COVID-19

เปิดเบื้องลึก ถก ‘Travel Bubble’ ถอดโมเดลนอก ขับเคลื่อนไทย

เบื้องลึก Travel Bubble ถอดโมเดลต่างประเทศ ปรับใช้กับไทย วางหลักการ จับคู่ประเทศ ที่มีความเสี่ยงต่ำ เปิดเฉพาะกลุ่ม ลดความเสี่ยง

หลังจาก คณะกรรมการประมวลสถานการณ์กระทรวงสาธารณสุข (MIU) ได้จัดทำข้อสรุป มาตรการจับคู่เดินทางระหว่างสองประเทศ ที่สามารถจัดการเรื่องโควิด 19 ได้ดีเท่า ๆ กัน หรือ Travel Bubble ซึ่งกว่าจะออกมาเป็นข้อสรุปดังกล่าว มี เบื้องลึก Travel Bubble ในการพิจารณา เพื่อหามาตรการที่ดีที่สุด

เบื้องลึก Travel Bubble

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหน่วยงาน ที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรง กับการควบคุม ป้องกัน การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้นำแนวทางการ เปิด Travel Bubble ของหลายประเทศ ที่ได้ดำเนินการแล้ว มาพิจารณา เช่น ประเทศสิงคโปร์ ที่จับคู่กับจีน ในบางเมือง ที่มั่นใจว่ามีความปลอดภัย ประเทศอิสราเอล ที่จับคู่กับ กรีซ/ไซปรัส และประเทศในกลุ่มบอลติก 3 ประเทศ คือ เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิธัวเนีย รวมถึง ออสเตรเลียที่จับคู่กับนิวซีแลนด์

นอกจากนี้ ยังได้ถอดโมเดล การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ของประเทศจอร์เจีย เพื่อใช้เป็นแนวทางกำหนดเป็นมาตรการ เพื่อขับเคลื่อน Travel Bubble -ของไทย ซึ่งทั้งหมดนี้ คลอดออกมาเป็นมาตรการ 5 ขั้นตอน ได้แก่ มาตรการก่อนเดินทางจากประเทศต้นทาง, ระหว่างการเดินทาง, เมื่อมาถึงสนามบิน, การเดินทางและการเข้าพักในที่พัก และ มาตรการระหว่างการอยู่ในประเทศไทย

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการประมวลสถานการณ์กระทรวงสาธารณสุข (MIU) เปิดเผยในรายละเอียดมาตรการขั้นตอนต่างๆ ดังนั้น

เริ่มตั้งแต่ ประเทศต้นทาง ที่ผู้เดินทางต้องอยู่ในประเทศกลุ่ม Travel bubble ไม่น้อยกว่า 14 วันก่อนเดินทาง ได้รับการตรวจคัดกรองโควิด 19 ภายใน 72 ชั่วโมงก่อนขึ้นเครื่อง ทำประกันภัยครอบคลุมการตรวจรักษาโควิด 19 และได้รับใบอนุญาตเดินทาง/ วีซ่า (Travel certificate/Visa) จากสถานทูตไทย

ศุภกิจ
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์

สำหรับขั้นตอน ขณะเดินทาง ต้องปฏิบัติตามแนวทางที่สายการบินกำหนด สวมหน้ากากตลอดเวลา ลด/เลี่ยงการสัมผัสระหว่างผู้โดยสารด้วยกัน และลูกเรือ-ผู้โดยสาร เมื่ออยู่บนเครื่องหากมีอาการไอ จาม มีน้ำมูกจะต้องแยกโซนที่นั่งจากผู้โดยสารอื่น และลูกเรือมีชุด PPE

จากนั้น เมื่อมาถึงประเทศไทย จะกำหนดสนามบินที่จะลงชัดเจน เช่น ที่กรุงเทพฯ หรือสัตหีบ และแยกโซนไม่ปะปนกับผู้โดยสารภายในประเทศ มีคัดกรอง ตรวจหาเชื้อโควิด 19 ซึ่งจะต้องเพิ่มขีดความสามารถ/ความรวดเร็วของการตรวจ รวมทั้งผู้เดินทางเข้าทุกคนต้องมี Application DDCCare, หมอชนะ และใช้สมาร์ทโฟน ที่มีระบบ GPS/Bluetooth/4G

ขั้นตอนของที่พักนั้น ต้องเดินทางไปที่พัก ด้วยรถโรงแรมเท่านั้น ซึ่งต้องเป็นโรงแรม/ที่พักที่ระบุไว้ ซึ่งควรแยกชั้นเฉพาะ มีระบบส่งต่อกับโรงพยาบาลคู่สัญญาดูแลรักษา เมื่อผลตรวจเชื้อโควิด 19 เป็นลบจึงเดินทางไปทำกิจกรรมได้

สุดท้ายคือ ขณะที่อยู่ในประเทศไทย ต้องติดตามตัวได้ตลอด และสังเกตอาการตัวเองหากป่วยให้พบแพทย์ หรือโทรปรึกษาทางสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

ขณะที่ หลักการของประเทศไทย ในการ จับคู่ประเทศ ที่สามารถจัดการเรื่องโควิด 19 ได้ดีเท่า ๆ กัน หรือ เปิด Travel Bubble นั้น มีหลักการคือประเทศที่มีเสี่ยงต่ำเป็นคู่ ๆ ไป เช่น จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ พร้อมกำหนดกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น นักธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญ ครูนานาชาติ และเป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งจะต้องมีแผนการทำกิจกรรม หรือ Time line ที่จะทำในประเทศไทยที่ชัดเจน

5มาตรการ 01

ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีมาตรการเฝ้าระวัง โรคโควิด 19 ทำให้ขณะนี้ไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศติดต่อกัน 31 วัน โดยมีการคัดกรองผู้เดินทางจากต่างประเทศ การเฝ้าระวังทั้งในสถานกักตัวที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) การเฝ้าระวังในโรงพยาบาลรัฐและ กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เช่น บุคลากรทางการแพทย์ เรือนจำ คนขับรถรับจ้าง/สาธารณะ โดยมีการสุ่มตรวจแล้วเกือบ 1 แสนราย

นอกจากนี้ ยังดำเนินการสุ่มตรวจในกลุ่มแรงงานต่างด้าว เช่น สมุทรสาครและจังหวัดใกล้เคียงกว่า 1 หมื่นคน ซึ่งไม่พบผู้ติดเชื้อ และจะขยายไปจังหวัดต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายตรวจแรงงานต่างด้าวให้ได้ 24,000 ราย รวมทั้งการเฝ้าระวังในชุมชนและกลุ่มเสี่ยง โดยอาสาสมัครสาธารณสุข

จากมาตรการการควบคุม ป้องกัน อย่างเข้มงวด ของไทน ทำให้ขณะนี้มีหลายประเทศแสดงความสนใจ และมี 2 ประเทศที่ส่งหนังสืออย่างเป็นทางการและระบุรายละเอียดการดำเนินงาน คือ จีน และญี่ปุ่น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข จะนำข้อเสนอของประเทศต่าง ๆ มาพิจารณาและเจรจากันเป็นคู่ประเทศ เพื่อจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โดยจะเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo