World News

ผู้ถือหุ้นอนุมัติ ‘ลุฟท์ฮันซา’ รับความช่วยเหลือกว่า 3 แสนล้านจากรัฐบาลเยอรมนี

ผู้ถือหุ้นลุฟท์ฮันซา ลงคะแนนอย่างล้นหลาม อนุมัติแผนฟื้นกิจการมูลค่า 9,000 ล้านยูโร หรือมากกว่า 300,000 ล้านบาท จากรัฐบาลเยอรมนี  ระหว่างการประชุมออนไลน์ สิ้นสุดการเจรจาที่ยืดเยื้อมานานหลายสัปดาห์ ถึงการให้ความช่วยเหลือสายการบินรายใหญ่สุดของเยอรมนี

การให้ความช่วยเหลือครั้งนี้ ที่ได้รับความเห็นชอบจากผู้ถือหุ้นถึง 98% จะทำให้รัฐบาลเยอรมนีเข้ามาถือหุ้น 20% ใน สายการบินรายใหญ่สุดของประเทศรายนี้  และมีที่นั่งในบอร์ดบริหาร 2 ที่นั่งด้วยกัน

ก่อนหน้านี้ มีความว่า แผนการดังกล่าวจะผ่านการเห็นชอบจากผู้ถือหุ้น 2 ใน 3 หรือไม่ จากการที่มีผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงลงชื่อเข้าร่วมประชุมไม่ถึง 40%

ผู้ถือหุ้นลุฟท์ฮันซา

ลุฟท์ฮันซา ซึ่งยกเลิกเที่ยวบินเกือบทั้งหมดมาเป็นเวลาหลายสัปดาห์ เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เปิดเผยเมื่อต้นเดือนนี้ว่า ในไตรมาสแรกของปี 2563 รายได้ของบริษัทลดลง 18% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ระดับ 6,400 ล้านยูโร ส่งผลให้บริษัทขาดทุนสุทธิ 2,100 ล้านยูโร

ในตอนนั้น คาร์สเทน สปอหร์ ซีอีโอ ลุฟท์ฮันซา กล่าวว่า การจราจรทางอากาศทั่วโลกที่แทบจะหยุดนิ่งในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการรายไตรมาสของบริษัทมากอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

เดือนเมษายนเพียงเดือนเดียว จำนวนผู้โดยสารของลุฟท์ฮันซาดิ่งลงไปถึง 98.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งสถานการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นกับทางสายการบินทำให้ผู้บริหารของลุฟท์ฮันซาได้ออกมากล่าวหลายครั้งว่า การที่ธุรกิจจะดำเนินต่อไปได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับเงินช่วยเหลือของรัฐบาล

ระหว่างการประชุมผู้ถือหุ้น ผู้บริหารได้แจ้งต่อ ผู้ถือหุ้นลุฟท์ฮันซา อย่างชัดเจนว่า บริษัทกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่เลงร้ายมากเพียงใด พร้อมเตือนว่า บริษัทจะล้มละลาย หากไม่ได้รับการช่วยเหลือในครั้งนี้

“เราไม่มีเงินแล้ว เรากำลังอยู่ได้ด้วยเงินสำรองที่กันเอาไว้ ถ้าหากไม่ได้รับความช่วยเหลือ ก็คงจะล้มละลายในอีกไม่กี่วันข้างหน้า” คาร์ล ลุดวิก เคลย์ ประธานกรรมการบริหารลุฟท์ฮันซา กล่าวต่อผู้ถือหุ้น

ส่วนไมเคิล นิกเกอมานน์ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายกิจการทรัพยากรบุคคล และกฎหมาย ของลุฟท์ฮันซา ระบุว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ภัยคุกคามเท่านั้น แต่เป็นอันตรายอย่างแท้จริง

อียูอนุมัติเยอรมนีอัดฉีดเงิน

การลงมติอนุมัติแผนการช่วยเหลือข้างต้น ยังเกิดขึ้นเพียงไม่กี่สัปดาห์ หลังจากคณะกรรมการด้านการผูกขาดตลาดของสหภาพยุโรป (อียู) อนุมัติการอัดฉีดเงินก้อนดังกล่าวของรัฐบาลเยอรมนี

อย่างไรก็ดี ลุฟท์ฮันซา จะต้องยกเลิกสิทธิพิเศษจำนวนหนึ่ง สำหรับช่องทางการขึ้นบิน และลงจอดในสนามบินแฟรงก์เฟิร์ต และมิวนิค ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขหลักในการเจรจาที่ยืดเยือมานานหลายสัปดาห์ และเป็นเรื่องที่อียูบอกว่า เพื่อรับประกันถึงการแข่งขันอย่างเป็นธรรม

ภายใต้กฎหมายของอียูนั้น ห้ามชาติสมาชิกจัดหาความช่วยเหลือทางการให้กับบริษัทแห่งชาติ เพราะอาจทำลายการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ในระบบตลาดเดี่ยวของกลุ่มอียูได้

แต่การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อหลายภาคอุตสาหกรรมอย่างหนักหน่วง โดยเฉพาะต่ออุตสาหกรรมการบิน ทำให้อียูเปิดทางที่จะผ่อนคลายข้อบังคับลงมา

ทางด้าน “ไรอันแอร์” คู่แข่งรายสำคัญของลุฟท์ฮันซา ประกาศว่า จะยื่นคัดค้านการตัดสินใจของอียู ที่ให้รัฐบาลเยอรมนีช่วยเหลือด้านการเงินกับลุฟท์ฮันซา โดยด้างว่า เป็นการทำลายการแข่งขันบนเส้นทางบินระยะสั้นในยุโรป

ผู้ถือหุ้นลุฟท์ฮันซา

แผนที่ ผู้ถือหุ้นลุฟท์ฮันซา อนุมัติ 

กองทุนสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจแห่งชาติ ของรัฐบาลเยอรมนี ที่ทำหน้าให้ความช่วยเหลือบริษัทต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้อนุมัติ “แพ็คเกจสร้างเสถียรภาพ” ให้กับสายการบิน และบอร์ดบริหารของบริษัท ก็สนับสนุนในข้อเสนอนี้

ตามข้อตกลงที่ทำไว้ รัฐบาลเยอรมนีจะอัดฉีดเงินให้กับลุฟท์ฮันซาสูงสุดที่ 6,200 ล้านดอลลาร์ โดยกำหนดอัตราผลตอบแทนไว้ที่ 4% สำหรับปีนี้ และปีหน้า ก่อนจะเพิ่มขึ้นในปีต่อไป นอกเหนือจากการจัดหาสินเชื่อสูงสุด 3,300 ล้านดอลลาร์นาน 3 ปึ โดยเงินส่วนใหญ่จะมาจาก “KFW” ธนาคารเพื่อการพัฒนาของรัฐ

รัฐบาลเยอรมนีจะเข้าถือหุ้น 20% ในลุฟท์ฮันซา โดยกำหนดราคาไว้ที่หุ้นละ 2.79 ดอลลาร์ หรือคิดเป็นมูลค่าราว 327 ล้านดอลลาร์ และได้รับสิทธิที่จะเพิ่มการถือหุ้นถึง 25% บวก 1 หุ้น ซึ่งจะทำให้มีความสามารถขัดขวางความพยายามที่จะเข้าถือครองกิจการสายการบินนี้ได้ และรัฐบาลเห็นพ้องที่จะขายหุ้นทั้งหมดภายในปี 2566 โดยที่จะต้องได้รับคืนเงินลงทุน 6,200 ล้านดอลลาร์เต็มจำนวน และราคาหุ้นที่ซื้อคืนจะต้องสูงกว่าราคาที่เข้าซื้อในขณะนี้

ก่อนหน้านี้ ลุฟท์ฮันซา  ก็เพิ่งประกาศปลดพนักงานครั้งใหญ่ จำนวน 2.2 หมื่นคน เพื่อเอาตัวรอดจากสถานการณ์การเดินทางทางอากาศที่ตกต่ำ เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

สายการบินกล่าวว่า การปลดพนักงานครึ่งหนึ่งจะเกิดขึ้นในประเทศเยอรมนี โดยบริษัทจะพยายามทำให้พนักงานที่ถูกปลด มีจำนวนน้อยที่สุด ด้วยมาตรการจ้างงานระยะสั้น และข้อตกลงที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติ

“เป้าหมาย คือ พยายามรักษาการจ้างงานให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในกลุ่มลุฟท์ฮันซ่า”

“ถ้าไม่ลดต้นทุนด้านบุคลากรลงอย่างมีนัยยะสำคัญระหว่างวิกฤติ เราจะพลาดโอกาสในการเริ่มต้นที่ดีกว่า และมีความเสี่ยงว่า กลุ่มลุฟท์ฮันซาจะฟื้นตัวจากวิกฤติด้วยความอ่อนแออย่างมีนัยยะสำคัญ”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo