General

ธนารักษ์ จ่อขึ้น ค่าเช่าที่ราชพัสดุ เพิ่ม 2% แก้เผ็ดถือครองแต่ไม่ใช้ประโยชน์

ธนารักษ์ จ่อขึ้น ค่าเช่าที่ราชพัสดุ 2% หลังพบหน่วยงานราชการ ถือครองที่ดินราชพัสดุ แต่ไม่ได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ตามที่แจ้งไว้

นางศุกร์ศิริ บุญญเศรษฐ์ รองอธิบดี กรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า กรม ธนารักษ์ กำลังจัดทำ มาตรการพัฒนา ให้หน่วยงานราชการรับรู้ต้นทุน การถือครองที่ราชพัสดุ หรือ แคปิตอล ชาร์จ โดยจะเรียกเก็บ ค่าเช่าที่ราชพัสดุ หรือ ค่าถือครองที่ดิน 2% ของมูลค่าที่ดิน กับหน่วยงานราชการที่ ถือครองที่ราชพัสดุ ไว้ แต่เลิกใช้ประโยชน์ หรือไม่ได้ใช้ประโยชน์ ตามวัตถุประสงค์ที่แจ้งไว้

ค่าเช่าที่ราชพัสดุ ธนารักษ์

นอกจากนี้ ยังรวมถึง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ครอบครองที่ราชพัสดุ แต่ไม่ใช้ให้เกิดประโยชน์ ตลอดจนการครอบครอง โดยไม่ได้รับอนุญาต และไม่นำส่งคืนกลับมาให้กรมธนารักษ์เป็นผู้ดูแลด้วย

สำหรับมาตรการดังกล่าว เป็นเรื่องใหม่ของประเทศไทย โดยนำแนวคิดมาจาก ประเทศออสเตรเลีย และมอบหมายให้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำการศึกษา คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปี 2563 นี้ จากนั้นจะนำเสนอ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอความเห็นชอบ และแจ้งให้ส่วนราชการ หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รับทราบ คาดว่าจะเริ่มเก็บจริงได้ ในปีงบประมาณ 2565

ทั้งนี้ เป้าหมายของการเก็บค่าเช่าเพิ่มดังกล่าว ต้องการกระตุ้นให้ หน่วยงานที่ ถือครองที่ราชพัสดุ ส่งมอบที่ดินที่ไม่ได้ใช้คืน โดยแนวทางการเก็บค่าเช่าอาจไม่ต้องถือเงินมาจ่าย กับกรมธนารักษ์โดยตรง แต่อาจใช้วิธีหักจากงบประมาณรายรับประจำปีที่ได้รับแทน ซึ่งจะต้องหารือกับสำนักงบประมาณด้วย

ศุกร์ศิริ บุญญเศรษฐ์
ศุกร์ศิริ บุญญเศรษฐ์

อย่างไรก็ตาม การคิดค่าเช่า 2% ของมูลค่าทรัพย์สินต่อปี ไม่ถือว่าแพง เพราะปัจจบัน ค่าเช่าของที่ดินราชพัสดุ ถูกกว่าค่าเช่าอัตราพาณิชยกรรมถึง 50% นอกจากนี้ ยังมีการสอบถามความเห็น จากทุกฝ่าย และศึกษาแนวทาง ตัวชี้วัดการส่งคืนที่ราชพัสดุ ที่มีศักยภาพให้กรมธนารักษ์ด้วย

ปัจจุบัน มี ที่ราชพัสดุ ที่ใช้ประโยชน์ในราชการประมาณ 10.06 ล้านไร่ คิดเป็น 96% ของจำนวนที่ราชพัสดุทั้งหมด ซึ่งตามพ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2562 กำหนดให้ ส่วนราชการหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งใช้ที่ราชพัสดุ มีหน้าที่ใช้ที่ราชพัสดุให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และความตกลงที่ทำไว้กับกรมธนารักษ์

ขณะที่ กรมธนารักษ์ จะมีหน้าที่ในการปกครอง ดูแล และบำรุงรักษาที่ราชพัสดุ และสามารถเรียกคืนที่ราชพัสดุ จากส่วนราชการหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ในกรณีเลิกใช้ที่ราชพัสดุ ครอบครองที่ราชพัสดุโดยไม่ได้รับอนุญาต และไม่ใช้ที่ราชพัสดุภายในระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันที่ได้ทาความตกลงกับกรมธนารักษ์ได้

ที่ดิน 2

ทั้งนี้ พบว่า ปัจจุบันมีส่วนราชการ ถือครอง ที่ราชพัสดุ บางแปลง ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ตามที่ได้รับอนุญาต หรือใช้ประโยชน์ไม่ครบถ้วน ไม่ยอมส่งที่ดินคืนกรมฯอยู่หลายแห่ง เนื่องจากไม่ได้กำหนดบทบังคับทางกฎหมาย ตลอดจนหน่วยงานไม่เห็นความจำเป็น หรือไม่ได้รับประโยชน์ จากการส่งคืน ที่ราชพัสดุ ส่งผลให้ไม่สามารถบริหารที่ราชพัสดุอย่างมีประสิทธิภาพ

ดังนั้น เพื่อให้การบริหารที่ราชพัสดุ เกิดประโยชน์สูงสุด กรมธนารักษ์ จึงต้องจัดทำมาตรการ แคปิตอล ชาร์จ โดยนำเครื่องมือ ในการบริหารทางการเงินมาใช้เพื่อให้ส่วนราชการ หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รับรู้ถึงต้นทุนการถือครองที่ราชพัสดุของหน่วยงาน โดยมาตรการนี้ จะทำให้หน่วยงานภาครัฐ ที่ครอบครองทรัพย์สินเกินความจำเป็น ต้องส่งคืนที่ราชพัสดุให้กรมธนารักษ์เพื่อบริหารต่อไป

ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลัง โดยกรมธนารักษ์ ยังได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล ในการป้องกัน และช่วยเหลือ ผู้ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโควิด-19  ให้แก่ ผู้เช่าที่ราชพัสดุ บุคลากร ของกรมธนารักษ์ ทั้งส่วนกลาง ภูมิภาค ไปจนถึงประชาชนทั่วไป พร้อมประสานงาน และร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดมาตรการช่วยเหลือ และบรรเทาความเดือดร้อน จากวิกฤติการณ์ครั้งนี้

สำหรับผู้เช่าที่ถือสัญญาเช่า ที่ดินราชพัสดุเพื่ออยู่อาศัย และสัญญาเช่า ที่ดินราชพัสดุ เพื่อการเกษตร จะได้รับการยกเว้นค่าเช่า 1 ปี ในปี 2564 โดยจะได้รับยกเว้นการเรียกเก็บเบี้ยปรับ ในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของเงินที่ค้างชำระตามสัญญาที่กำหนดไว้ ซึ่งจะช่วยเหลือผู้เช่าเพื่ออยู่อาศัย และผู้เช่าเพื่อการเกษตรซึ่งมีสัญญาเช่า 150,409 ราย และเสริมสภาพคล่องให้ผู้เช่าและสมาชิกในครัวเรือนได้กว่า 450,000 คน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo