World News

ปิดตำนาน 84 ปี ! ‘โอลิมปัส’ ขายทิ้งธุรกิจกล้องถ่ายรูป

“โอลิมปัส” ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมภาพถ่ายของญี่ปุ่น ประกาศขายกิจการกล้องถ่ายภาพ ที่ดำเนินการมากว่า 84 ปีให้กับ “เจแปน อินดัสเตรียล พาร์ทเนอร์ส” (เจไอพี) บริษัทที่เข้าซื้อแบรนด์ไวโอ จากโซนีไปเมื่อปี 2557

การขายธุรกิจกล้องถ่ายรูป จะทำให้ กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น รายนี้ ซึ่งปัจจุบันมีรายได้เกือบทั้งหมดมาจากธุรกิจอุปกรณ์การแพทย์ ออกจาก ธุรกิจกล้องถ่ายรูป เพื่อผู้บริโภคอย่างสิ้นเชิง โดยโอลิมปัสเริ่มต้นธุรกิจถ่ายภาพตั้งแต่ปี 2479  ด้วยการขายกล้อง พร้อมเลนส์ Zuiko ก่อนจะพัฒนากล้องถ่ายภาพแบบพกพา Pen Series เมื่อปี 2502 ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก

โอลิมปัส

แต่การเข้ามาของ “สมาร์ทโฟน” ทำให้ โอลิมปัส ไม่สามารถยืนหยัดอยู่ในฐานะเจ้าแห่งกล้องถ่ายภาพได้ และการแข่งขันอย่างดุเดือดในตลาดกล้องดิจิทัล ก็ทำให้บริษัทประสบภาวะขาดทุนติดต่อกันตลอดช่วง 3 ปีล่าสุด แม้จะพยายามปรับโครงสร้างธุรกิจแล้วก็ตาม

ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ตลาดกล้องถ่ายภาพดิจิทัล ซึ่งแข่งขันขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือด ไม่ทำกำไรอีกต่อไป ประกอบกับปัจจัยสำคัญอย่าง สมาร์ทโฟน ซึ่งสั่นคลอนธุรกิจกล้องถ่ายภาพดิจิทัล อย่างรุนแรง โดยจากการประเมินของเว็บไซต์กล้องแห่งหนึ่ง ระบุว่า ตลาดกล้องปรับตัวลดลงถึง 84 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงระหว่างปี 2010 – 2018 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ มีข่าวลือมานานแล้วว่า โอลิมปัสสนใจที่จะขายธุรกิจกล้องถ่ายรูป ที่คิดเป็นสัดส่วนเพียงเล็กน้อยในธุรกิจโดยรวมของบริษัท แต่นานยาสุโอะ ทาเคอุชิ ซีอีโอบริษัท ก็ปฏิเสธมาโดยตลอดถึงเรื่องนี้

การทำข้อตกลงขายกิจการให้กับเจไอพี คาดว่า จะเสร็จสิ้นภายในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งจนถึงขณะนี้ ยังไม่มีการประกาศรายละเอียดในข้อตกลง รวมถึง มูลค่าทางการเงินออกมาแต่อย่างใด

เจไอพี เป็นที่รู้จัก จากการเข้าซื้อแบรนด์ “ไวโอ” ของโซนี เมื่อปี 2557 ก่อนจะพัฒนามาเป็น คอมพิวเตอร์แลปทอป ภายใต้ชื่อดังกล่าว แต่ยังไม่ได้รับการเปิดเผยว่า ทิศทางของกล้องโอลิมปัสจะเป็นไปในรูปแบบใด

ไนเจล แอทเธอร์ตัน บรรณาธิการนิตยสาร Amateur Photographer แสดงความเห็นว่า มีผู้คนจำนวนมาก ที่หลงใหลในโอลิมปัส เพราะกล้องของบริษัท มีการพัฒนารูปโฉมอย่างต่อเนื่อง มีขนาดที่เล็ก และเบามาก ออกแบบได้สวย และมีเลนส์ที่ค่อนข้างจะมีคุณภาพ

โอลิมปัส

อย่างไรก็ดี ธุรกิจกล้องถ่ายรูปของ โอลิมปัส เริ่มซบเซาลง จากการเข้ามาของสมาร์ทโฟน ที่ทำให้กล้องมิเรอร์เลส ที่บริษัทตั้งเป้าเจาะกลุ่มคนที่ไม่ใช่ช่างภาพจริงจัง และต้องการสิ่งที่ดีกว่ากล้องแบบเล็งแล้วถ่าย แต่ไม่ต้องการถึงขนาดกล้อง DSLR ถูกกลืนหายไปอย่างรวดเร็ว

แอทเธอร์ตัน บอกด้วยว่า บริษัทรายนี้ ขาดความก้าวหน้าในการพัฒนาการถ่ายภาพเคลื่อนไหว หรือวิดีโอ ซึ่งแตกต่างจากคู่แข่งที่มีการพัฒนาการถ่ายวิดีโออย่างต่อเนื่อง อีกทั้งบริษัทยังประสบปัญหาข่าวอื้อฉาวทางการเงินซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้บริหารระดับสูงเมื่อปี 2554  ที่แสดงให้เห็นว่า บริษัทขาดทุนจากการลงทุนมากกว่า 1,500 ล้านดอลลาร์ และถูกกล่าวหาว่า แอบจ่ายเงินให้กับกลุ่มยากูซ่า

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ บริษัทโอลิมปัส จะยังคงเดินหน้า ผลิตกล้องจุลทรรศน์ และปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีจานแสงที่มีอยู่ ในการพัฒนาอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ เช่น กล้องเอ็นโดสโคป ต่อไป

ความเป็นมา โอลิมปัส

โอลิมปัสผลิตกล้องถ่ายภาพตัวแรกของบริษัทในปี  2479 หรือ 84 ปีที่ผ่านมา โดยมีชื่อรุ่นว่า “เซมิ-โอลิมปัส วัน” (Semi-Olympus I) ก่อนเดินหน้าพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา จนมีชื่อเสียงโด่งดัง และกลายเป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำ ตามส่วนแบ่งการตลาด

บริษัทได้ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2462 ในนามบริษัท Takachiho Seisakushoโดย ทาเคชิ ยามาชิตะ โดยบริษัทนี้ถูกสร้างขึ้น ด้วยความช่วยเหลือทางการเงินจากอดีตนายจ้างของเขา โดยมีจุดมุ่งหมายในการผลิตกล้องจุลทรรศน์ขึ้นเองภายในประเทศ

ยามาชิตะสนับสนุนวิศวกรของเขาโดยกล่าวว่า การลอกเลียนแบบผลิตภัณฑ์นำเข้าแต่เพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ จำเป็นต้องสร้างผลิตภัณฑ์ให้เป็นแบบฉบับของตัวเอง

เดือนมิถุนายน ปีพ.ศ.2463 เพียงหกเดือนหลังจากการก่อตั้งบริษัท ความฝันของคุณยามาชิตะในการสร้างกล้องจุลทรรศน์ขึ้นเองภายในประเทศก็กลายเป็นความจริงด้วยการเปิดตัว Asahi กล้องจุลทรรศน์ตัวแรกที่ผลิตโดยบริษัท Takachiho

สามทศวรรษต่อมาโอลิมปัส ประสบความสำเร็จ ในการพัฒนากล้องถ่ายภาพกระเพาะอาหาร ที่ใช้งานได้จริงตัวแรกของโลก จิตวิญญาณของการสร้างสรรค์ที่ฝังรากมาตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท ได้สืบทอดมาตลอดหลายสิบปี นับตั้งแต่การเปิดตัว ผลิตภัณฑ์ตัวแรกของบริษั ทจนถึงเทคโนโลยี Opto-Digital ในทุกวันนี้

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

Avatar photo