Economics

‘บีกริม’ ติงรัฐยุค Disruptive นโยบายพลังงานต้องชัดเจนรวดเร็ว

 

ปรียนารถ 3 1

บีกริมรอสัญญาณรัฐ ต่ออายุสัญญาโรงไฟฟ้า SPP ย้ำนโยบายรัฐยุค Disruptive Technology ต้องชัดเจนและรวดเร็ว

นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) นายกสมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน เปิดเผยว่าขณะนี้เอกชนยังรอความชัดเจนเรื่องการต่อสัญญาโรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) ประเภทพลังความร้อนร่วม ( Cogeneration ) ที่จะหมดสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับภาครัฐในปี 2560-2568 ทั้งนี้โดยเบื้องต้นแล้ว ภาครัฐให้ต่ออายุสัญญาแน่นอน เพียงแต่รายละเอียดจะเป็นอย่างไรยังไม่ได้ข้อสรุปในขณะนี้

“ผ่านมา 2 ปีแล้วขณะนี้เรายังคงรอความชัดเจนจากรัฐอยู่ ลูกค้าที่ซื้อไฟฟ้าจากเรา โดยเฉพาะรายใหญ่ที่ต้องการความมั่นคงของระบบไฟฟ้าก็ถามมาตลอดว่าโรงไฟฟ้าของเราจะได้รับการต่ออายุหรือไม่อย่างไร ซึ่งหากนโยบายไม่ชัดเจน ก็ให้คำตอบเค้าไปไม่ได้”

สำหรับบริษัทมีโรงไฟฟ้า SPP ที่จะหมดสัญญาในช่วงเวลาดังกล่าวมีทั้งหมด 3 แห่งจากโรงไฟฟ้าทั้งหมดที่หมดอายุ 25 แห่ง อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ซิตี้ ชลบุรี 2 แห่ง และอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง 1  แห่ง ซึ่งจะหมดอายุในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า ซึ่งเห็นว่าหากมติออกมาให้เอกชนลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ก็ควรต้องกำหนดสัญญาระยะยาว 25 ปี เพราะแต่ละโรงต้องลงทุนกว่า 5,000-6,000 ล้านบาท

นางปรียนาถ กล่าวอีกว่า กิจการพลังงานของไทย ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลเป็นสำคัญ หากนโยบายผิดทางก็เป็นเรื่องที่เสี่ยง และที่เสี่ยงอีกประการคือนโยบายดีๆไม่ได้รับการสานต่อ ทั้งนี้การที่โลกจะเข้าสู่ยุค Disruptive Technology จะมีการเปลี่ยนแปลงในหลายเรื่อง ดังนั้นนโยบายพลังงานต้องสอดคล้อง และเหมาะสม ที่สำคัญต้องชัดเจน และรวดเร็วด้วย

สำหรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ( PDP) ที่จะมีการปรับปรุงใหม่ โดยจะมีการกำหนดการผลิตไฟฟ้าในแต่ละภาค ถือว่าเป็นทิศทางที่ถูกต้อง เพราะแม้ไฟฟ้าจะมีสำรองเกินความต้องการกว่า 10,000 เมกะวัตต์ แต่เป็นภาพรวมของประเทศไม่ใช่ทุกพื้นที่ อาทิ ไฟฟ้าในภาคใต้ไม่เพียงพอกับความต้องการ

ทั้งนี้การต่ออายุสัญญาโรงไฟฟ้า SPP ขณะนี้กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการหาข้อสรุปและนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อขอเปลี่ยนแปลงมติกพช. เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2559 ที่ให้ต่ออายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าขนาดเล็กประเภทพลังงานความร้อนร่วมที่จะหมดอายุในปี 2560-2561 ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ขายไฟฟ้าและไอน้ำให้กับโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม และไฟฟ้าส่วนเกินขายให้กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยมติดังกล่าวกำหนดเงื่อนไขให้ กฟผ.รับซื้อไฟฟ้าในจำนวนไม่เกิน 60 เมกะวัตต์ และไม่เกินกว่าปริมาณขายไฟฟ้าตามสัญญาเดิมในราคา 2.37 บาทต่อหน่วย

ส่วนผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่จะสิ้นสุดสัญญาในปี 2562-2568 นั้น  เดิมกพช.อนุมัติให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ได้ในพื้นที่เดิม หรือพื้นที่ใกล้เคียงนิคมอุตสาหกรรมและสวนอุตสาหกรรม โดยมีเงื่อนไขขายไฟฟ้าให้ กฟผ.ได้ไม่เกิน 30 เมกะวัตต์ และไม่เกิน 30% ของกำลังผลิตไฟฟ้ารวมไอน้ำ รวมถึงไม่เกินกว่าปริมาณขายไฟฟ้าตามสัญญาเดิม ในราคา 2.81 บาทต่อหน่วย โดยมีสัญญารวม 25 ปี

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight