Business

‘พนักงานการบินไทย’ 2.1 หมื่นคนเข้า ‘ระบบประกันสังคม’ เริ่มหักเงินสมทบ 5%

พ้นรัฐวิสาหกิจ! “พนักงานการบินไทย” 2.1 หมื่นคนเข้าสู่ “ระบบประกันสังคม” เตรียมถูกหักเงินสมทบ 5% ย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค. 63

รายงานข่าวจาก บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ล่าสุดการบินไทยได้แจ้งต่อพนักงานว่า ตามที่บริษัทได้พ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจและมีสถานะเป็นบริษัทเอกชน เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2563

บริษัทจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายด้านแรงงานของบริษัทเอกชนหลายฉบับ รวมถึง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 และ พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ. 2537 ด้วย ซึ่งกำหนดให้บริษัทต้องขึ้นทะเบียนนายจ้างและขึ้นทะเบียนพนักงานทุก คนที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีบริบูรณ์ถึง 60 ปีบริบูรณ์ เป็นผู้ประกันตน

พนักงานการบินไทย

ทั้งนี้ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 และ พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ. 2537 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้พนักงานได้รับเงินช่วยเหลือใน 7 กรณี ได้แก่

  • ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย
  • ทุพพลภาพ
  • ตาย
  • คลอดบุตร
  • สงเคราะห์บุตร
  • ชราภาพ
  • ว่างงาน

รวมทั้งเงินทดแทนกรณีที่เกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน ซึ่งเป็นไปเพื่อประโยชน์ของพนักงานแต่เพียงฝ่ายเดียว

พนักงานการบินไทย

โดยเพื่อให้พนักงานทุกคนได้รับสิทธิประโยชน์ตาม พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับข้างต้น บริษัทและพนักงานมีหน้าที่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนเงินทดแทนและกองทุนประกันสังคม ตามรายละเอียดดังนี้

1.บริษัทแต่เพียงฝ่ายเดียว มีหน้าที่ต้องส่งเงินสมทบเข้า “กองทุนเงินทดแทน” เป็นรายปี ในอัตรา 0.2% ของค่าจ้างรวมที่จ่ายแก่ลูกจ้างในปีนั้นๆ โดยในปี 2563 บริษัทจะต้องส่งเงินสมทบครั้งแรกในวันที่ 22 มิถุนายน 2563

2.บริษัทและพนักงานที่ต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน มีหน้าที่ต้องส่งเงินสมทบเข้า “กองทุนประกันสังคม” เป็นรายเดือน ฝ่ายละเท่าๆ กัน ในอัตราฝ่ายละ 5% ของเงินเดือนที่พนักงานแต่ละคนได้รับในแต่ละเดือน โดยกำหนดฐานเงินเดือนที่ใช้คำนวณเงินสมทบไม่ต่ำกว่า 1,650 บาท แต่ไม่เกิน 15,000 บาท

กล่าวคือ พนักงานการบินไทย แต่ละคนมีหน้าที่ส่งเงินสมทบฝ่ายพนักงาน ซึ่งกฎหมายกำหนดให้บริษัทต้องหักจากค่าจ้างของพนักงานในแต่ละเดือน ในจำนวนไม่เกินเดือนละ 750 บาท และบริษัทก็มีหน้าที่ส่งเงินสมทบฝ่ายบริษัทในจำนวนที่เท่ากันด้วย โดยพนักงานและบริษัทมีหน้าที่ต้องส่งเงินสมทบตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ดำเนินการต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด โดยไม่กระทบกระเทือนต่อสิทธิของที่พนักงานพึงได้รับตามขอบเขตของกฎหมาย ดังนั้น บริษัทหวังเป็นอย่างยิ่งว่า พนักงานทุกคนจะพิจารณาการดำเนินการต่างๆ ของบริษัทอย่างถี่ถ้วน รวมทั้งใช้สิทธิโดยสุจริตและไม่ก่อให้เกิดความเสียหายหรือความแตกแยกในบริษัทด้วย

พนักงานการบินไทย

นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (22 มิ.ย. 63) การบินไทยได้เดินทางมาที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 2 เพื่อขึ้นทะเบียนกองทุนประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทนให้ พนักงานการบินไทย 21,000 คน พร้อมทั้งจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนเป็นจำนวนเงิน 6.4 ล้านบาท

“การบินไทยได้ขึ้นทะเบียนให้พนักงานจำนวนกว่า 21,000 คน ส่งผลให้ได้รับความคุ้มครองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 2 ได้ให้ความรู้ความเข้าใจงานประกันสังคมแก่ตัวแทนผู้บริหารการบินไทย เพื่อให้รับทราบการดำเนินงานของระบบประกันสังคมด้วย” นายทศพลกล่าว

สำหรับสิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้างผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมจะได้รับจากกองทุนประกันสังคม ประกอบด้วย 7 กรณีคือ เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน สำหรับกองทุนเงินทดแทน จะให้ความคุ้มครองลูกจ้างนับจากวันที่เป็นลูกจ้าง หรือขึ้นทะเบียนวันแรก

การบินไทย1

พ้นรัฐวิสาหกิจ สู่สถานะเอกชน

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 การบินไทยได้ทำหนังสือแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กรณี กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของการบินไทย ได้ปรับลดสัดส่วนการถือครองหุ้นจากเดิม 51.03% โดยได้ขายหุ้นจำนวน 3.17% ของจำนวนหุ้นที่ออกและชำระแล้ว ให้แก่กองทุนรวมวายุภักษ์หนึ่ง แต่กระทรวงการคลังยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ด้วยจำนวนหุ้น 47.86%

ภายหลังการลดสัดส่วนการถือหุ้นดังกล่าวของกระทรวงการคลัง ส่งผลให้การบินไทยหลุดพ้นจากสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

การเปลี่ยนสถานะจากรัฐวิสาหกิจเป็นเอกชนดังกล่าว จะช่วยเพิ่มคล่องตัวให้การบินไทยในกระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้ พ.ร.บ.ล้มละลายฯ เนื่องจากการบินไทยมีหนี้สินเป็นจำนวนมากและต้องเจอกับวิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้ไม่สามารถให้บริการได้ตามปกติ และขาดรายได้ที่จะนำมาชำระหนี้ โดยตัวเลขล่าสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 การบินไทยมีหนี้สินราว 3.5 แสนล้านบาท

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo