Politics

‘ศรีสุวรรณ’ มาแล้ว! จี้ตรวจสอบเงินบริจาค ‘ฌอน บูรณะหิรัญ’ เสี่ยงเข้าข่ายฉ้อโกง

“ศรีสุวรรณ” มาแล้ว! จี้ “กรมการปกครอง” ตรวจสอบ เงินบริจาค ฌอน บูรณะหิรัญ ถูกใช้ผิดวัตถุประสงค์ เสี่ยงเข้าข่ายฉ้อโกง มีโทษจำคุก 3 ปี

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่นายฌอน บูรณะหิรัญ ได้โพสต์เฟสบุ๊กส่วนตัวโฆษณาขอรับเงินบริจาคจากแฟนเพจ ระหว่างวันที่ 30 มีนาคม 2563 จนถึง 1 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา เพื่อนำมาช่วยดับไฟป่าดอยสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีผู้ร่วมบริจาคเป็นจำนวนเงิน 875,741.53 บาท แต่นายฌอนกลับนำเงินบริจาคส่วนหนึ่งมูลค่า 254,516.53 บาท มาใช้ทำสื่อเพื่อประชาสัมพันธ์ตนเองนั้น

เงินบริจาค ฌอน บูรณะหิรัญ

เบื้องต้นการรับ เงินบริจาค ฌอน บูรณะหิรัญ ดังกล่าว แม้มีวัตถุประสงค์เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่จะต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรเสียก่อน ตามความในมาตรา 6 ประกอบ มาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ.2487

ซึ่งตามกฎกระทรวงแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ กำหนดให้นายอำเภอ เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 8 สำหรับในเขตพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งต้องตรวจสอบต่อไปว่าผู้ขออนุญาตเคยต้องโทษเกี่ยวกับทรัพย์ กรรโชก ฉ้อโกง ยักยอกทรัพย์ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายลักษณะอาญาหรือไม่ หากใครฝ่าฝืนย่อมมีความผิดตาม มาตรา 17 ประกอบ มาตรา 19 ได้หรือหากผู้จัดกิจกรรมปิดบังอำพรางข้อเท็จจริงก็อาจเข้าข่ายความผิดฐานแจ้งความเท็จตาม ปอ. มาตรา 172 ด้วย

สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังอธิบดีกรมการปกครองเพื่อขอให้ตรวจสอบว่ากรณี การขอรับบริจาคของนายฌอน บูรณะหิรัญ ดังกล่าวนั้นได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ดังนี้

  1. กิจกรรมการเรี่ยไรดังกล่าวมีการดำเนินการขออนุญาตจากนายอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ตามกฎกระทรวง แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไร 2487 แล้วหรือไม่ อย่างไร
  2. กิจกรรมการเรี่ยไรดังกล่าวมีการออกใบรับเงินให้กับผู้บริจาคทุกคนและมีต้นขั้วใบรับไว้เป็นหลักฐานตามที่กำหนดไว้ใน มาตรา 13 หรือไม่
  3. เงินบริจาคที่ได้มาดังกล่าว มีการนำไปใช้จ่ายในการจัดทำสื่อเพื่อประชาสัมพันธ์ตนเอง เป็นการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ตาม มาตรา 14 หรือไม่ อย่างไร และหากนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์อาจเข้าข่ายความผิดฐานฉ้อโกง ตามกฎหมายอาญามาตรา 341 ได้ที่ระบุว่า “ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งและโดยการหลอกลวงให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ทั้งนี้ กิจกรรมการขอรับบริจาคของนายฌอนได้ดำเนินการเสร็จสิ้นลงไปแล้ว หากเป็นการดำเนินการที่ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ.2487 และประมวลกฎหมายอาญา ก็ย่อมที่จะฝ่าฝืน พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 ตามไปด้วย ย่อมถือได้ว่า “เป็นความผิดที่สำเร็จแล้ว”

กรมการปกครองต้องดำเนินการทางกฎหมายเพื่อแจ้งความดำเนินคดีตามครรลองของกฎหมายต่อไป ทั้งนี้กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย ไม่อาจมีข้อยกเว้นให้บุคคลใดได้ แม้จะเป็นคนโปรดของว่าที่หัวหน้าพรรคการเมืองใหญ่ของรัฐบาลและอ้างว่าเพื่อประโยชน์สาธารณะก็ตาม

เงินบริจาค ฌอน บูรณะหิรัญ

ย้อนประเด็นดราม่า เงินบริจาค ฌอน บูรณะหิรัญ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเด็นดังกล่าวเกิดจากกรณี “แหม่มโพธิ์ดำ” เปิดข้อความจากทีมอาสาดับไฟป่า ฝากถึง “ฌอน บูรณะหิรัญ” ตั้งข้อสงสัยกรณี การขอรับบริจาคของนายฌอน บูรณะหิรัญ เพื่อนำไปดับไฟป่าเชียงใหม่

โดยต่อมาเพจเฟซบุ๊ก Sean Buranahiran – ฌอน บูรณะหิรัญ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า สรุปยอดบริจาคที่ “ฌอน” ได้รับ จากแฟนเพจที่ไว้วางใจเพื่อช่วยแก้ปัญหาวิกฤติ มี 2 วาระคือ

1. ด้านไฟป่า

2. เรื่องไวรัส Covid-19

แจกแจงรายละเอียดในช่วงการรับบริจาค ระหว่างวันที่ 30 มีนาคม 2563 จนถึง 1 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา

ทุกกระบวนการมีการตรวจสอบตั้งแต่เดือนที่แล้ว “ฌอน” ได้แสดงหลักฐานพร้อมความบริสุทธิ์ใจ ต่อเจ้าหน้าที่จากกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา ยอดบริจาคจากผู้ติดตาม [ตั้งแต่ 30 มี.ค.- ปิดรับบริจาค 1 พ.ค ] เป็นจำนวนเงิน 875,741.53 บาท

แนวทางการดำเนินการแบ่งออกเป็น 3 ส่วน โดยครอบคลุมทั้ง 3 ส่วนคือ กำลังสมอง กำลังคน และ กำลังทรัพย์ ดังนี้

1. เรียนรู้ ทำความเข้าใจปัญหาจากราก จากทุกฝ่าย ทั้งทางเอกชน หน่วยงานราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่กรมป่าไม้ ชาวเผ่าประกาเกอะญอ และประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ( ระยะเวลาในการดำเนินการคาดว่า 2 ปีขึ้นไป ใช้งบประมาณส่วนตัวในการดำเนินการ และเดินทางมาโดยตลอด )

2. ทำสื่อเพื่อสร้างการตระหนักรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เผยแพร่ความรู้ และนำเสนอแนวทางผู้เชี่ยวชาญทางด้านนั้นๆ เผยแพร่ทางเฟสบุ๊ค อินสตาแกรม และ ยูทูป “ฌอน”

(ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ทีมงาน ตัดต่อ และโปรโมทโพสต์ มูลค่า 254,516.53 บาทสำหรับ 2 คลิปที่เกี่ยวข้องกับการบริจาค) ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มีผู้ใหญ่ที่มีอำนาจเชิงนโยบายมาลงพื้นที่ เกิดความตระหนักรู้ในวงกว้าง อันจะเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากที่ทำให้ผู้รับชมได้นำไปต่อยอดเรียนรู้ ช่วยเหลือปัญหาในแบบของตัวเอง

(ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้ใช้พลังทรัพย์ส่วนตัวในการผลิตสื่อเชิงสร้างสรรค์ให้ผู้ชมได้รับชมกันโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายมาตลอดระยะเวลา 4 ปี และ ยังจะทำต่อเนื่องแม้ว่าปิดการรับบริจาคแล้ว )

เงินบริจาค ฌอน บูรณะหิรัญ

3. ลงพื้นที่ บริจาคกำลังทรัพย์ ช่วยเหลือเร่งด่วน

3.1 ส่งทีมงานไปเป็นอาสาสมัครร่วมกับจิตอาสาในพื้นที่รอบเชียงใหม่ วัดผาลาด, ศูนย์ปฏิบัติการไฟป่าเชียงใหม่ (ส่งอาสาสมัครไปบริจาคเจลล้างมือ หน้ากาก ในช่วง Covid-19 เป็นช่วงรักษาระยะห่าง ทางสังคม Covid-19 และไม่มีการเก็บภาพใดๆ (ใบเสร็จต่างๆในการซื้ออุปกรณ์อยู่ในอัลบั้มรูปนี้)

3.2 ส่งตัวแทนบริจาคเป็นสิ่งของตามที่โรงพยาบาลและหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ ที่ขอความอนุเคราะห์เข้ามาเป็นลายลักษณ์อักษร มูลค่า 621,225 บาท (มีใบเสร็จทั้งหมดและเอกสารขอบคุณ) + ค่าขนส่งเอกชน 5,000 บาท

3.3 บริจาคด้วยเงินส่วนตัวด้านอาหารสำหรับผู้ขาดแคลนในเชียงใหม่ที่ต้องเจอทั้งสองวิกฤติในคราวเดียวกัน จำนวน 100,000 บาท (อุดหนุนร้านในท้องถิ่นและดำเนินการแจกจ่าย ทั้งออกนามและไม่ออกนาม ในวันที่ 29 เม.ย. -17 มี.ค.ที่ผ่านมา)

อ่านข่าวเพิ่มเติมคลิก 

Avatar photo