Economics

5 ผลกระทบจากโลกยุคไซเบอร์ต่อกิจการไฟฟ้า

thumbnail 6 กกพ.วีระพล

กกพ.ชี้ 5 ผลกระทบจากโลกยุคไซเบอร์ เร่งปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้า-มาตฐานการกำกับควบคุม พร้อมวางกติการับการซื้อขายไฟฟ้าผ่านเทคโนโลยี blockchain

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่าการผลิตไฟฟ้าจะต้องปรับตัวสู่การเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกับกิจการอื่นๆ เนื่องจากมีหลายปัจจัยเข้ามากระทบในรอบ 10 ปี

ประกอบด้วย 5 เรื่องหลัก ได้แก่

  1. การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเข้าระบบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งที่จ่ายไฟฟ้าแล้ว(COD) มีการลงนามสัญญาซื้อขายแล้ว (PPA ) และรับซื้อแล้ว จำนวน  8,865 เมกะวัตต์ ณ 31 สิงหาคม 2558 เป็น 9,943 เมกะวัตต์ ณ วันที่ 30 เมษายน 2561
  2. การเพิ่มขึ้นของผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (Independent Power Supply : IPS ) และผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก ที่มีกำลังผลิตส่วนที่เหลือจากการผลิตตามสัญญาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (SPPdirect) ทำให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าเปลี่ยนไป จากปี 2552 ที่มีสัดส่วนการผลิตจาการไฟฟ้าผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 48% ผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ (IPP) 38% SPP 9% นำเข้าจากต่างประเทศ 3% และ ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก (VSPP) 1% ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2561 สัดส่วนของกฟผ.ลดลงเหลือ 34% IPP 32% SPP 17% นำเข้า 8% VSPP 8%  สรุปได้ว่าในระหว่างปี 2552-2561 สัดส่วนของ IPS เพิ่มขึ้น 17.7% ขณะที่สัดส่วน SPPdirect เพิ่มขึ้น 7.31%
  3. ความต้องการไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ของประเทศเปลี่ยนไป เพราะมี VSPP พลังงานแสงอาทิตย์จำนวนมากมาช่วยจ่ายไฟฟ้าในเวลากลางวัน ทำให้พีคของกฟผ.เปลี่ยนมาเป็นเวลากลางคืน เช่น พีคปี 2559 เกิดขึ้นเมื่อ 11 พฤษภาคม เวลา 22.28 น.  ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พลังงานหมุนเวียนไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้

ผลที่เกิดขึ้นที่พลังงานหมุนเวียนเข้าระบบจำนวนมาก ก็คือความต้องการไฟฟ้าจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาที่พลังงานหมุนเวียนจ่ายเข้าระบบไม่ได้ เพราะกำลังผลิตไม่แน่นอน ขึ้นกับสภาพอากาศ”

4.ผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) ทำให้เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงในช่วงเวลาที่มีการชาร์จรถยนต์ และส่งผลให้คุณภาพไฟฟ้าในระบบไฟฟ้าไม่เป็นไปตามมาตรฐาน  ทำให้แผนและรูปแบบการเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเปลี่ยนไป

5.การใช้เทคโนโลยี blockchain กรณีซื้อขายไฟฟ้าระหว่างบ้านเรือนด้วยกันที่จะมีมากขึ้น อย่างที่โครงการบ้านจัดสรรกำลังดำเนินการหลายโครงการ สิ่งที่มากระทบในกรณี blockchain ก็คือ โครงสร้างตลาดซื้อขายไฟฟ้า (Power market structure) ไม่รองรับการซื้อขายตรงให้กับเพื่อนบ้านที่เรียกว่า peer to peer

ดังนั้นสิ่งที่กกพ.จะต้องดำเนินการ คือ ต้องมีมาตรฐานเพิ่มเติม รวมถึงการปรับระบบโครงข่ายไฟฟ้า (grid code)  เพื่อรองรับการปฏิบัติการของระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคง โดยเฉพาะการควบคุมความผันผวน อันเนื่องมาจากความไม่มั่นคงของพลังงานแสงอาทิตย์และลม รวมถึงการรองรับระบบกักเก็บพลังงานที่ต้องเข้ามาในอนาคต เพื่อทำให้พลังงานหมุนเวียนมีเสถียรภาพมากขึ้น รวมถึงมาตรฐานความปลอดภัยทางไซเบอร์

“เทคโนโลยีใหม่ๆมาเร็วมาก ดังนั้นเราต้องปรับทุกเรื่องให้สอดคล้องกัน โดยเฉพาะโครงสร้างค่าไฟฟ้าซึ่งจะแล้วเสร็จในปีหน้า และมาตรฐานของ 3 การไฟฟ้าต้องเปลี่ยนไปเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงด้วย”

 

Avatar photo