Telecommunications

เสียงจากซีอีโอดีแทคขอความเป็นธรรม ‘มาตรการเยียวยา’

อเล็กซานดรา ไรช์
อเล็กซานดรา ไรช์

เริ่มงานสัปดาห์แรกก็เจองานหนักเลยสำหรับ “อเล็กซานดรา ไรช์” ซีอีโอดีแทคที่เพิ่งรับตำแหน่งใหม่สด ๆ ร้อน ๆ ล่าสุด วันนี้ ได้ออกมาแถลงเกี่ยวกับทิศทางขององค์กรในสถานการณ์ที่ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องมาตรการเยียวยากรณีสิ้นสุดสัมปทาน โดยได้ยกกรณีของเอไอเอส และทรู ที่เคยได้รับการเยียวยาก่อนหน้ามาเป็นกรณีศึกษา

โดยจุดที่นางอเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอคเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ยกขึ้นมาก็คือเหตุการณ์เมื่อปี 2556 ที่คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ของ TRUE และ DPC (บริษัทในเครือ AIS) สิ้นสุดสัมปทาน

โดยในขณะนั้น กสทช. ได้ออกประกาศมาตรการเยียวยาฯ โดยให้ผู้ใช้บริการของ TRUE และ DPC (บริษัทในเครือ AIS) ได้รับความคุ้มครองทั้งสิ้นเป็นระยะเวลา 1 ปีหลังจากสิ้นสุดสัมปทาน และในช่วงเวลาที่ผู้ใช้บริการได้รับความคุ้มครองอยู่นั้น คสช. ได้มีคำสั่งให้ชะลอการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวออกไปอีก 1 ปี โดยให้นำมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการตามประกาศมาตรการเยียวยาฯ มาใช้บังคับในระยะเวลาที่ระหว่างที่ชะลอการประมูล

อีกทั้งเมื่อระยะเวลาที่ถูกขยายตามคำสั่ง คสช. ดังกล่าวกำลังจะสิ้นสุดลง คสช. ก็ได้สั่งการให้ กสทช. คุ้มครองผู้ใช้บริการต่อไปจนกว่าการประมูลจะสิ้นสุดลง จนในที่สุดได้สิ้นสุดลงในปี 2558 เมื่อ TRUE และ AIS ชนะการประมูล รวมระยะเวลาที่ TRUE และ DPC ให้บริการต่อไปตามประกาศมาตรการเยียวยาฯ เป็นเวลาทั้งสิ้น 2 ปี 2 เดือนหลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุด

Screenshot 20180828 162100

หรือในกรณีของเอไอเอสนั้น ดีแทคก็มองว่าเป็นเรื่องน่าสนใจ เพราะเมื่อคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ของเอไอเอสสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2558 เอไอเอสก็ได้เข้าสู่ประกาศมาตรการเยียวยาฯ โดยอัตโนมัติเนื่องจากยังไม่มีผู้ให้บริการรายใหม่เข้ามารับช่วงต่อคลื่นความถี่ดังกล่าว

หลังจากนั้นจึงได้มีการจัดการประมูลคลื่นความถี่ขึ้น โดย TRUE และ JAS Mobile เป็นผู้ชนะการประมูล และเมื่อ TRUE ได้รับใบอนุญาตแล้ว กทค. ได้มีคำสั่งให้เอไอเอสยุติการให้บริการในวันถัดมา เอไอเอสจึงได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางและศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามมติ กทค. ประกอบกับ JAS Mobile ได้ทิ้งใบอนุญาต ส่งผลให้ผู้ใช้บริการของ AIS ได้รับความคุ้มครองตามประกาศมาตรการเยียวยาฯ ต่อไป

จนกระทั่งมีการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz อีกครั้งเสร็จสิ้นในปี 2559 และเอไอเอสชนะการประมูล รวมระยะเวลาที่เอไอเอสให้บริการต่อไปตามประกาศมาตรการเยียวยาฯ เป็นเวลาทั้งสิ้น 8 เดือนหลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลง

Screenshot 20180828 164808

“ดีแทคมีลูกค้าในโครงข่าย 850 MHz ที่ต้องโอนย้ายอยู่ประมาณ 400,000 ราย ซึ่งส่วนมากพบว่าเป็นผู้สูงอายุ (และใช้มือถือรุ่นเก่า) อีกทั้งยังพบว่าส่วนมากอยู่ในพื้นที่ห่างไกลยากแก่การติดต่อ จึงมองว่า อยากขอเวลาอีกระยะหนึ่งเพื่อให้กระบวนการโอนย้ายลูกค้ากลุ่มนี้ทำได้อย่างเรียบร้อย” นางอเล็กซานดรากล่าว

พร้อมกันนั้น นางอเล็กซานดราเผยว่า นี่เป็นเวลาสำคัญในการพิสูจน์ความเป็นซีอีโอของเธอด้วยเช่นกัน โดยภารกิจสำคัญ 3 ประการที่เธอและดีแทคต้องทำก็คือ

  • ต้องคุ้มครองผู้ใช้บริการให้ใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง
  • ต้องซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา ในการชี้แจงกับลูกค้า
  • ต้องหาวิธีในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ

สำหรับกรณีที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าดีแทคต้องการใช้คลื่นฟรีนั้น นางอเล็กซานดรา เผยว่า การใช้คลื่นในช่วงเยียวยานั้น  ดีแทคจะไม่ได้ผลกำไรแม้แต่บาทเดียว เพราะดีแทคต้องส่งต่อให้ กสทช. แล้ว กสทช. ส่งเข้ารัฐ วัตถุประสงค์ในการขอเยียยวยานั้นมีเพียงเรื่องเดียว นั่นคือเพื่อให้ลูกค้าของดีแทคมีช่วงเวลาในการโอนย้ายอย่างเหมาะสม

“หากจะมองว่าการที่ TRUE และ DPC ได้รับความคุ้มครองตามประกาศมาตรการเยียวยาฯ เพราะยังไม่มีการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz หลังสิ้นสุดสัมปทาน ทำให้ผู้ใช้บริการอาจไม่สามารถใช้บริการอย่างต่อเนื่องได้นั้น ในช่วงเวลาดังกล่าว ดีแทคยังคงให้บริการอย่างเดียวกันบนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz เช่นเดียวกัน จึงไม่ใช่กรณีที่ผู้ใช้บริการไม่มีทางเลือกอื่นใดในการจะใช้บริการอย่างต่อเนื่องได้ แต่เมื่อผู้ใช้บริการไม่ประสงค์ที่จะย้ายค่าย ผู้ใช้บริการของ TRUE และ DPC ก็ได้รับความคุ้มครองให้สามารถใช้บริการต่อไปได้ ผู้ใช้บริการของ ดีแทคที่ไม่ประสงค์จะย้ายค่ายก็ควรได้รับความคุ้มครองเช่นเดียวกัน”

หรือในกรณีที่ผ่านมามีกระแสข่าวว่า dtac ไม่ยอมเข้าร่วมประมูล จึงไม่ควรมีการบังคับใช้ประกาศมาตรการเยียวยาฯ กับกรณีของดีแทค ข้อเท็จจริงก็คือ คลื่นความถี่ที่ดีแทคถือครองอยู่เป็นคลื่นความถี่ย่าน 850 MHz แต่การจัดประมูลเป็นการจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ซึ่งเป็นคนละคลื่นความถี่กัน ประกอบกับที่ผ่านมามีความไม่แน่นอนในการจะนำคลื่นความถี่ใดออกประมูลหรือไม่ออกประมูลมาโดยตลอด ดีแทคจึงไม่อาจทราบได้แน่ว่าจะมีการนำคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ออกประมูลหรือไม่อย่างไร

ดังนั้น แม้ดีแทคจะเข้าร่วมและชนะการประมูลดังกล่าว ดีแทคก็อาจต้องใช้เวลาประมาณอย่างน้อย 2 ปี เพื่อเตรียมการสำหรับให้บริการบนคลื่นความถี่ใหม่ ผู้ใช้บริการของดีแทคจึงมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับความคุ้มครองตามประกาศมาตรการเยียวยาฯ ในระหว่างที่ดีแทคยังไม่พร้อมเริ่มให้บริการเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ การจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ยังมีการกำหนดเงื่อนไขไว้ใบอนุญาตให้ผู้ชนะการประมูลต้องรับผิดชอบแก้ไขปัญหาเรื่องคลื่นรบกวนทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว พร้อมทั้งติดตั้งระบบป้องกันการกวนสัญญาณทั้งหมด อีกทั้ง กสทช. ยังสงวนสิทธิ์ปรับเปลี่ยนช่วงคลื่นความถี่ได้กรณีจำเป็น ฯลฯ ซึ่งเงื่อนไขต่างๆ ทั้งหมดก่อให้เกิดต้นทุนสูงมากและไม่มีใครสามารถระบุได้แน่นอนว่าจำนวนเงินที่แท้จริงจะเป็นเท่าใด อีกทั้งยังมีความไม่แน่นอนหากมีการปรับเปลี่ยนช่วงคลื่นอาจทำให้ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่ทั้งหมด ความเสี่ยงดังกล่าวจึงทำให้ดีแทคไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้เช่นเดียวกันกับที่ไม่มีผู้ประกอบการรายใดเข้าร่วมการประมูลเช่นกัน

Avatar photo