General

‘วันต่อต้านยาเสพติดโลก’ สร้าง ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ป้องกันหน้าใหม่ เสพยา

“วันต่อต้านยาเสพติดโลก” ตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปี มีจุดเริ่มจากการประชุมระหว่างประเทศ ว่าด้วยการใช้ยาในทางที่ผิด และการลักลอบใช้ยาเสพติด (International Conference on Drug Abuse and licit Trafficking ICDAIT) ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ในปี 2530

ที่ประชุมฯ ได้มีมติให้เสนอสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly) กำหนดวันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี เป็น “วันต่อต้านยาเสพติดโลก” โดยที่ประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติ มีมติเห็นชอบเมื่อเดือนธันวาคม 2530 และเริ่มใช้ ตั้งแต่ปี 2531 เป็นต้นมา

วันต่อต้านยาเสพติดโลก

ในประเทศไทย สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ได้นำมติเรื่อง วันต่อต้านยาเสพติด ขององค์การสหประชาชาติ เสนอต่อคณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2531 ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติ ให้กำหนดวันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันต่อต้านยาเสพติด โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2531 เป็นต้นมา

สำหรับปีนี้ ป.ป.ส. ได้กำหนดกรอบแนวทาง การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างการรับรู้ เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลก 26 มิถุนายน ประจำปี 2563 โดยรณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ใน วันต่อต้านยาเสพติดโลก “พื้นที่ปลอดภัย ไม่มีคนหน้าใหม่ เพราะคนรุ่นใหม่ ไม่ใช้ยาเสพติด” (Save Zone , No New Face)

ด้าน กรมการแพทยฺ์ โดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด แห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) เผยการแก้ไข ปัญหายาเสพติด ให้เกิดประสิทธิภาพ  และมีความยั่งยืน ต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชน สร้างพื้นที่ปลอดภัย ป้องกันคนหน้าใหม่ ไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด พร้อมแนะ หากพบผู้เสพต้องรีบพาไปปรึกษาแพทย์

วันต่อต้านยาเสพติดโลก

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดี กรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัญหายาเสพติด มีการเปลี่ยนแปลงแพร่ระบาด เข้าสู่หมู่บ้าน และชุมชน ทั่วประเทศ ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง และความปลอดภัยของประชาชน เป็นสาเหตุของการเกิดปัญหาอาชญากรรม ที่เกี่ยวเนื่องมาจาก ยาเสพติดหลายพื้นที่

ทั้งนี้ การเสพยาและสารเสพติด มีอันตรายต่อร่างกายผู้เสพ ทำลายระบบต่างๆ ในร่างกาย ทำให้เกิดอาการประสาทหลอน หูแว่ว หวาดระแวง เห็นภาพหลอน คลุ้มคลั่ง ทำร้ายตัวเอง และอาจทำร้ายผู้อื่น ทำให้เกิดโรคสมองติดยา โดยสมองในส่วนการควบคุมความคิด จะถูกทำลาย การใช้ความคิดที่เป็นเหตุเป็นผล เสียไป ทำให้ผู้เสพมีพฤติกรรมก้าวร้าว หงุดหงิด อารมณ์รุนแรง ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ เสี่ยงต่อการเกิดอาการทางจิตประสาท อย่างถาวร

ยาเสพติก

สิ่งที่สำคัญ ส่งผลต่อคนในครอบครัว เมื่อมีผู้เสพในบ้านจะทำให้คนในครอบครัวอยู่อย่างไม่มีความสุข อยู่อย่างหวาดกลัวจากพฤติกรรมผู้เสพ และยังส่งผลต่อชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการเกิดปัญหา ทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกาย ปัญหาการลักทรัพย์ ปัญหาอาชญากรรม

ปัญหายาเสพติด จึงเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง และเร่งด่วน แต่หากจะอาศัยแต่เพียง กลไกของภาครัฐเพียงอย่างเดียว อาจจะประสบผลสำเร็จได้ยาก ประชาชนในพื้นที่จึงเป็นกำลังสำคัญ ที่จะทำให้การแก้ไข ปัญหายาเสพติด ให้เกิดประสิทธิภาพ และมีความยั่งยืน

พิษยาเสพติด

“ประชาชนสามารถมีส่วนร่วม ในการป้องกันและแก้ไข ปัญหายาเสพติด ด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดให้กับคนในชุมชน รวมทั้งป้องกันกลุ่มคนหน้าใหม่ ไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด รวมถึงดูแลกลุ่มผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดในหมู่บ้าน และชุมชนให้ลดลง”นายแพทย์สมศักดิ์ กล่าว

นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กล่าวเพิ่มเติมว่า สถาบันฯ มีภารกิจในการบำบัดรักษายาเสพติดทุกชนิด โดยมีการบำบัดรักษายาเสพติด 2 รูปแบบ คือ 1. รูปแบบผู้ป่วยนอก ให้การรักษาในรูปแบบกาย จิต สังคมบำบัดแบบไปกลับ และ 2. รูปแบบผู้ป่วยใน เน้นกระบวนการบำบัด ให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายและจิตใจ ให้เข้มแข็ง โดยมีครอบครัวเป็นหลักสำคัญ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

 

Avatar photo