่แน่นอน ทั้งนี้ ประเทศไทยจะอยู่หลังสุดในการเติบโตทางเศรษฐกิจ

อาทิ ก่อนหน้านี้ ธนาคารโลก (World Bank) ทำนายว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 จะเติบโตติดลบ 5.6% แต่เมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กลับระบุว่าจะติดลบถึง 8.7% เลขาธิการสภาพัฒน์ เพิ่งออกมาเมื่อไม่กี่อาทิตย์ที่แล้ว ปกติประเทศไทยตกงานแค่ 4 แสนคน ปี 2563 ประเทศไทยคาดว่าจะมีคนที่เสี่ยงตกงาน 8.4 ล้านคน 20 เท่านะครับไม่ใช่ 2 เท่า

“เป็นแบบนี้ผมก็มองว่า เรามีปัญหา เรากำลังเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจฝืดเคือง World Bank ก็ออกมาบอกว่า ในขณะที่ประเทศเวียดนามซึ่งตอนนี้พูดง่ายๆ ว่าเป็นดาวเด่น ปี 2020 GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวม) จะโตประมาณ 2.7% พม่า (เมียนมา) โต 1.8% ฟิลิปปินส์โต 0.6% อินโดนีเซียโต 0.5% มาเลเซียติดลบ 1.8% ไทยติดลบ 8.1% ของ ธปท. ส่วนของ World Bank ติดลบ 5.6%” นายศิริวัฒน์ กล่าว

ศิริวัฒน์แซนด์วิช

เจ้าของศิริวัฒน์แซนด์วิช กล่าวอีกว่า คนไทยกว่า 8 ล้านคนเสี่ยงตกงาน ขณะที่หนี้ครัวเรือนรวมกันสูงกว่า 12 ล้านล้านบาท หรือ 79% ของ (GDP) ส่วนอัตราดอกเบี้ย ที่ตนเรียกร้องว่า สถาบันการเงินต้องลดให้กับผู้กู้รายย่อย หรือ ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SME)

โดยเพื่อความเป็นธรรมต้องมีระบบจัดชั้นลูกหนี้ เช่น ลูกหนี้คุณภาพดี ชำระหนี้ครบถ้วนตรงเวลามาตลอด ดอกเบี้ยควรอยู่ที่ 12% ขณะที่ลูกหนี้คุณภาพต่ำ ดอกเบี้ยอาจอยู่ที่ 15% แต่ไม่ใช่คิดดอกเบี้ย 16-20% อย่างที่ตั้งไว้ขณะนี้ เพราะลูกหนี้จะไม่รอดแล้วเจ้าหนี้ก็จะเดือดร้อนตามมา

ทั้งนี้ แม้ข้อมูลจาก ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) จะไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่แบบระบาดในประเทศมานานกว่า 1 เดือน แต่อย่าประมาทเป็นอันขาดเพราะไม่อยากให้มีการระบาดรอบ 2 ในฐานะที่ตนเป็นเจ้าของกิจการ เข้าใจหัวอกเจ้าของกิจการด้วยกันว่า ถ้าเป็นไปได้ก็ไม่มีใครอยากปิดบริษัท ปลดพนักงานออกหรือแม้แต่ลดเงินเดือนพนักงาน เพราะถ้าไม่มีพนักงานเจ้าของกิจการก็ไม่รอด

แต่จากวิกฤติที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือน มีนาคม 2563 ทำให้ตนเชื่อว่าจะมีข่าวทำนองนี้เกิดขึ้นตามมาอีก ซึ่งตนก็เข้าใจทั้ง 2 ทาง หากบอกล่วงหน้าพนักงานก็เสียขวัญกำลังใจ แต่หากบอกกะทันหัน พนักงานก็ยิ่งลำบากขึ้นไปอีก ดังนั้น สำหรับคนที่ตกงานไม่มีรายได้ พยายามหางานทำให้มีรายได้และต้องเป็นงานได้ค่าจ้างเป็นเงินสดทันทีเท่านั้นด้วย จะรวมจ่ายทีเดียวแม้จะเป็นเพียงหลักสัปดาห์ก็ไม่ได้เด็ดขาด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo