Business

‘ภาษี e-Service’ รีดธุรกิจออนไลน์มูลค่า 4.2 หมื่นล้าน กลไกการค้ายุคดิจิทัล

ภาษี e-Service เปิด 3 ธุรกิจหลัก เข้าข่ายโดนจัดเก็บ รวมมูลค่า 4.2 หมื่นล้านบาท หวั่นผลักภาระผู้ประกอบการไทยที่ใช้บริการ

หลังจากคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรฯ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ หรือ ภาษี e-Service ทำให้ต้องจับตาว่า การจัดเก็บภาษีครั้งนี้ ใครจะได้ ใครจะเสีย

cover youtubegoogle ๒๐๐๖๓๐ 0 1

สำหรับ การจัดเก็บ ภาษี e-Service ดังกล่าว กำหนดสำหรับผู้ให้บริการต่างประเทศ และ แพลตฟอร์มต่างประเทศที่ไม่มีที่ตั้งถาวรในประเทศ (Permanent Establishment) ผู้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้รับบริการ ที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทย เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขันทางการค้า ระหว่างผู้ประกอบการในประเทศ และผู้ให้บริการในประเทศ ​

​ ปัจจุบันในกว่า 60 ประเทศทั่วโลก มีมาตรการจัดเก็บภาษีทางอ้อม จากกิจกรรมเศรษฐกิจดิจิทัล เช่น การจัดเก็บภาษีการบริโภค ไม่ว่าจะเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรือภาษีการค้า (Sale Tax / Service Tax) จากบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ข้ามประเทศ

ทั้งนี้ แต่ละประเทศมีรูปแบบการจัดเก็บภาษีในแนวทางเดียวกัน โดยจัดเก็บภาษีแบบ Vendor Collection Model ซึ่งกำหนดให้ผู้ให้บริการ หรือแพลตฟอร์มในต่างประเทศ ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และนำส่งภาษีที่จัดเก็บจากการให้บริการในประเทศของผู้ใช้บริการ

ขณะที่รูปแบบการจัดเก็บภาษี e-Service ของไทย มีความคล้ายคลึงกับแนวทางของสหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เป็นต้น แต่การดำเนินการของแต่ละประเทศ อาจมีความแตกต่างกันในรายละเอียด วิธีปฏิบัติ ขึ้นอยู่กับระบบภาษี และลักษณะธุรกิจในแต่ละประเทศ

e service01

ในส่วนของ ภาษี e-Service ของไทย เบื้องต้นกำหนดการจัดเก็บภาษี จากผู้ประกอบการที่มีรายรับการให้บริการในประเทศมากกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี  อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องติดตามรายละเอียดการดำเนินการในระยะต่อไป รวมถึงยังต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน ในประเด็นความเสี่ยงที่ไทยจะต้องเผชิญมาตรการตอบโต้ทางการค้า จากประเทศต้นทางของผู้ประกอบการต่างประเทศ

ตัวอย่างเช่น กรณีที่สหรัฐอเมริกา จะนำเรื่องเข้าสู่การสอบสวนภายใต้มาตรา 301 (Section 301 of the Trade Act) เพื่อพิจารณาตอบโต้มาตรการทางการค้า ที่ไม่เป็นธรรมกับหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป อินเดีย ฝรั่งเศส และอินโดนีเซีย ที่มีมาตรการจัดเก็บภาษีดิจิทัลจากกิจการต่างประเทศที่ส่วนใหญ่เป็นบริษัทสัญชาติอเมริกัน

เมื่อพิจารณาธุรกิจการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ของไทย การจัดเก็บภาษี e-Service คาดว่าจะครอบคลุม 3 ธุรกิจหลัก คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 42,000 ล้านบาท โดยคำนวณจากรายได้ภาษีที่ภาครัฐประเมินไว้ คือ 1. โฆษณาออนไลน์ เช่น โฆษณาผ่านโซเชียล มีเดีย 2. ความบันเทิงออนไลน์ เช่น ภาพยนตร์ ดนตรี นิตยสาร เกมออนไลน์ และ 3. ตัวกลางบริการทางธุรกิจออนไลน์ เช่น แพลตฟอร์มจองโรงแรมที่พัก แพลตฟอร์มจัดหางาน คลาวด์เซอร์วิส เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ ที่ขอบเขตของธุรกิจบริการอิเล็กทรอนิกส์ จะขยายไปครอบคลุมธุรกิจเพิ่มขึ้น ตามแนวโน้มความต้องการใช้บริการของผู้บริโภคในอนาคต หรือที่เรียกว่า “On-Demand Service”

ขณะเดียวกัน การจัดเก็บภาษี e-Service จะช่วยสร้างความเป็นธรรม สำหรับกิจการทั้งในและต่างประเทศ ที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผู้ให้บริการและแพลตฟอร์มต่างประเทศในธุรกิจข้างต้น ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการข้ามชาติรายใหญ่ ซึ่งมีแนวทางปฏิบัติตามข้อกฎหมายของแต่ละประเทศอยู่แล้ว

ยิ่งหากกฎหมายนั้น ไม่ได้ตั้งใจเลือกปฏิบัติ ให้แตกต่างจากกิจการในประเทศ การจัดเก็บภาษี e-Service จึงอาจจะไม่ส่งผลให้แผนการทำธุรกิจของผู้ประกอบการ แพลตฟอร์มต่างประเทศ เปลี่ยนแปลงไป

1 11

สำหรับเป้าหมายการส่งเสริมผู้ประกอบการไทย ในการพัฒนาแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ ที่ตอบโจทย์การใช้งานในยุคดิจิทัล คงจำเป็นต้องอาศัยอีกหลายปัจจัยสนับสนุนควบคู่กัน ในการสร้างความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว ทั้งการพัฒนาเทคโนโลยี บุคลากร และการยกระดับศักยภาพในการเชื่อมโยงตลาดระดับภูมิภาคและระดับโลกในรูปแบบ Glocalization (Globalization & Localization) ซึ่งผสมผสานจุดแข็งด้านความเข้าใจในวัฒนธรรมและพฤติกรรมผู้บริโภคในพื้นที่ เป็นต้น

สำหรับผู้ประกอบการในประเทศ ที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และรับบริการจากผู้ให้บริการและ แพลตฟอร์มต่างประเทศ โดยจ่ายค่าบริการในรูปของค่าโฆษณา ค่าการตลาด หรือค่านายหน้า อาจต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จากการผลักภาระภาษีมูลค่าเพิ่มที่แพลตฟอร์มต้องนำส่ง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ถึงแม้ผู้ประกอบการจะมีต้นทุนการใช้บริการที่เพิ่มขึ้น แต่เนื่องจากฐานลูกค้าขนาดใหญ่ของแพลตฟอร์ม ทำให้ผู้ประกอบการไทยน่าจะมีต้นทุนค่าเสียโอกาส ในการปรับเปลี่ยนค่อนข้างสูง จึงจำเป็นต้องแบกรับภาระภาษีที่อาจถูกส่งผ่านมา มิเช่นนั้นก็อาจต้องเลือกผู้ใช้บริการรายอื่นแทน โดยชั่งน้ำหนักถึงผลดีและผลกระทบของทางเลือกต่างๆ อย่างคุ้มค่าที่สุด

11 2

แต่สุดท้ายแล้วก็อาจส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการบางกลุ่มปรับเพิ่มขึ้น ตามระดับความยืดหยุ่นต่อราคาของผู้บริโภคต่อสินค้าและบริการแต่ละประเภท รวมถึงสภาพการแข่งขันในตลาดที่แตกต่างกัน

​กล่าวโดยสรุป การจัดเก็บภาษี e-Service สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ที่มีแนวโน้มเติบโต และการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม ซึ่งนับเป็นหนึ่งกลไกในการสร้างระบบนิเวศที่จำเป็น

อย่างไรก็ตาม ผลของกฎหมายดังกล่าวในทางปฏิบัตินั้น สุดท้ายแล้วคงจะขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการตรวจสอบข้อมูล และระบบการจัดเก็บภาษี ซึ่งจำเป็นต้องพิจารณาองค์ประกอบอื่นๆ ของธุรกิจ รวมถึงความเสี่ยงที่ไทยจะต้องเผชิญการตอบโต้ทางการค้าจากประเทศต้นทาง ของผู้ประกอบการต่างประเทศ และผลกระทบต่อผู้บริโภคในประเทศประกอบด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo