World News

จ่อล้มละลาย!? ผู้ถือหุ้น ‘ลุฟท์ฮันซา’ เมินแผนฟื้นกิจการของรบ.เยอรมนี

ลุฟท์ ฮันซา มีความเสี่ยงต้องยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์ ภายใต้กฎหมายล้มละลาย หลังรัฐบาลเยอรมนีเจรจาไม่สำเร็จ “เออร์มาน ธีเลอ” มหาเศรษฐี ผู้ถือหุ้นใหญ่สุดในสายการบิน ไม่เห็นด้วยในแผนฟื้นฟูกิจการมูลค่า 9,000 ล้านยูโร

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ลุฟท์ ฮันซา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ DAX ดัชนีสำหรับบริษัทจดทะเบียน ที่มีขนาดใหญ่สุด และมั่งคั่งสุด 30 บริษัท ของเยอรมนี มานาน 32 ปี ถูกถอดชื่อจากดัชนีนี้ อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมี ดอยช์ โวห์เนน กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ ที่มีมูลค่าราว 14,000 ล้านยูโร เข้ามาแทนที่

ลุฟท์ฮันซา

ในวันเดียวกับที่ลุฟท์ ฮันซา ถูกลดระดับการจดทะเบียนนี้ นายปีเตอร์ อัลท์เมเออร์ รัฐมนตรีเศรษฐกิจเยอรมนี พร้อมด้วยนายโอลาฟ โชลซ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเยอรมนี ได้จัดประชุมวาระพิเศษกับ นายเออร์มานน์ ธีเลอ มหาเศรษฐี ผู้ถือหุ้นหลักในลุฟท์ฮันซา ในความพยายามที่จะหาทางบรรลุข้อตกลง ถึงการฟื้นฟูกิจการ สายการบินรายใหญ่ของเยอรมนี แต่รัฐมนตรีทั้ง 2 ราย ต่างล้มเหลว ที่จะจูงใจให้นายธีเลอ เห็นชอบกับแผนฟื้นฟูกิจการมูลค่า 9,000 ล้านยูโร หรือมากกว่า 314,000 ล้านบาท

การหารือดังกล่าว ยังมีขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้ นายธีเลอได้แสดงความกังขา เกี่ยวกับแผนฟื้นฟูกิจการ ที่จะทำให้รัฐบาลเยอรมนี เข้ามาถือหุ้นในสายการบินโดยตรง 20% และมีที่นั่งในคณะกรรมการบริหารอีก 2 ที่ด้วย

นายธีเลอ เสนอทางเลือก ที่จะให้รัฐบาลเข้ามามีส่วนร่วมทางอ้อม ด้วยการถือหุ้นผ่านทาง KFW ซึ่งเป็นธนาคารรัฐ  โดยมหาเศรษฐีรายนี้ ถือหุ้น 15.5% ในลุฟท์ฮันซา ทำให้เสียงคัดค้านจากเขา หมายถึงจุดจบของแผนฟื้นฟูกิจการของรัฐบาลเยอรมนี

ในจดหมายที่ส่งถึงพนักงานนั้น คาร์สเต็น ชปอร์ ประธานกรรมการบริหาร และซีอีโอ ลุฟท์ฮันซา ระบุว่า บริษัทเตรียมพร้อมไว้แล้ว ถึงความเป็นไปได้ที่การประชุมสมัยวิสามัญในวันพรุ่งนี้ (25 มิ.ย.) จะมีเสียงคัดค้านถึงการให้รัฐบาลเยอรมนีเข้าถือหุ้นในลุฟท์ฮันซา ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็มีแนวโน้มที่ ลุฟท์ฮันซาจะยื่นฟ้อง เพื่อขอพิทักษ์ทรัพย์ ภายใต้กฎหมายล้มละลาย

ลุฟท์ ฮันซา ปลดพนักงานครั้งใหญ่

ก่อนหน้านี้ ลุฟท์ฮันซา สายการบินรายใหญ่สุดของเยอรมนี ประกาศปลดพนักงานครั้งใหญ่ จำนวน 22,000  คน เพื่อเอาตัวรอด จากสถานการณ์การเดินทางทางอากาศที่ตกต่ำ เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

สายการบินกล่าวว่า การปลดพนักงานครึ่งหนึ่ง จะเกิดขึ้นในเยอรมนี และ ลุฟท์ฮันซา จะพยายามทำให้พนักงานที่ถูกปลด มีจำนวนน้อยที่สุด ด้วยมาตรการจ้างงานระยะสั้น และข้อตกลงที่เกิดขึ้น ในช่วงวิกฤติ

“เป้าหมาย คือ พยายามรักษาการจ้างงานให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในกลุ่มลุฟท์ฮันซา”

“ถ้าไม่ลดต้นทุนด้านบุคลากรลงอย่างมากระหว่างวิกฤติ เราจะพลาดโอกาสในการเริ่มต้นที่ดีกว่า และมีความเสี่ยงว่า กลุ่มลุฟท์ฮันซา จะฟื้นตัวจากวิกฤติด้วยความอ่อนแออย่างหนัก”

สายการบินคาดการณ์ว่า ความต้องการเดินทางของผู้โดยสารจะฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า และหลังจากวิกฤติจบลง บริษัทจะมีเครื่องบินลดลงจากปัจจุบันประมาณ 100 ลำ

ความเป็นมา

ลุฟท์ฮันซา (Lufthansa) หรือชื่อเต็มคือ ดอยช์ ลุฟท์ฮันซา อาเก (Deutsche Lufthansa AG) เป็นสายการบินใหญ่ที่สุดของประเทศเยอรมนี และถือเป็นสายการบินใหญ่เป็นอันดับสอง ของยุโรปในแง่จำนวนผู้โดยสาร ชื่อลุฟท์ฮันซามาจากการประสมระหว่างคำว่า ลุฟท์ ที่แปลว่า “อากาศ” กับคำว่า ฮันซา ที่หมายถึง “สันนิบาตฮันเซอ”

บริษัทลุฟท์ฮันซาเป็นหนึ่งในห้าสายการบินผู้ร่วมก่อตั้งสตาร์อัลไลแอนซ์ ในปี 2540 ซึ่งเป็นเครือพันธมิตรสายการบินที่ใหญ่ที่สุดในโลก

นอกจาก ลุฟท์ฮันซา จะดำเนินกิจการสายการบิน ภายใต้แบรนด์ของตัวเองแล้ว ลุฟท์ฮันซา ยังมีสายการบินในเครือได้แก่ ออสเตรียนแอร์ไลน์, สวิส อินเตอร์เนชันแนลแอร์ไลน์, บรัสเซลแอร์ไลน์ และยูโรวิงส์

นอกจากนี้ บริษัทลุฟท์ฮันซา ยังมีหน่วยธุรกิจที่เกี่ยวข้องในเครือ ได้แก่ Lufthansa Technik (ฝ่ายซ่อม) และ LSG Sky Chefs (ฝ่ายครัวการบิน) หากรวมจำนวนเครื่องบินของสายการบินทั้งหมดในเครือลุฟท์ฮันซาแล้ว จะมีเครื่องบินกว่า 700 ลำ ซึ่งถือกลุ่มบริษัทที่มีฝูงบินขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

ลุฟท์ฮันซามีสำนักงานใหญ่ของเครือบริษัท ในเมืองโคโลญจน์ ประเทศเยอรมนี ส่วนฝ่ายปฏิบัติการใหญ่การเดินอากาศ มีที่ตั้งในท่าอากาศยานแฟรงก์เฟิร์ต ฝ่ายปฏิบัติการรอง มีที่ตั้งในท่าอากาศยานมิวนิก

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

Avatar photo