World News

‘แอร์ ฟรานซ์’ จ่อเลิกจ้าง 7,500 คน เจรจาสหภาพแรงงาน 3 ก.ค.

“แอร์ ฟรานซ์” สายการบินรายใหญ่ของฝรั่งเศส  เล็งเลิกจ้างพนักงานมากกว่า 7,500 คน ในช่วง 2 ปีข้างหน้า ในความพยายามที่จะรับมือกับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19

แอร์ ฟรานซ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในเครือ แอร์ฟรานซ์-เคแอลเอ็ม กรุ๊ป  กำลังดำเนินการลดความสามารถ และยกเลิกเส้นทางภายในประเทศที่ขาดทุน ในช่วงเวลาที่การระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการเดินทางทั่วโลก

แอร์ ฟรานซ์

รอยเตอร์ รายงานอ้างแหล่งข่าววงในว่า แผนการที่ทางสายการบิน เสนอให้สหภาพแรงงานพิจารณานั้น รวมถึง การเลิกจ้างพนักงาน 6,500 คนในแอร์ ฟรานซ์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเพียง 15% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด และเลิกจ้างอีก 1,000 ตำแหน่งใน ฮอป (HOP!) หน่วยงานในเครือ

อย่างไรก็ดี สายการบินรายใหญ่ของฝรั่งเศส รายนี้ ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็น ในรายงานข่าวดังกล่าว โดยคาดว่า ทางสายการบิน จะเปิดหารือกับสหภาพแรงงานในวันพรุ่งนี้ (3 ก.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น

แหล่งข่าวเปิดเผยด้วยว่า ในจำนวนพนักงาน ที่จะเลิกจ้างนั้น ราว 3,500 คน จะมาจาก การต้องเลิกทำงานตามปกติอยู่แล้ว อาทิ การเกษียณอายุ และการไม่จ้างงานคนใหม่ มาแทนคนที่ออกไป

ภายใต้การบริหารงานของ “เบน สมิธ” ซีอีโอ ที่มาร่วมงานกับบริษัทในปี 2561 นั้น แอร์ฟรานซ์-เคแอลเอ็ม กรุ๊ป กำลังหาทางที่จะลดค่าใช้จ่าย ปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหภาพแรงงานฝรั่งเศส และเอาชนะความขัดแย้ง ด้านการบริหาร ระหว่างรัฐบาลฝรั่งเศส กับเนเธอร์แลนด์

ปัจจุบัน หลังจากที่ได้รับเงินอัดฉีดจากรัฐบาล 2 ประเทศ รวม 10,400 ล้านยูโรแล้ว แอร์ฟรานซ์-เคแอลเอ็ม จะต้องเดินหน้าปรับโครงสร้าง เพื่อที่จะให้ สามารถแข่งขันต่อไปได้ และรักษาความเป็นอิสระเอาไว้ได้

บรรดาคู่แข่งของทั้ง แอร์ ฟรานซ์ และ เคแอลเอ็ม ต่างมีความเคลื่อนไหว ที่รวดเร็วกว่า ในเรื่องการปลดพนักงาน โดยก่อนหน้านี้ บริติช แอร์เวย์ส ได้ออกมาประกาศแผนลดพนักงาน 12,000 ตำแหน่ง และอีซีเจ็ท เลิกจ้าง 4,500 คน คิดเป็นสัดส่วน 30% ของจำนวนพนักงาน ของแต่ละสายการบิน

ขณะที่ ลุฟท์ฮันซา กรุ๊ป สายการบินยักษ์ใหญ่ ของเยอรมนี ก็เพิ่งประกาศแผนปลดพนักงาน 22,000 คน หรือคิดเป็นสัดส่วน 16% ของพนักงานทั่วโลก  ซึ่งการปลดพนักงานครึ่งหนึ่ง จะเกิดขึ้นในเยอรมนี โดยลุฟท์ฮันซา ยังตั้งเป้าที่จะทำให้ พนักงานที่ถูกปลด มีจำนวนน้อยที่สุด ด้วยมาตรการจ้างงานระยะสั้น และข้อตกลง ที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติ

แอร์ ฟรานซ์

ทั้งนี้ แผนการปลดพนักงานข้างต้น ของแอร์ฟรานซ์เกิดขึ้น หลังเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา รัฐบาลฝรั่งเศส ประกาศแผนช่วยเหลือ “แอร์ ฟรานซ์” มูลค่า 7,000 ล้านยูโร และช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ ประกาศช่วยจัดหาเงิน 3,400 ล้านยูโร ให้กับ “เคแอลเอ็ม” เพื่อพยุงกิจการให้อยู่รอด จากผลกระทบวิกฤติโควิด-19  โดย เคแอลเอ็ม มีกำหนดที่จะนำเสนอ แผนการปรับโครงสร้างธุรกิจ ในเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งคาดว่าจะรวมถึง การลดเงินเดือนนักบินสูงสุด 20% และลดค่าใช้จ่ายโดยรวม ของบริษัทลงมา 15%

รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ ได้หารือกันมานานหลายเดือน ถึงบทบาทของแต่ละประเทศ ที่จะเข้ามาช่วยเหลือกิจการ แอร์ฟรานซ์-เคแอลเอ็ม กรุ๊ป และหาทางที่จะฟื้นฟูอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการเดินทางที่ซบเซา ซึ่งคาดว่าจะเป็นสถานการณ์ที่ยืดเยื้อไปนานหลายปี

ที่ผ่านมา รัฐบาลฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ มักจะมีความขัดแย้งกันอยู่บ่อยครั้ง เกี่ยวกับการบริหารจัดการ และกลยุทธ์การดำเนินงานของแอร์ฟรานซ์-เคแอลเอ็ม บริษัทที่เกิดขึ้น จากการควบรวมกิจการ ของสายการบินแห่งชาติ ของทั้ง 2 ประเทศ เมื่อปี 2547 โดยทั้ง 2 รัฐบาล ถือหุ้นในบริษัทควบรวมกิจการนี้ ฝั่งละ 14% เท่ากัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

Avatar photo