COVID-19

เปิดแผน อพท. พัฒนา 81 ชุมชน รับพฤติกรรม ท่องเที่ยววิถีใหม่

ท่องเที่ยววิถีใหม่ มาแรง อพท. เร่งพัฒนา 81 ชุมชนชิงนักเที่ยว New Normal พร้อมปั้น ถ้ำขุนน้ำนางนอน เป็นแหล่งท่องเที่ยวอุทยานธรณี ระดับโลก

นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า จากภาพรวมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และนักท่องเที่ยว ที่ปรับตัวสู่ ท่องเที่ยววิถีใหม่ หลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

แจกเงินเที่ยว ๒๐๐๖๒๘

อพท. จึงนำหลักการตลาดมาผสมกับแนวทางการพัฒนาชุมชนเพื่อการท่องเที่ยว เพื่อพัฒนาเส้นทาง และกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวซึ่งมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการท่องเที่ยว หลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

ทั้งนี้ จากแนวคิดดังกล่าว อพท. จะร่วมกับภาคีผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดท่องเที่ยว เช่น สมาคมผู้ประกอบการท่องเที่ยวต่างๆ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. เข้ามาร่วมให้ความรู้แก่ชุมชน พัฒนาโดยใช้กิจกรรมการท่องเที่ยวของชุมชนนั้นๆ เป็นตัวกำหนดว่า จะเหมาะรองรับนักท่องเที่ยวในกลุ่มไหน

“พฤติกรรม ท่องเที่ยววิถีใหม่ จะปรับเปลี่ยนการท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ จะลดลงปรับเป็นท่องเที่ยวในกลุ่มขนาดเล็ก เพื่อความปลอดภัย กลุ่มแรกที่จะเดินทางท่องเที่ยวคือ กลุ่มท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและผจญภัย และกลุ่มท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ”นายทวีพงษ์ กล่าว

พัฒนา 81 ชุมชน รับนักท่องเที่ยววิถีใหม่

ขณะที่ อพท. มี 81 ชุมชน ที่พัฒนา และพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ได้ โดยแบ่งเป็น 14 ชุมชนในพื้นที่พิเศษ และอีก 67 ชุมชนในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวทั้ง 8 คลัสเตอร์ ในที่นี้ได้รวม 4 ชุมชนในพื้นที่คลองดำเนินสะดวก 6 ชุมชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 6 ชุมชนในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า

สำหรับเดือนกรกฎาคมนี้ จะร่วมมือกับ สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และ 6 สมาคมผู้ประกอบการท่องเที่ยว ได้แก่ สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) สมาคมผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวอาเซียน (ASEANTA) สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) และสมาคมไทยท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (TRTA) ส่งบุคลากรลงพื้นที่พัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวให้กับ 40 ชุมชน เพื่อจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวอย่างน้อย 20 เส้นทาง

ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ

การดำเนินการดังกล่าว ได้วางเป้าหมายสำคัญ 2 ประเด็น คือ 1. ได้เพิ่มศักยภาพให้กับแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน และ 2. ได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้มีรายได้จากการเป็นวิทยากรให้ความรู้ เรื่องการตลาดท่องเที่ยว และความเชี่ยวชาญในการจัดทำเส้นทางท่องเที่ยว

จากนั้น เมื่อสถานการณ์ท่องเที่ยวกลับสู่ภาวะปกติผู้ที่เป็นวิทยากร จะนำเส้นทางที่ตนเองได้ร่วมกับชุมชนพัฒนาขึ้นมาในครั้งนี้ ไปเสนอขายแก่นักท่องเที่ยว โครงการนี้เป็นการนำร่องหากได้ผลตอบรับที่ดี ในปีต่อๆ ไป อพท. ก็จะจัดกิจกรรมนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับมาตรฐานด้านการตลาดให้แก่ชุมชนท่องเที่ยวที่ อพท. พัฒนาขึ้นมา

ยึดยุทธศาสตร์ชาติพัฒนาท่องเที่ยวไทยยั่งยืน

นายทวีพงษ์ กล่าวถึงแผนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ อพท. ยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่องตามแผนขับเคลื่อน อพท.ระยะ 4 ปี (พ.ศ. 2562–2565) และตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580)

ในปี 2563 อพท. ดำเนินการใน 4 เรื่องหลัก คือ 1.การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษให้ได้มาตรฐาน TOP 100 เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวและเพิ่มขีดความสามารถให้กับแหล่งท่องเที่ยว 2.การขับเคลื่อนเมืองในพื้นที่พิเศษเพื่อเข้าสู่เครือข่าย เมืองสร้างสรรค์ ขององค์การยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network – UCCN) 3 ขยายแนวเขตพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทองให้ครอบคลุมจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อเตรียมตัวเข้าเป็นเครือข่าย เมืองสร้างสรรค์ ด้านดนตรี และ 4 การศึกษาเพื่อเตรียมประกาศพื้นที่พิเศษเพิ่มอีก 3 แห่ง ได้แก่ พื้นที่ในจังหวัดเชียงราย พื้นที่ในจังหวัดเพชรบุรี และพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาปสงขลา

พร้อมกันนี้ ยังได้ศึกษาและเตรียมประกาศพื้นที่พิเศษ ลุ่มน้ำทะเลสาปสงขลา จะครอบคลุมอำเภอใน 3 จังหวัด ได้แก่ สงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช เนื่องจากรัฐนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เห็นในศักยภาพของพื้นที่ดังกล่าว จึงให้ อพท. ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ เพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา

ทะเลสาปสงขลา

ปัจจุบัน อพท. อยู่ระหว่างการประสานงานกับอำเภอต่างๆที่อยู่รอบทะเลสาบสงขลา เพื่อวางแนวทางการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยว และจะมีการจัดตั้งสำนักงาน อพท. เพื่อให้สามารถดำเนินการพัฒนาในพื้นที่ภาคใต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากที่ผ่านมา อพท. ยังไม่มีสำนักงานให้บริการในพื้นที่ภาคใต้และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ปี 2564

ในส่วนของการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ในพื้นที่พิเศษเพื่อเข้าสู่ TOP 100 นั้นเพื่อเป็นการรับประกันมาตรฐานของแหล่งท่องเที่ยว ในเวทีระดับนานาชาติ สร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว เพราะ TOP 100 เป็นรางวัล Sustainable Destinations Top100 ซึ่งจะประกาศและจัดพิธีมอบรางวัลที่งานส่งเสริมการท่องเที่ยว ITB Berlin ประเทศเยอรมันนี สำหรับปี 2563 อพท. ตั้งเป้าหมายพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบในพื้นที่พิเศษ ให้มีความพร้อมเพื่อยกระดับและส่งเข้าประกวดในเวทีดังกล่าวในปี 2565 และคาดหวังได้อย่างน้อย 2 แหล่ง

ปั้น 4 พื้นที่ เข้าสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์โลก

ในการดำเนินการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ เพื่อเสนอเข้าเป็นเครือข่าย เมืองสร้างสรรค์ ของยูเนสโก้ ได้แก่ พื้นที่จังหวัดน่าน เป็น เมืองสร้างสรรค์ ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน และพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี เมืองสร้างสรรค์ ด้านดนตรี โดยเตรียมเสนอต่อยูเนสโก้ในปีงบประมาณ 2564

และ อีก 2 เมือง เสนอในปี 2566 คือ พื้นที่จังหวัดเพชรบุรี อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปในที่จะยื่นขอเป็นเครือข่าย เมืองสร้างสรรค์ ประเภทศิลปะหัตถกรรมพื้นบ้าน หรือ เมืองแห่งอาหารถิ่น (Gastronomy) และพื้นที่จังหวัดเชียงราย จะพัฒนาเข้าสู่เครือข่าย เมืองสร้างสรรค์ จะดำเนินการควบคู่ไปกับการศึกษาเพื่อเตรียมประกาศเป็นพื้นที่พิเศษในภาคเหนือ เป้าหมายพัฒนาเป็นเมืองแห่งศิลปะร่วมสมัย

สำหรับพื้นที่จังหวัดเชียงราย อพท. ยังได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ให้ร่วมกับกรมทรัพยากรธรณี ศึกษาพัฒนาถ้ำขุนน้ำนางนอน เป็นแหล่งท่องเที่ยวอุทยานธรณี หรือ Geopark เป้าหมายสูงสุดคือเป็นแหล่งท่องเที่ยวอุทยานธรณีระดับโลก ตามเกณฑ์ของยูเนสโก้ภายในปี 2568 แต่เบื้องต้นภายในปี 2564 จะพัฒนาขึ้นเป็นระดับจังหวัด และ ปี 2566 ขึ้นเป็นระดับประเทศ

ขุนน้ำนางนอน

ขั้นตอนการศึกษาทั้งหมด จะดำเนินการร่วมกับจังหวัดที่เกี่ยวข้อง ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการศึกษาและจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่อนำเสนอให้คณะกรรมการ อพท. ให้ความเห็นชอบ เพื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ หรือ ททช. ก่อนนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ความพร้อมของชุมชนท่องเที่ยวที่จะรองรับนักท่องเที่ยวภายใต้ชีวิตวิถีใหม่ หรือ New Normal นอกจากชุมชนจะมีมาตรฐานตามเกณฑ์การท่องเที่ยวโลก หรือ GSTC และมาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชน หรือ CBT Thailand อพท. ได้พัฒนาบริการด้านการจ่ายเงินมี คิวอาร์โค้ต แทนการรับเงินสด

ล่าสุด อพท. ยังออกข้อปฏิบัติของแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อสุขอนามัยปลอดภัยใส่ใจในสุขภาพ โดยเป็นข้อปฏิบัติ ที่ อพท. ร่วมกับเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชน กรมอนามัย กรมควบคุมโรค และหน่วยงานภาคการท่องเที่ยว ภาคีการท่องเที่ยว จัดทำขึ้นมา เพื่อให้การบริการด้านสุขอนามัย ในชุมชนท่องเที่ยวที่ อพท. พัฒนาขึ้นมานั้นสอดคล้องกับชีวิตวิถีใหม่และยังสามารถยื่นขอมาตรฐาน SHA ได้อีกด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

 

Avatar photo