COVID-19

ไม่รู้ไม่ได้แล้ว!! กยศ. เปิดตัวแอปบริหารหนี้ กู้เงินเรียน ตรวจสอบง่าย จ่ายคล่อง

กยศ. เปิดตัวแอปบริหารหนี้ “กยศ. Connect” เครื่องมือช่วยนักเรียน นักศึกษา กู้เงินเรียน ตรวจสอบยอดหนี้ จ่ายเงิน จัดการข้อมูลได้ด้วยตัวเอง

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า กยศ. เปิดตัวแอปบริหารหนี้ (Debt Management System – DMS) ผ่านทางแอปพลิเคชัน “กยศ. Connect” ซึ่งจะทำให้ผู้กู้ยืม สามารถตรวจสอบข้อมูลบัญชีเงินกู้ ยอดเงินที่ต้องชำระ หรือรายการชำระเงินย้อนหลังได้แบบ เรียลไทม์

กยศ. เปิดตัวแอปบริหารหนี้

นอกจากนี้ ผู้กู้ยืม ยังสามารถบริหารจัดการข้อมูล ได้ด้วยตนเอง รวมถึงผู้ค้ำประกัน สามารถตรวจสอบข้อมูลการค้ำประกันตามสัญญาได้อีกด้วย

การที่ กยศ. เปิดตัวแอปบริหารหนี้ ครั้งนี้ ผู้กู้ยืม และผู้ค้ำประกัน ต้องลงทะเบียนเข้าใช้งาน ผ่านทางแอปพลิเคชัน “กยศ. Connect” โดยใช้ได้ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และ Android หรือลงทะเบียนทางเว็บไซต์ https://wsa.dsl.studentloan.or.th ตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป

ขณะเดียวกัน ผู้กู้ยืม ยังคงสามารถชำระเงิน ผ่านช่องทางบริการรับชำระทั่วประเทศ และ Mobile Banking ของทุกธนาคาร โดยระบบบริหารหนี้ ดังกล่าว ได้พัฒนาขึ้น เพื่อรองรับการให้บริการผู้กู้ยืม ผู้ค้ำประกัน ให้ได้รับความสะดวก และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นผ่านช่องทาง “กยศ. Connect” และเว็บไซต์

เงิน

สำหรับวันที่ 5 กรกฎาคมของทุกปี ถือเป็นวันครบกำหนด ชำระเงินคืนกองทุน ซึ่งในปีนี้ มี ผู้กู้ยืม ที่ครบกำหนดชำระ ประมาณ 3.5 ล้านราย กองทุนจึงฝากประชาสัมพันธ์ ให้ผู้กู้ยืมรุ่นพี่ มาชำระเงินคืน ภายในกำหนดดังกล่าว เพื่อส่งต่อโอกาสทางการศึกษา ให้แก่นักเรียน นักศึกษารุ่นน้อง

นายชัยณรงค์ ยังกล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือ บรรเทาความเดือดร้อน ของ ผู้กู้ยืม ที่ได้รับผลกระทบจาก ไวรัสโควิด – 19 ว่า สำหรับ ผู้กู้ยืม ที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี และไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด จะได้รับการลดเบี้ยปรับ จาก 7.5% เหลือ 0.5% และลดจำนวนหักเงินเดือน ของผู้กู้ยืมทุกราย ในกลุ่มหน่วยงานเอกชนเหลือ 10 บาท/คน/เดือน ชำระหนี้ลดเบี้ยปรับ 75-80%

พร้อมกันนี้ ยังออกมาตรการพักชำระหนี้ 2 ปี สำหรับ ผู้กู้ยืม ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยผู้กู้ยืม ที่ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เกิน 8,008 บาทต่อเดือน สามารถขอผ่อนผันได้คราวละ 1 ปี ไม่เกิน 2 คราว ผู้กู้ยืม ที่มีรายได้ถดถอย ขยายระยะเวลา การชำระหนี้สูงสุด ไม่เกิน 2.5 เท่าจากสัญญาเดิม รวมถึง งดการขายทอดตลาดทุกกรณี และชะลอการบังคับคดี ยกเว้นกรณีใกล้ขาดอายุความ

นอกจากนี้ ในปีการศึกษา 2563 กองทุนฯ ได้ปรับเกณฑ์คุณสมบัติเฉพาะเกี่ยวกับรายได้ครอบครัวของผู้กู้ยืมที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ จากเดิมต้องมีรายได้ไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี ขยายเป็นไม่เกิน 360,000 บาทต่อปี

รวมถึงเพิ่มค่าครองชีพรายเดือนให้ผู้กู้ยืมทุกระดับการศึกษาอีกรายละ 600 บาทต่อเดือน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากเดิม 1,200 บาท เป็น 1,800 บาทต่อเดือน ส่วนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.), ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.), ปริญญาตรี จากเดิม 2,400 บาท เป็น 3,000 บาทต่อเดือน

“กองทุนฯ ได้เตรียมงบประมาณให้กู้ยืมจำนวนประมาณ 34,000 ล้านบาท สำหรับนักเรียน นักศึกษาที่คาดว่าจะกู้ยืมในปีนี้จำนวน 590,000 ราย ซึ่งเงินที่ใช้ในการให้กู้ยืมดังกล่าวเป็นเงินที่ได้รับชำระคืนจากผู้กู้ยืมรุ่นพี่ โดยไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดินตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา” นายชัยณรงค์กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

 

Avatar photo