Business

ไม่ต่อเวลา! สนธิรัตน์ยืนยัน ‘ลดค่าไฟ’ ถึงสิ้นเดือน มิ.ย. เท่านั้น

“สนธิรัตน์” ยืนยัน มาตรการลดค่าไฟนาน 3 เดือน ที่จะหมดอายุลงในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ จะไม่มีการขยายเวลาออกไปแต่อย่างใด ชี้สถานการณ์คลี่คลายลงแล้ว ส่วนกบน. เห็นชอบยืดเวลาตรึงราคาแอลพีจีถัง ต่อถึง 30 กันยายน 

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงพลังงาน เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ว่า มาตรการ ลดค่าไฟ ฟ้า 3 เดือน ที่จะสิ้นสุดลงในเดือนนี้ จะไม่มีการต่ออายุแต่อย่างใด เนื่องจากนโยบายดังกล่าวเป็นการช่วยเหลือในช่วงการทำงานอยู่บ้าน (Work From Home) แต่ขณะนี้สถานการณ์ดังกล่าวได้คลี่คลายลงแล้ว

ลดค่าไฟ

อย่างไรก็ดี ที่ประชุมกบน. เห็นชอบขยายเวลาตรึงราคาแอลพีจีถัง 15 กิโลกรัม (กก.) ที่ 318 บาทต่อถัง ตั้งแต่ 24 มิถุนายน – 30 กันยายน 2563

ในวันนี้ (25 มิ.ย.) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะเดินทางมาประชุมพลังงานสร้างชาติ ร่วมกับคณะผู้บริหารกระทรวงพลังงาน และหน่วยงานในสังกัด เพื่อสรุปแผนงานการใช้พลังงานในระยะสั้นเพียง 3-6 เดือน เช่น โรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากที่จะเปิดรับซื้อไฟฟ้าระยะแรก 100 เมกะวัตต์ ช่วยลดค่าครองชีพและสร้างรายได้เพิ่มให้ประชาชน

ก่อนหน้านี้ นายสนธิรัตน์ เคยระบุว่า ตอนนี้เข้าสู่ฤดูฝนแล้ว  อุณหภูมิจะไม่สูงเท่ากับช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคมที่ผ่านมา ปริมาณการใช้ไฟฟ้าน่าจะลดลง  พร้อมแนะนำประชาชนให้ใช้ไฟฟ้าอย่างคุ้มค่า เปิดดูคู่มือการประหยัดไฟฟ้า

ส่วนการเยียวยา ลดค่าไฟ ฟ้าทั้ง 2 มาตรการก่อนหน้านี้ ทั้งมาตรการใช้ไฟฟ้าฟรี และลดราคาค่าไฟฟ้า 30-50% เพื่อดูแล 22 ล้านครัวเรือน ใช้วงเงินไปรวม 23,688 ล้านบาท ส่วนมาตรการลดค่าไฟฟ้า 3% ใช้วงเงินไปรวม 5,610 ล้านบาท

ทั้งนี้ มาตรการเยียวยาค่าไฟฟ้า ที่ใช้ในครัวเรือน ซึ่งประกาศออกมาเมื่อวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมานั้น แบ่งเป็น 2 กลุ่มด้วยกัน

  • บ้านอยู่อาศัย  เป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 1.1

ใช้มิเตอร์ขนาด 5 แอมป์ เดิมได้รับสิทธิ์ใช้ไฟฟ้าฟรีไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน ให้ขยายเพิ่มเป็น 150 หน่วยต่อเดือน ตั้งแต่เดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2563 ครอบคลุมผู้ใช้ไฟฟ้าประมาณ 10 ล้านครัวเรือน

  • บ้านอยู่อาศัย  เป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 1.2 

ใช้มิเตอร์มากกว่า 5 แอมป์ขึ้นไป จะมีมาตรการช่วยเหลือส่วนต่างค่าไฟฟ้า เมื่อเทียบกับฐานการใช้ไฟฟ้าในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 โดยมาตรการนี้จะครอบคลุมตั้งแต่เดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2563 และแบ่งการช่วยเหลือออกเป็น 3 ส่วน

กรณีใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 800 หน่วย ถ้าหากมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ จะไม่มีการคิดค่าไฟฟ้าส่วนต่าง หรือเป็นการใช้ส่วนต่างฟรี เช่น กรณีเดือนกุมภาพันธ์ใช้ไฟฟ้า 300 หน่วย แล้วเดือนมีนาคมใช้ไฟฟ้าเพิ่มเป็น 400 หน่วย ส่วนต่าง 100 หน่วยนี้จะได้ใช้ฟรี แต่ประชาชนยังคงต้องจ่ายค่าไฟฟ้า 300 หน่วยแรกตามปกติ

กรณีใช้ไฟฟ้า 800-3,000 หน่วย ถ้าหากมีส่วนต่างเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ ค่าไฟฟ้าส่วนเกินจะได้ส่วนลด 50% เช่น กรณีเดือนกุมภาพันธ์ใช้ไฟฟ้า 300 หน่วย แล้วเดือนมีนาคมใช้ไฟฟ้า 900 หน่วย ส่วนต่างที่เพิ่มขึ้น 600 หน่วยนี้จะได้ส่วนลด 50% ส่วน 300 หน่วยก็จะจ่ายตามเกณฑ์เดิม

กรณีใช้ไฟฟ้ามากกว่า 3,000 หน่วย ถ้าหากมีส่วนต่างการใช้ไฟฟ้าเมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นจะได้รับส่วนลด 30% เช่น กรณีเดือนกุมภาพันธ์ใช้ไฟฟ้า 300 หน่วย แล้วเดือนมีนาคมใช้ไฟฟ้า 3,100 หน่วย ในส่วนต่างที่เพิ่ม 2,800 หน่วย จะได้ส่วนลด 30% ส่วน 300 หน่วยแรกก็จะจ่ายตามเกณฑ์เดิม

ลดค่าไฟ

นอกจากการ ลดค่าไฟ แล้ว มาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้า ที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้า เพื่อเป็นการเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ยังรวมถึง

  • ขยายระยะเวลาการชำระค่าไฟฟ้าไม่เกิน 6 เดือน ของแต่ละรอบบิล
  • การคืนเงินค่าประกันการใช้ไฟฟ้า
  • ผ่อนผันการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าอัตราขั้นต่ำ
  • ขยายเวลาการชำระค่าไฟฟ้าไม่เกิน 6 เดือน ของแต่ละรอบบิล (ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วย)

ทั้งนี้ วงเงินการช่วยเหลือดังกล่าวมาจาก “เงินบริหารค่าไฟฟ้า” ประกอบด้วย

  • เงินที่เรียกคืนจากฐานะการเงิน
  • เงินส่งคืนจากการลงทุนที่ไม่เป็นไปตามแผน (callback)
  • เงินค่าปรับ ที่เกิดขึ้นจากการบริหารสัญญาของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน เป็นเงินที่เก็บตกมาทั้งหมดตั้งแต่ช่วงปี 2557-2562

ส่วนอีกก้อน เป็นเงินช่วยค่าไฟฟ้าฟรี ให้ผู้มีรายได้น้อย จากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97 (1) ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน ที่มีเงินคงค้างอยู่ประมาณ 3,000 ล้านบาท

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo