Business

ด่วน! ‘สายการบินนกสกู๊ต’ แจ้งปิดกิจการ เลิกจ้าง 425 ชีวิต (อัพเดต)

ด่วน! “สายการบินนกสกู๊ต” ทนพิษไวรัสโควิด-19 ไม่ไหว แจ้งยกเลิกกิจการ ปิดฉากสายการบินอย่างเป็นทางการ เลิกจ้าง 425 คน

เมื่อเวลาประมาณ 17.30 น. วันนี้ (26 มิ.ย. 63) สายการบินนกสกู๊ต ได้ส่งหนังสือแจ้งผู้สื่อข่าวว่า สายการบินนกสกู๊ตรู้สึกเสียใจอย่างยิ่งที่จะประกาศให้ทราบว่า คณะกรรมการ (บอร์ด) ของบริษัทได้มีมติ “เลิกกิจการ” โดยผู้ถือหุ้นของนกสกู๊ตจะลงมติเป็นอย่างเดียวกันในที่ประชุมใหญ่ที่จะมีขึ้นในอีกประมาณ 14 วัน

สายการบินนกสกู๊ต

หลังจากนกสกู๊ต สายการบินร่วมทุนราคาประหยัดระหว่างสายการบินนกแอร์ของคนไทย และสายการบินสกู๊ต จากประเทศสิงคโปร์ ก่อตั้งขึ้นในปี 2557 นกสกู๊ตได้ดำเนินธุรกิจท่ามกลางความท้าทายในสถานการณ์ต่างๆ รวมถึงข้อจำกัดในการขยายเครือข่ายการบินภายใต้สภาพแวดล้อมการแข่งขันที่รุนแรงและการระบาดของโควิด-19 ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงอย่างรุนแรง ด้วยเหตุนี้บอร์ดของบริษัทจึงไม่เห็นหนทางสู่การฟื้นตัวและการเติบโตที่ยั่งยืนของสายการบินอีกต่อไป

จนถึงปัจจุบัน มีพนักงานนกสกู๊ตที่ถูกเลิกจ้างจำนวน 425 คน โดยสายการบินนกสกู๊ตได้ชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานอย่างถูกต้อง ทั้งนี้พนักงานจำนวนหนึ่งยังคงปฎิบัติหน้าที่ เพื่อดำเนินการกระบวนการชำระบัญชีให้เสร็จสมบูรณ์ และพนักงานกลุ่มนี้จะได้รับการชดเชยอย่างถูกต้องเช่นเดียวกัน

นกสกู๊ตจะชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมอีกครั้งเมื่อได้มีการแต่งตั้งผู้ชำระบัญชี และจัดให้เจ้าหนี้ได้ยื่นข้อเรียกร้อง

นกสกู๊ตขอขอบคุณ ลูกค้า ผู้โดยสาร  พันธมิตร และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนสำหรับการสนันสนุนอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2557

สายการบินนกสกู๊ต

“นกแอร์” แจ้งตลาดเลิกกิจการ นกสกู๊ต

ด้าน บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK ผู้ถือหุ้นสายการบินนกสกู๊ต ส่งหนังสือแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ที่ประชุมบอร์ดบริษัทวาระพิเศษ ครั้งที่ 5/2563 เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2563 ได้มีมติรับทราบการเลิกกิจการและชำระบัญชีของสายการบินนกสกู๊ต โดยมีบริษัท นกมั่งคั่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท เข้าถือหุ้นในสัดส่วน 49.65% ของทุนจดทะเบียน หรือคิดเป็น 1,470 ล้านบาท

เนื่องจากบริษัท สายการบินนกสกู๊ต มีผลขาดทุนจากการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานอีกด้วย

ทั้งนี้ บอร์ดสายการบินนกสกู๊ต ครั้งที่ 4/2563 เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2563 ได้กำหนดจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2563 ในวันที่ 14 กรกฎาคม 2563 เพื่อเสนอต่อที่ประชุมให้พิจารณาอนุมัติการเลิกกิจการและการชำระบัญชีต่อไป

ทั้งนี้ บริษัท สายการบินนกสกู๊ต จำกัด มีส่วนของผู้ถือหุ้นขาดทุนเกินทุน มีทรัพย์สินและสัดส่วนรายได้เฉลี่ยคิดเป็น 37.16% และ 37.10% ของบริษัท ในปี 2562 ตามลำดับ

สายการบินนกสกู๊ต

อย่างไรก็ตาม การเลิกกิจการของบริษัท สายการบิน นกสกู๊ต จำกัด นั้นไม่ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินของบริษัท สำหรับการดำเนินธุรกิจต่อไปนั้น เส้นทางที่เป็นสิทธิการบินที่สายการบินนกสกู๊ต มีอยู่นั้นจะหยุดให้ดำเนินการ ดังนี้

  • เส้นทางบินจีน ได้แก่ นานจิง ชิงเต่า เทียนจิน เฉินหยาง
  • เส้นทางบินไต้หวัน ได้แก่ ไทเป เส้นทางบินญี่ปุ่น ได้แก่ นาริตะ โอซาก้า ซัปโปโร
  • เส้นทางบินอินเดีย ได้แก่ เดลลี

เส้นทางบินเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลกระทบในการดำเนินธุรกิจของบริษัททั้งทางตรงและทางอ้อมแต่อย่างใด

ในส่วนของบริษัทนั้น ยังคงให้บริการในเส้นทางบินในประเทศเป็นหลัก และเส้นทางบินระหว่างประเทศที่มีสิทธิการบินเป็นของตนเอง ได้แก่ เส้นทางบินเมียนมา ได้แก่ ย่างกุ้ง เส้นทางบินเวียดนาม ได้แก่ โฮจิมินห์ และเส้นทางบินญี่ปุ่น ได้แก่ ฮิโรชิม่า และบริษัทจะแจ้งการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีของบริษัท สายการบินนกสกู๊ต จำกัด ให้ทราบต่อไป

กกก

เปิดตั้งแต่ปี 57 ไม่เคยมีกำไร

ด้านสายการบินสกู๊ต ซึ่งเป็นเจ้าของ 49% ของสายการบินนกสกู๊ตแจ้งว่า ขอแสดงความเสียใจในการประกาศว่า บอร์ดของ สายการบินนกสกู๊ต ได้มีมติในวันนี้ที่จะขอยุติกิจการของสายการบิน ผู้ถือหุ้นของสายการบินนกสกู๊ตจะพิจารณาตามมติเดียวกันนี้ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นที่จะมีขึ้นในอีกประมาณ 14 วัน

สายการบินนกสกู๊ตซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างสายการบินสกู๊ตและสายการบินนกแอร์ของประเทศไทย ไม่สามารถทำกำไรได้ทั้งปีนับตั้งแต่ที่สายการบินได้ก่อตั้งขึ้นในปี 2557 โดยปัจจัยส่วนใหญ่มาจากความยากลำบากในการขยายเส้นทาง และสภาวะแวดล้อมที่มีการแข่งขันสูง รวมถึงความท้าทายที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนจากวิกฤตการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลง

ด้วยเหตุนี้ สายการบินสกู๊ตจึงไม่เห็นหนทางในการฟื้นฟูและการเติบโตที่ยั่งยืนของสายการบินนกสกู๊ต สายการบินสกู๊ตได้พิจารณาทางเลือกอื่น ๆ ที่เป็นไปได้ ด้วยการเสนอขายหุ้น 49% ในสายการบินนกสกู๊ตให้กับสายการบินนกแอร์ด้วยมูลค่ารวมที่ 1 บาท แต่ข้อเสนอนี้ไม่ได้รับความเห็นชอบ

เราจึงรู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่งหลังจากที่ได้มีการตัดสินใจร่วมกันแล้วว่า เราขอยุติกิจการสายการบินนกสกู๊ต

สายการบินสกู๊ตรู้สึกซาบซึ้งใจเป็นอย่างมากที่ผู้เดินทางและลูกค้าชาวไทยทุกท่านให้การสนับสนุนแก่สายการบินนกสกู๊ตมาโดยตลอดนับตั้งแต่ปี 2557

ประเทศไทยยังคงเป็นตลาดที่สำคัญสำหรับกลุ่มบรรษัทสิงคโปร์แอร์ไลน์ สายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ ซิลค์แอร์ และสกู๊ตมุ่งมั่นที่จะให้บริการลูกค้าในประเทศไทยต่อไปด้วยการดำเนินงานที่มีอยู่

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo