Business

ย้อนแผลผลประกอบการ 43 ปี ‘ขสมก.’ ขาดทุน 42 ปี มีกำไรอยู่ปีเดียว

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ” หรือที่รู้จักกันดีในนาม “ขสมก.” เป็นหัวใจสำคัญของการเดินทางภายในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย นักเรียน นักศึกษา แต่อีกมุมหนึ่ง ปัญหา ขสมก. ขาดทุน จากการให้บริการ จนมีหนี้สินมหาศาล ก็ได้กลายเป็นภาระอันหนักอึ้งในระดับประเทศ

ต้นกำเนิด ขสมก. เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2519 โดยตลอดระยะเวลากว่า 43 ปีนับจากการก่อตั้ง องค์กรแห่งนี้มีผลประกอบการขาดทุนทุกปี ยกเว้นปี 2535 ปีเดียว ที่พลิกมีกำไร 61 ล้านบาทและสามารถแจกโบนัสให้พนักงาน

ขสมก. ขาดทุน

ขสมก. ขาดทุน 42 ปี

นอกจากปี 2535 ขสมก. มีผลประกอบการขาดทุนทุกปี หรือรวมแล้ว 42 ปี โดยหากไล่เรียงดูจะเห็นว่า ผลขาดทุนหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี จากขวบปีแรกที่มีผลขาดทุนในระดับร้อยล้านบาท ก็เพิ่มสูงขึ้นแตะระดับพันล้านในปี 2526 และในปีที่แล้ว 2562 ขสมก. มีผลประกอบการที่น่าตกใจ เพราะขาดทุนถึง 7,602 ล้านบาท หรือใกล้แตะระดับหมื่นล้านเข้าไปทุกที!

สำหรับ 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2562-31 มีนาคม 2563 ขสมก. ขาดทุนไปแล้ว 1,553 ล้านบาท

ในปี 2563 ขสมก. ขาดทุนเฉลี่ยถึงเดือนละ 360 ล้านบาท ที่น่าสนใจคือ 233 ล้านบาท หรือ 65% เป็นการจ่ายภาระดอกเบี้ย!!!

สถานะทางการเงิน ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 ของ ขสมก. เป็นดังนี้

  • เจ้าหนี้ 123,824 ล้านบาท
  • ลูกหนี้ 2,217 ล้านบาท
  • ทรัพย์สิน 3,441 ล้านบาท

ขสมก. ขาดทุน

เปิดรายละเอียดหนี้เงินกู้

ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2562 ขสมก. มีหนี้สินรวม 108,885.380 ล้านบาท แบ่งเป็น หนี้พันธบัตร 39 วงเงิน จำนวน 61,013 ล้านบาท และหนี้เงินกู้ 27 วงเงิน จำนวน 47,872 ล้านบาท

ในระหว่างเดือนวันที่ 1 เมษายน 2562-30 เมษายน 2563 ขสมก. มีหนี้งอกออกมาประมาณ 5,857 ล้านบาท ประกอบด้วย พันธบัตร 3,326 ล้านบาทและหนี้เงินกู้ 2,531 ล้านบาท โดยคาดว่าตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563-30 กันยายน 2564 จะมีหนี้เงินกู้เพิ่มอีก 13,043 ล้านบาท

ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 จึงมีการประเมินว่า หนี้สิน ขสมก. จะเพิ่มเป็น 127,786 ล้านบาท แบ่งเป็น หนี้พันธบัตร 64,339 ล้านบาทและหนี้เงินกู้ 63,446 ล้านบาท

ขสมก สรุปหนี้กู้ N 01 1

ลูกหนี้ ขสมก.

ตัวเลข ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 ขสมก. ยังมีลูกหนี้อยู่ 2,217 ล้านบาท แบ่งเป็น 5 ประเภท

  • ลูกหนี้พนักงานพ้นสภาพ 329 ล้านบาท
  • ลูกหนี้บุคคลภายนอก 49 ล้านบาท
  • ลูกหนี้กองทุนอุบัติเหตุรถร่วม 217 ล้านบาท
  • ลูกหนี้รถเอกชนร่วมบริการ 949 ล้านบาท
  • ลูกหนี้อื่นๆ 671 ล้านบาท

ขสมก. ขาดทุน

สู่แผนฟื้นฟู

ผลประกอบการที่บอบช้ำของ ขสมก. ซึ่งมีคาดการณ์ว่า ตัวเลขหนี้สินจะสูงถึง 127,786 ล้านบาท ในเดือนกันยายนปีหน้า ส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า เกิดจากการแทรกแซงทางการเมืองทุกยุคทุกสมัย ที่กดค่าโดยสารรถเมล์ให้มีราคาถูกและต่ำกว่าต้นทุนอย่างมาก เพื่อเอาใจประชาชน และกลายเป็นธรรมเนียมตกทอดที่ไม่มีใครกล้ารื้อ

แม้นโยบายประชานิยมนี้ จะส่งผลดีต่อกระเป๋าคนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่กลับกลายเป็นภาระของคนทั้งประเทศ เพราะทำให้ ขสมก. ขาดทุน และมีหนี้สินพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ จนองค์การอ่อนแอ ไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง รายได้ส่วนใหญ่ต้องเอาไปจ่ายดอกเบี้ย แทบไม่ต้องพูดถึงการจ่ายเงินต้น สุดท้ายจึงต้องเอาเงินภาษีไปอุ้ม ขสมก. ไว้

นอกจากนี้ ขสมก. เองก็ขาดประสิทธิภาพ องค์กรมีขนาดใหญ่เกินไป ขาดบุคคลกรที่มีความชำนาญด้านไอทีหรือการปรับตัวต่อการแข่งขัน ต้นทุนการดำเนินงานต่างๆ สูง ทั้งค่าใช้จ่ายด้านบุคคล ค่าเชื้อเพลิง ค่าเหมาซ่อม ค่าดอกเบี้ย

“รถเมล์” ที่เป็นเครื่องมือทำมาหากินหลักขององค์กร ส่วนใหญ่มีสภาพเก่าทรุดโทรม ต้นทุนบำรุงรักษาสูง เพราะใช้งานมานาน การจัดซื้อรถเมล์ใหม่ก็เป็นเรื่องยากลำบาก เพราะมีทั้งการเมืองและภาคธุรกิจเข้าแทรกแซง จนเกิดการล้มประมูลนับครั้งไม่ถ้วน หลายปีผ่านไปจึงเพิ่งได้รถเมล์ใหม่มา 489 คันเท่านั้น

ถ้า ขสมก. ไม่เข้าห้อง ICU ผ่าตัดใหญ่ ภาระหนี้สินที่มีก็จะเพิ่มขึ้นทุกวัน การเข้าสู่แผนฟื้นฟูจึงเป็นความหวังเดียวในการพลิกฟื้นองค์กรแห่งนี้ให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้อีกครั้ง …

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo