Economics

‘สศช.’ เคาะโครงการฟื้นฟูล็อตแรก 8 หมื่นล้าน! เตรียมชงครม. 8 ก.ค.นี้

“สศช.” เคาะโครงการฟื้นฟูล็อตแรกเสร็จแล้ว คาดจะปรับลดวงเงินจากที่ขอเข้ามา 110,000 ล้านบาท เหลือประมาณ 70,000-80,000 ล้านบาท เตรียมเสนอครม. 8 ก.ค.นี้

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงความก้าวหน้าการดำเนินการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบของโควิด-19 กรอบวงเงิน 400,000 ล้านบาท ภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 ว่า จากจำนวนข้อเสนอโครงการแผนงาน รวมทั้งสิ้นกว่า 46,429 โครงการ เป็นเงินกว่า 1.456 ล้านล้านบาท ข้อมูล ณ วันที่ 24 มิถุนายน 2563 นั้น

สศช.

สศช. ได้พิจารณารอบแรกเสร็จเมื่อเวลา 02.00 น.เช้าวันนี้ (26 มิ.ย.) มีข้อเสนอโครงการที่ผ่านการพิจารณา 213 โครงการ รวมวงเงินประมาณ 101,482.28 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 แผนงาน คือ

1. แผนงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก 58,069.70 ล้านบาท
2. แผนงานสร้างความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน 20,989.81 ล้านบาท
3. แผนงานกระตุ้นอุปโภค บริโภค และการกระตุ้นการท่องเที่ยว วงเงิน 22,422.77 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ทาง สศช. และคณะอนุกรรมการจะพิจารณารกลั่นกรองพิจารณาอีกครั้ง คาดว่าวงเงินจะลดลงเหลือประมาณ 70,000-80,000 ล้านบาท จากนั้นจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 8 กรกฎาคมนี้

ส่วนโครงการชุดที่ 2-3 จะดำเนินการนำเสนอ ครม. เดือนสิงหาคมและกันยายนต่อไปตามลำดับ โครงการที่ผ่านมาการพิจารณาชุดแรกนี้ คาดว่าจะก่อให้เกิดผลต่อระบบเศรษฐกิจเกิดมูลค่าผลผลิตใหม่อย่างน้อยเกือบ ๆ 2 เท่า จ้างงานประมาณ 410,415 คน สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน/ตำบล 79,604 หมู่บ้าน 3,000 ตำบล

นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการ สศช. กล่าวถึง โครงการที่ไม่ผ่านการพิจารณาของ สศช.ว่า คณะอนุกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่าโครงการที่เสนอมาบางอันแม้ชื่อโครงการดูดี แต่รายละเอียดเมื่อพิจารณา กลับพบว่า ไม่ก่อให้เกิดการจ้างงาน หรือ สร้างอาชีพ และบางโครงการเงินที่จ่ายออกไปผู้ได้รับเงิน คือ กิจการเอกชน

สำหรับโครงการอนุมัติรอบแรก จะเริ่มดำเนินการเดือนกรกฎาคม 2563 มีโครงการสำคัญตามเป้าหมาย 3 ประการ ได้แก่

เป้าหมายที่ 1 การสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานรากและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่

1. เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก อาทิ โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” (แผนงาน 3.2) มูลค่า 4,953.79 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะจ้างงานเกษตรกรราว 9,188 คน โครงการพัฒนาตำบลแบบบูรณาการ (แผนงาน 3.2) ซึ่งเป็นการใช้ Big Data เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจน มูลค่า 2,701.88 ล้านบาท

โดยคาดว่า จะจ้างงานประชาชนในพื้นที่ประมาณ 14,510 คน โครงการอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่นเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (แผนงาน 3.2) มูลค่า 1,080.59 ล้านบาท จ้างงานประชาชนประมาณ 15,548 คน ดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงจำนวน 710,518 คน

สศช.

2. เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (แผนงาน 3.4) ซึ่งจะมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งส่วนที่เป็นปัจจัยการผลิตและการดำรงชีพของประชาชน รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางดิจิทัล ประยุกต์ใช้ในการสนับสนุนและรองรับการพัฒนาฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก เพิ่มศักยภาพและยกระดับสาขาเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ

โดยเฉพาะการสนับสนุนให้เกษตรกรทุกพื้นที่สามารถจำหน่ายสินค้าเกษตรให้กับผู้บริโภคได้โดยตรง และผู้บริโภคก็ซื้อสินค้าเกษตรได้โดยตรงเช่นกัน โดยรอบแรกจะบูรณาการแผนงาน/โครงการของหน่วยงานทั้งในส่วนจังหวัดและส่วนราชการ

ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่ส่งเสริมกิจการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม เช่น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น รวมทั้งประสานหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับระบบโลจิสติกส์ อาทิ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และการรถไฟแห่งประเทศไทย

เป้าหมายที่ 2 การลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนในอนาคต อาทิ โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด (แผนงาน 3.1) มูลค่า 13,904.50 ล้านบาท คาดว่าจะสร้างรายได้ให้เกษตรกรประมาณ 8,293.43 ล้านบาท โครงการสร้างความเข้มแข็งศูนย์ข้าวชุมชน มูลค่า 900.00 ล้านบาท คาดว่าจะสร้างงานให้เกษตรกรประมาณ 600 คน ศูนย์นวัตกรรมการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรมการเกษตร อาหารและการแพทย์ (แผนงาน 3.1) มูลค่า 1,264.40 ล้านบาท

โดยคาดว่า จะทำให้เกิดการจ้างงานประมาณ 2,500 คน และโครงการยกระดับนวัตกรรมแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์สู่ตลาด ท่องเที่ยวคุณภาพตามวิถีนิวนอมอล (Innovative CBT for New Normal) (แผนงาน 3.1) มูลค่า 460 ล้านบาท โดยคาดว่าจะกระจายรายได้สู่ชุมชน นักศึกษา/บัณฑิตตกงานและผู้ประกอบการประมาณ 65 ล้านบาท

เป้าหมายที่ 3 กระตุ้นการอุปโภคบริโภค การท่องเที่ยวในประเทศ (แผนงาน 3.3) ประกอบด้วย โครงการ “เราไปเที่ยวกัน” โครงการ “เที่ยวปันสุข” และโครงการ “กำลังใจ” รวมมูลค่า 22,400 ล้านบาท โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้ประมาณ 52,400 ล้านบาท

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo