Economics

คาดช่วง ‘อาสาฬหบูชา-เข้าพรรษา’ ปีนี้ เงินสะพัดต่ำสุดในรอบ 6 ปี

“ม.หอการค้าไทย” ประเมินช่วง “อาสาฬหบูชา – เข้าพรรษา” เงินสะพัด 5,296 ล้านบาทต่ำสุดในรอบ 6 ปี จากความกังวลเศรษฐกิจ และการระบาดของโควิด

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษา ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผย ผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่าย ของประชาชนในช่วง วันอาสาฬหบูชา – วันเข้าพรรษา และ มาตรการด้านท่องเที่ยวในปัจจุบัน จากกลุ่มตัวอย่าง 1,234 ตัวอย่าง ทั่วประเทศ พบว่า ประชาชน 66.1% คาดว่า กิจกรรมปีนี้ จะคึกคักน้อยกว่าปีก่อน เนื่องจาก มีความกังวลการแพร่ระบาดของ โควิด เศรษฐกิจ ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ราคาสินค้าแพงขึ้น และ มีภาระหนี้สิ้น

ดังนั้น คาดว่า จะมีมูลค่าการใช้จ่าย ในช่วงเวลาดังกล่าวประมาณ 5,296 ล้านบาท ติดลบ 21 ต่ำสุดในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่ปี 2558

ม.หอการค้าไทย

สำหรับกิจกรรมที่ประชาชนนิยมทำใน วันอาสฬหบูชา และ วันเข้าพรรษามากที่สุด ตักบาตร ,ทำบุญทำทาน, เวียนเทียน, ทานข้าวนอกบ้าน และพักผ่อนอยู่บ้าน ส่วนพรที่จะขอ ได้แก่ ขอให้รัชกาลที่ 10 และ พระบรมศานุวงศ์ทุกพระองค์ ทรงมีพระพลานามัยที่แข็งแรง ขอให้ชีวิตมีความสุขกาย สบายใจ และ สมหวังในสิ่งที่ปราถนา ขอให้สุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บและครอบครัวมีความสุข

ทั้งนี้ ผลสำรวจดังกล่าว ปกติ หากไม่มีปัญหาการแพร่ระบาด โควิด เข้ามาการทำบุญ ของประชาชนจะมีความคึกคัก แต่ปีนี้ อยู่ในช่วงแพร่ระบาดของโรค แม้ประเทศไทย จะสามารถป้องกัน การแพร่ระบาดโควิด ได้เป็นอย่างดี แต่โดยรวม ยังกังวลว่า การแพร่ระบาด โควิด ยังไม่ปลอดภัย และ เสี่ยงที่จะกลับมาระบาดรอบ 2 ทำให้กังวลที่จะออกมาทำบุญ หรือ ท่องเที่ยวในสถานที่ต่าง ๆ เพราะยังไม่มั่นใจ จึงไม่กล้าจะจับจ่ายใช้สอยอีกด้วย

ดังนั้น รัฐบาล จะต้องเร่งหามาตรการ ที่จะทำให้ประชาชนผ่อนคลาย และ รู้สึกปลอดภัยที่จะออกเดินทางท่องเที่ยวทั่วไทยว่า จะไม่เกิดปัญหาติดโควิด

นอกจากนี้ สิ่งที่ประชาชนยังกังวล และ ไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย คือ จากปัญหาการปิดกิจการ ที่เกิดจากภาวะเศรษฐกิจกลัวว่า จะถูกเลิกจ้างงาน ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นนั้น ทำให้หลายคนไม่กล้าใช้เงิน เพราะกลัวว่างงาน จนขณะนี้ปริมาณเกิดการก่อหนี้เพิ่มมากขึ้น เป็นสิ่งที่รัฐบาล จะต้องเร่งหาทางช่วยเหลือ อย่างเร่งด่วน และ เร่งความเชื่อมั่นโดยเฉพาะการเมือง ในการปรับ ครม. จะต้องให้มีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งตัวบุคคล และ แนวทางการกระตุ้นภาคธุรกิจ และ ประชาชนให้มากกว่านี้

ม.หอการค้าไทย

ด้านศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย กล่าวว่า ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิถุนายน 2563 โดยรวมแทบทุกรายการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 หลังจากรัฐบาลผ่อนคลายให้ธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจและธุรกรรมต่าง ๆ ได้ในระยะที่ 1-4 ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา

ประกอบกับ รัฐบาลใช้มาตรการดูแลเยียวยาจากผลกระทบโควิด-19 ที่ได้เยียวยาทั้งประชาชนและภาคธุรกิจ ทำให้ดัชนีความเขื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนมิถุนายนจากระดับ 40.2 ในเดือนที่ผ่านมาสู่ระดับ 41.4

ทั้งนี้ แม้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะปรับตัวดีขึ้นก็ตาม แต่ยังอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 21 ปี หลายรายการด้วยกัน ดังนั้น คาดว่าผู้บริโภคยังคงชะลอการใข้จ่ายอย่างมากไปอย่างน้อยกว่า 3 – 6 เดือนนับจากนี้เป็นต้นไปจนกว่าสถานการณ์โควิด-19 และสถานการณ์ทางการเมืองจะดีขึ้นกว่านี้ พร้อมกับรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมและชัดเจนให้มากขึ้นที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาดีขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ประชาชนกังวลใจอยู่มาก คือ แม้จะมีมาตรการผ่อนคลายแต่กลัวว่าจะติดการแพร่ระบาดการกลับมาอีกของโควิดรอบ 2 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างมากและจะส่งผลภาวะการจ้างงานในอนาคตนับหลายแสนคนได้นั่นหมายถึงจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจไทยถดถอยได้

ดังนั้น รัฐบาลจะต้องเร่งนำเงินกว่า 400,000 ล้านบาท เข้าสู่ระบบและการหาแนวทางเสริมสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจเร่งด่วน และเท่าที่ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้น่าจะเริ่มดีขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 4 ส่งผลให้ทางศูนย์ฯ จะประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้ใหม่และจะเป็นตัวเลขใกล้เคียงกับสถาบันอื่น ๆ ที่มองไว้ คือ จีดีพีไทยปีนี้จะติดลบอยู่ที่ 8-10% จากเดิมอยู่ติดลบที่ 3.5-5% ขณะที่ตัวเลขการส่งออกติดลบอยู่ที่ 8-10% เช่นกัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo