General

อภัยภูเบศร วอนรัฐหนุน คุ้มครอง ‘สายพันธุ์สมุนไพรไทย’ รับมือ CPTPP

อภัยภูเบศร รับมือ CPTPP วอนรัฐ สนับสนุน การวิจัย รวบรวม สายพันธุ์สมุนไพรไทย เพื่อคุ้มครอง แสดงความเป็นเจ้าของสิทธิ ก่อนเสียเปรียบต่างประเทศ

ดร.ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เปิดเผยว่า ขอเรียกร้องให้รัฐบาล สนับสนุนงบประมาณและทรัพยากร ในการสำรวจพืชพรรณสมุนไพรในประเทศ และจัดทำเป็นฐานข้อมูล ซึ่งควรจะลึกถึงระดับพันธุกรรม เพื่อเตรียม รับมือ CPTPP

รับมือ CPTPP

ทั้งนี้เนื่องจากในอนาคต หากประเทศไทยเข้าร่วม หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกหรือ CPTPP  กรอบความร่วมมือนี้ จะคุ้มครองนักปรับปรุงสายพันธุ์ หากประเทศไทย ไม่มีฐานข้อมูล สมุนไพรไทย หรือสมุนไพรพื้นบ้านอยู่ คงไม่สามารถ รับมือ CPTPP และไม่สามารถทวงสิทธิความเป็นเจ้าของได้ หากถูกเอาเปรียบ

นอกจากนี้ การมีฐานข้อมูล สมุนไพรไทย จะทำให้ประเทศไทยสามารถสร้างแตกต่างในการแข่งขัน ในการที่จะบอกได้ว่า สมุนไพรไทย หรือพืชชนิดนี้ มีเฉพาะในประเทศไทย และนำมาใช้ในการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์

สำหรับ การเข้าร่วม CPTPP หรือไม่นั้น ประเทศไทยคงต้องมองในภาพกว้าง ว่าสิ่งใดได้และสิ่งใดจะเสีย และสิ่งที่เสียนั้นคุ้มค่าแก่การเสียหรือไม่ ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่า ควรมีการศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะด้านความมั่นคงทางสุขภาพ

ดร.ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร
ดร.ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร

“จากประสบการณ์โควิด-19 ทำให้เราเรียนรู้ว่า ความมั่นคงทางยาและอาหาร สำคัญมาก เราไม่มีเงิน แต่เรามีข้าว อาหาร และยา เราอยู่ได้ เราหลายคนเริ่มตระหนักว่า วัตถุดิบด้านยา เราต้องมีภายในประเทศของเรา เพราะเราเกือบขาดยาโรคเรื้อรังหลายชนิด จากการไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบจากอินเดียได้”ดร.ภญ.สุภาภรณ์ กล่าว

ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ การยกระดับความสามารถ ในการพึ่งตนเองของประเทศ ด้วย สมุนไพรไทย ด้วยการสำรวจพืชพรรณสมุนไพรในประเทศ และจัดทำเป็นฐานข้อมูล เพื่อป้องกันการขาดแคลนในอนาคต

ที่ผ่านมา โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร มีการสำรวจพืชพรรณ สมุนไพรไทย ร่วมกับเครือข่ายอยู่แล้ว ทำให้มีข้อมูล ที่สามารถหยิบฉวยมาใช้ เมื่อเกิดวิกฤติ เช่น การสกัดกระชายให้กับมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อศึกษาฤทธิ์การต้าน โควิด-19 เป็นต้น

สมุนไพร

นอกจากนี้ ในงานครบรอบ 79 ปีโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ที่ผ่านมา ก็ได้มีการแจกต้นสันพร้าหอม ที่คนไทยในภาคเหนือใช้แก้หวัด และมีการศึกษาในเกาหลีพบว่ามีฤทธิ์ปรับภูมิคุ้มกัน (immunomulator) สิ่งเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่ เป็นการต่อยอดจากองค์ความรู้ของบรรพชน ในเรื่องของ สมุนไพรไทย

ป้จจุบัน โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้ร่วมกับเครือข่ายนักวิจัย จัดโครงการสำรวจกัญชาสายพันธุ์ไทย ก็หวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อให้มีฐานข้อมูล ที่เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมไทยได้ ในอนาคต

“การลงทุนในเรื่องนี้ จำเป็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ เพราะการระบาดของ โควิด-19 ยังมีอยู่ทั่วโลก เราไม่อาจวางใจได้ และในอนาคตอาจมี โรคระบาดใหม่เกิดขึ้น เราคงไม่อาจรอคอยที่จะสร้างความมั่นคงทางด้านสุขภาพได้อีกต่อไป”ดร.ภญ.สุภาภรณ์ กล่าว

สำหรับ CPTPP ย่อมาจาก  Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership คือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ปัจจุบันมีสมาชิก 11 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม แต่มีเพียง 7 ประเทศที่ให้สัตยาบันเข้าร่วม ได้แก่ เม็กซิโก ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ แคนาดา ออสเตรเลีย และเวียดนาม

ข้อตกลงนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงมาจาก TPP (Trans-Pacific Partnership) ข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ซึ่งเคยมีสหรัฐเข้าร่วมด้วย แต่ภายหลังได้ถอนตัวออกไปเมื่อปี 2560

แต่ประเทศสมาชิกที่เหลือ ยังเดินหน้าความตกลงต่อภายใต้ชื่อใหม่นี้  โดยครอบคลุมการค้า การบริการ และการลงทุน เพื่อสร้างมาตรฐาน และกฎระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก รวมถึงการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม กลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาล และนักลงทุนต่างชาติ

รายละเอียดในข้อตกลงมีอยู่หลายอย่าง ที่ทำให้ภาคประชาสังคมเกิดความกังวล โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า หากรัฐบาลไทยลงนามในข้อตกลง CPTPP แล้ว จะนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายด้านการเกษตร ทำให้เกษตรกรทั่วประเทศไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชไว้เพาะปลูกได้ และจะต้องซื้อผ่านบริษัทด้านอุตสาหกรรมเกษตรเท่านั้น ซึ่งถือเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรในภาวะเศรษฐกิจ และราคาพืชผลที่ตกต่ำ ส่งผลดีต่อกลุ่มทุนยิ่งได้กำไร อีกทั้งจะยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยให้มากขึ้นไปอีก

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo