Economics

‘สมคิด’ สั่ง ‘คลัง-สรรพากร’ เร่งหามาตรการกระตุ้นการบริโภค

รองนายกฯ สมคิด สั่ง “คลัง – สรรพากร” เร่งหามาตรการกระตุ้นการบริโภค พร้อมกระตุ้นการใช้จ่ายและดึงเม็ดเงินในกระเป๋าของคนระดับบนออกมาใช้จ่ายมากขึ้น

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมหารือมาตรการเศรษฐกิจ โดยมีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลัง และผู้บริหารกระทรวงการคลัง ร่วมการประชุมที่กระทรวงการคลัง ว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดทำโครงการภายใต้งบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 400,000 ล้านบาท ภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท โดยจะต้องเน้นการสร้างงาน และพัฒนาท้องถิ่นให้เกิดความเข้มแข็ง เพื่อรองรับแรงงานย้ายถิ่นฐานกลับภูมิลำเนา หลังจากได้รับผลกระทบจากโควิด

รองนายกฯ สมคิด

อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายให้ กระทรวงการคลัง และ กรมสรรพากร หามาตรการกระตุ้นการบริโภค เพื่อรองรับส่งเสริมการท่องเที่ยว และหามาตรการเสริมการท่องเที่ยวระดับชุมชมมากขึ้น เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย และดึงเม็ดเงินในกระเป๋าของคนระดับบนออกมาใช้จ่ายมากขึ้น โดยขอให้เร่งจัดหามาตรการ ออกมาภายในกลางเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อที่จะไปเสริมกับมาตราการกระตุ้นการท่องเที่ยว ที่รัฐบาลประกาศออกมาก่อนหน้านี้

ขณะเดียวกัน ได้มอบหมายให้ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) นำเรื่องกองทุน สสว. เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ ไมโครเอสเอ็มอี และ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนมาพิจารณา เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 8 กรกฎาคมนี้

นอกจากนี้ มอบหมายให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมธนาคารไทย หาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการ ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น โดยเฉพาะ กลุ่มที่ขอสินเชื่อเกิน 500 ล้านบาท กำลังขาดสภาพคล่องและ ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) ของ ธปท.

“ให้ กระทรวงการคลัง พิจารณาแนวทาง ให้สถาบันการเงิน ขยายเวลาการพักชำระหนี้เป็น 2 ปี จากเดิมที่มาตรการช่วยเหลือ ด้วยการพักชำระหนี้ 6 เดือน จะสิ้นสุดเดือนตุลาคมนี้ ตามที่ภาคเอกชนเสนอ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า มาตรการเหล่านี้จะช่วยให้สถานการณ์เศรษฐกิจดีขึ้น และ การส่งออกฟื้นตัว ช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้าได้” รองนายกฯ สมคิด กล่าว

รองนายกฯ สมคิด

นายอุตตม กล่าวว่า กระทรวงการคลัง ได้มอบหมายให้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) หารือร่วมกับ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อเตรียมออกโครงการค้ำประกันสินเชื่อระยะที่ 9 ( PGS 9 ) ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือว่า จะเป็นวงเงินเท่าใด คาดว่า ไม่เกิน 2 สัปดาห์นี้มาตรการดังกล่าวจะออกมา

ส่วนมาตรการกระตุ้นการบริโภคและท่องเที่ยวนั้น จะต่อยอดจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว ของ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาออกไปก่อนหน้านี้ ส่วนจะให้สิทธิ์ ลดหย่อนภาษีหรือไม่นั้น ยังไม่สามารถตอบได้ โดยมอบหมายให้ กรมสรรพากร พิจารณา ส่วนการยืดหนี้นั้น ให้ ธปท.พิจารณายังบอกไม่ได้ว่าจะยืดออกไปยาวเท่าใด แต่อยากให้เป็นระยาว และช่วยได้ทุกกลุ่ม

ขณะที่ มาตรการเหล่านี้ จะสามารถกระตุ้นจีดีพีได้เท่าใดนั้น นายอุตตม กล่าวว่า ขอให้เลิกพูดเรื่องนี้ อยากให้โฟกัสว่า จะทำอย่างไร และเป็นการช่วยเหลือประชาชน และผู้ประกอบการหลังโควิด-19 คลี่คลายมากกว่า

รองนายกฯ สมคิด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ นายไมเคิล จอร์จ ดีซอมเบร (H.E. Mr. Michael George DeSombre) เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในโอกาสเข้ารับหน้าที่ โดยนายสมคิด ได้กล่าวต้อนรับ และแสดงความยินดี กับการเริ่มปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการในประเทศไทย

โดยไทยพร้อมร่วมมือ และสนับสนุนการทำงานของเอกอัครราชทูตอย่างเต็มที่ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีที่มีต่อกันมายาวนานให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ ท่ามกลางความท้าทายในการจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ซึ่งเป็นวิกฤตที่สามารถพลิกเป็นโอกาสในการวางแผนเพื่อเพิ่มพูนความร่วมมือและแลกเปลี่ยนการลงทุนร่วมกันได้ในอนาคต

ทั้งนี้ เอกอัครราชทูต ชื่นชมการทำงานของรัฐบาลไทย ในการใช้มาตรการสาธารณสุขที่เข้มข้น ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาสถานการณ์โควิด และควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน ยังสามารถกระตุ้นภาคเศรษฐกิจ ให้ดำเนินการได้ต่อเนื่อง โดยไม่ส่งผลกระทบ ต่อภาคการลงทุนและภาคการผลิต

ซึ่งภาคเอกชนสหรัฐ พร้อมยืนยันที่จะส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสานต่อการลงทุนในไทย โดยเฉพาะความร่วมมือด้านเศรษฐกิจทั้งด้านการค้าและการลงทุน

ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่า จะร่วมกันผลักดันความร่วมมือทุกมิติ โดยพร้อมที่จะเร่งฟื้นฟูภายหลังสถานการณ์โควิด คลี่คลาย รวมทั้งเห็นพ้องถึงความสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาทรัพยากรบุคคลเพื่อตอบสนองความต้องการของภาคเอกชน เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรมทางการแพทย์ การพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตร (Smart Farmer) ตลอดจนการส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาและนวัตกรรม

โดยรองนายกรัฐมนตรี ได้เชิญชวนให้ผู้ประกอบการสหรัฐ ร่วมลงทุนในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางการลงทุนของไทยและกลุ่มประเทศ CLMV ที่มีศักยภาพ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo