Business

3 ทุนใหญ่กางแผนทุ่มเฉียด 2 แสนล้าน เนรมิตมหาโปรเจ็ค ‘เมืองการบิน’

โครงการสนามบินอู่ตะเภาและ เมืองการบิน ภาคตะวันออก ถือเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ที่เป็นการต่อยอดความสำเร็จมาจากโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก

วัตถุประสงค์หลักเพื่อยกระดับ สนามบินอู่ตะเภา เป็น “สนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3 ของกรุงเทพฯ” เพื่อพัฒนาไปสู่ประตู EEC เชื่อมต่อสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิด้วยรถไฟความเร็วสูง

ภาพสนามบินในอนาคต 1

3 รายชื่อทุนใหญ่

บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้า BBS) ผู้ได้รับสัมปทานพื้นที่ 6,500 ไร่ เป็นเวลา 50 ปีในโครงการนี้จากรัฐบาล ประกอบด้วย 3 ทุนใหญ่ ได้แก่

บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนลฯ ลงนามสัญญาการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน (PPP) ในโครงการนี้ไปเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญา

ทิศทางต่อจากนี้คือ การดำเนินการโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและ เมืองการบิน ภาคตะวันออกให้เป็น “ศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation” รวมถึงการเป็นศูนย์กลางของ “มหานครการบินภาคตะวันออก” เป็นการสานต่อเจตนารมณ์ ในการพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ดจากรัฐบาลที่ต้องการให้เกิดเป็นเมืองท่าและเมืองธุรกิจสำคัญของประเทศไทย โดยเข้าเชื่อมโยงเป็นส่วนขยายของกรุงเทพฯ และปริมณฑลไปทางตะวันออก ที่สามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างสะดวกสบาย ทันสมัย ทั้งทางน้ำ ทางบก และทางอากาศ

เมืองการบิน

ร่วมทุน 2.9 แสนล้าน

วันนี้ (23 มิ.ย. 63) บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด นำโดย นายปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ที่ปรึกษาประธานคณะผู้บริหาร บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะผู้บริหาร นายอนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา  กรรมการบริหาร บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ฤกษ์ดีร่วมกันเปิดแถลงข่าวถึงทิศทางการพัฒนา “โครงการสนามบินอู่ตะเภาและ เมืองการบิน ภาคตะวันออก”

โดยโครงการนี้ เอกชนจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนด้านการเงินแก่ภาครัฐรวม 305,555 ล้านบาท เสียภาษีอากรกว่า 62,000 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานเพิ่ม 15,600 ตำแหน่งต่อปีในระยะ 5 ปีแรกของสัมปทาน พร้อมทั้งเกิดการพัฒนาทักษะบุคลากรด้านธุรกิจการบิน เทคโนโลยีองค์ความรู้ด้านธุรกิจการบิน ซึ่งทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของรัฐเมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน 50 ปี

ทั้งนี้ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนลฯ และกองทัพเรือ (ทร.) จะร่วมกันลงทุนมูลค่า 2.9 แสนล้านบาท แบ่งเป็น วงเงินของภาครัฐ 1.04 แสนล้านบาท และวงเงินเอกชน 1.86 แสนล้านบาท

เมืองการบิน

แจงรายละเอียดร่วมทุน

องค์ประกอบหลักที่ทางรัฐดูแล ประกอบด้วย ทางวิ่งมาตรฐาน 2 ทางวิ่ง มีความยาว 3,500 เมตร ซึ่งสามารถให้อากาศยานขึ้นลงทั้ง 2 ทางวิ่งอย่างอิสระต่อกัน และสามารถรองรับเครื่องบินพาณิชย์ได้ทุกขนาด โดยมีหลุมจอด อากาศยานรวมทั้งสิ้น 124 หลุมจอด ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO Complex) ระยะแรก 500 ไร่ รวมทั้งงานสนับสนุนอื่นๆ บนพื้นที่ ขนาด 1,400 ไร่

ประกอบด้วย ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศ โรงผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น โรงผลิตน้ำประปาและบำบัดน้ำเสีย และบริการเติมเชื้อเพลิงอากาศยาน และจะมีการก่อสร้าง Air Traffic Control Tower หรืออาคารหอบังคับการบิน โดย บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด สามารถให้บริการการขึ้นลงของอากาศยานได้สูงสุด 70 เที่ยวบินต่อชั่วโมง

องค์ประกอบหลักที่ทางภาคเอกชนดูแล ประกอบด้วย ส่วนของอาคารผู้โดยสาร หลังที่ 3 เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จทุกระยะแล้ว จะมีขนาดพื้นที่กว่า 450,000 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 60 ล้านคนต่อปี ภายในอาคารมีการติดตั้งระบบอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ทันสมัย เช่น ระบบการ Check-in อัตโนมัติ (Smart Airport) ระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automate People Mover, APM)  คลังสินค้า , Cargo Village และ Free Trade Zone ที่มีขนาดพื้นที่กว่า 470,000 ตารางเมตร ประมาณการขีดความสามารถรองรับการขนส่งสินค้าและศูนย์กระจายสินค้ากว่า 3 ล้านตันต่อปี

ศูนย์ขนส่งภาคพื้นดิน (Ground Transportation Center, GTC) มีขนาดพื้นที่กว่า 30,000 ตารางเมตร เพื่อให้การเดินทางในรูปแบบต่างๆ เช่น รถไฟความเร็วสูง รถบัส แท็กซี่ สามารถเชื่อมโยงเข้าสู่อาคารผู้โดยสารหลังใหม่ได้อย่างรวดเร็วและไร้รอยต่อ

พื้นที่กิจกรรมด้านอุตสาหกรรมการบินที่เกี่ยวข้อง นอกจากองค์ประกอบหลักดังกล่าวแล้ว ยังมีองค์ประกอบที่ดำเนินกิจกรรมเชิงพาณิชย์และส่งเสริมการเป็น Aviation Hub ของโครงการฯ คือ Commercial Gateway ขนาดพื้นที่กว่า 400,000 ตารางเมตร จัดเป็นพื้นที่ร้านค้าปลอดภาษี ร้านค้าและภัตตาคาร โรงแรม รวมทั้ง Business Park และ Airport City ซึ่งมีขนาดพื้นที่กว่า 1 ล้านตารางเมตร ประกอบด้วย ศูนย์การค้า ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้า อาคารพักอาศัยและอาคารสำนักงาน

เมืองการบิน

เอกชนหั่นแผนลงทุน 4 เฟส

แผนพัฒนาในส่วนของเอกชน จะใช้วงเงินลงทุน 1.25 แสนล้านบาทและเงินดำเนินการตลอดอายุสัญญาอีก 6.18 ล้านบาท รวมแล้วมีมูลค่า 1.86 แสนล้าน เฉพาะการลงทุนแบ่งออกได้เป็น 4 เฟส ดังนี้

 ระยะที่ 1 มีอาคารผู้โดยสารขนาดพื้นที่กว่า 157,000 ตารางเมตร พื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์  อาคารจอดรถ ศูนย์ขนส่งภาคพื้นดิน และหลุมจอดอากาศยาน 60 หลุมจอด คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ. 2567 สามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 15.9 ล้านคนต่อปี และใช้เงินลงทุน 3.1 หมื่นล้านบาท

เฟสที่ 2 อาคารผู้โดยสารมีพื้นที่เพิ่มขึ้นกว่า 107,000 ตารางเมตร พร้อมทั้งติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) และระบบทางเดินเลื่อน รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 16 หลุมจอด คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี 2573 โดยประมาณการว่า จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด30 ล้านคนต่อปี และใช้เงินลงทุน 2.3 หมื่นล้านบาท

เฟสที่ 3 เป็นการต่อขยายอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติมจากระยะที่ 2 กว่า 107,000 ตารางเมตร เพิ่มจำนวนรถขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) อีก 1 ขบวน รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 34 หลุมจอด คาดว่าจะ แล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ. 2585 ประมาณการรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 45 ล้านคนต่อปี และใช้เงินลงทุน 3.1 หมื่นล้านบาท

เฟสที่ 4 หรือระยะสุดท้าย มีพื้นที่อาคารผู้โดยสารหลังที่สองเพิ่มขึ้นกว่า 82,000 ตารางเมตร พร้อมทั้งติดตั้งระบบ Check-in แบบอัตโนมัติ รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 14 หลุมจอด ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ. 2598 ประมาณการรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 60 ล้านคนต่อปี และใช้เงินลงทุน 3.8 หมื่นล้านบาท

อ่านข่าวเพิ่มเติมคลิก 

Avatar photo