World News

อินเดียเตรียมจำหน่าย ‘ยารักษาโควิด’ แบบฉีด หลังเพิ่งประกาศแผนขาย ‘ยาเม็ด’

“บริษัทอินเดีย” เตรียมแผนวางจำหน่าย “ยารักษาโควิด -19″ แบบฉีด สำหรับผู้ป่วยอาการรุนแรง หลังจากอีกบริษัทเพิ่งประกาศขายยาแบบเม็ด ด้านนายกฯ นเรนทรา โมดี ชวนฝึก “โยคะ” สร้างภูมิต้านทานไวรัส

 

เมื่อคืนวันที่ 21 มิถุนายน 2563 ซิปลา (Cipla) บริษัทเภสัชภัณฑ์สัญชาติอินเดีย เปิดเผยการวางจำหน่ายยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) ชนิดผงแห้ง แบบฉีด ขนาด 100 มิลลิกรัม ในตลาดภายในประเทศ เพื่อการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) อาการรุนแรง

ยารักษาโควิด

เรมเดซิเวียร์ เป็นยาต้านไวรัสที่มีขอบเขตการออกฤทธิ์กว้าง พัฒนาโดยกิลเลียด ไซเอนเซส (Gilead Sciences) บริษัทชีวเภสัชภัณฑ์สัญชาติอเมริกัน ซึ่งได้ขยายการอนุญาตให้ใช้สิทธิโดยไม่จำกัดจำนวนผู้รับอนุญาต เพื่อเปิดทางให้บริษัทอินเดียและปากีสถานจำนวนหนึ่ง รวมถึงซิปลา ผลิตและจัดจำหน่ายยาเรมเดซิเวียร์

“เราทุ่มลงทุนกับการสำรวจหนทางที่เป็นไปได้ทั้งหมดในการช่วยชีวิตผู้คนหลายล้านคนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 และการวางจำหน่ายยาครั้งนี้ถือเป็นหมุดหมายที่มีนัยสำคัญต่อสิ่งที่เรากระทำมา เราจะเดินหน้าทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายในระบบนิเวศสาธารณสุขเพื่อการเข้าถึงการรักษาที่มีหวัง ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อของเราที่ว่า ไม่ควรมีผู้ป่วยรายใดถูกปฏิเสธการเข้าถึงการรักษาเพื่อช่วยชีวิต” อูมัง โวห์รา กรรมการผู้จัดการและซีอีโอโลกของซิปลา กล่าวโดยไม่ได้เปิดเผยราคาของยาฉีดตัวนี้

ซิปลาเสริมว่า บริษัทจะทำการค้ายาเรมเดซิเวียร์ผ่านร้านค้าของตนเองและร้านค้าของหุ้นส่วน และจะจัดสรรยาผ่านช่องทางของรัฐบาลและตลาดเสรี เพื่อรับประกันว่าการกระจายยาตัวใหม่นี้มีความเท่าเทียมกัน

ยารักษาโควิด

อีกบริษัทจ่อขาย ยารักษาโควิด -19 แบบเม็ด

ก่อนหน้านี้ เกล็นมาร์ค ฟาร์มาซูติคัลส์ (Glenmark Pharmaceuticals) เผยการเป็นบริษัทอินเดียแห่งแรกที่จำหน่าย ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ในตลาดภายในประเทศ เพื่อรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อาการไม่รุนแรงจนถึงปานกลาง

คำแถลงจากบริษัท เกล็นมาร์ค ฟาร์มาซูติคัลส์ ระบุว่า หน่วยงานกำกับควบคุมยาของประเทศได้อนุมัติให้บริษัทผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งจะถูกจัดจำหน่ายตามใบสั่งยาจากแพทย์ภายใต้ชื่อฟาบิฟูล (FabiFlu) ในราคา 1.35 ดอลลาร์ หรื 44 บาทต่อเม็ด

ทั้งนี้ ยาฟาวิพิราเวียร์ที่ได้รับการสนับสนุนด้วยหลักฐานทางคลินิก สามารถใช้รักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีโรคอื่นปรากฏร่วมอยู่ด้วย เช่น โรคเบาหวาน และโรคหัวใจ รวมถึงมีอาการของโรคโควิด-19 ในระดับไม่รุนแรงจนถึงปานกลาง

คำแถลงเสริมว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ช่วยลดปริมาณไวรัสอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลา 4 วัน และช่วยให้ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรงจนถึงปานกลาง มีอาการดีขึ้นสูงถึง 88%

เมื่อนับถึงวันที่ 21 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงสาธารณสุขของอินเดีย ระบุว่ายอดผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในประเทศได้ทะลุ 4 แสนราย ส่วนยอดผู้ป่วยเสียชีวิตได้ทะลุ 13,000 ราย

บริษัทยาอินเดีย-สหรัฐ จับมือพัฒนาวัคซีนโควิด-19 คาดขายต้นปีหน้า

ต้นเดือนมิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา แพนนาเซีย ไบโอเทค (Panacea Biotec) บริษัทเภสัชภัณฑ์อินเดียอีกแห่ง ได้เริ่มต้นทำงานร่วมกับ รีฟานา (Refana) บริษัทเภสัชภัณฑ์อเมริกัน เพื่อพัฒนาและจัดตั้งสายการผลิตวัคซีนโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ผ่านกิจการร่วมค้าในไอร์แลนด์

แพนนาเซีย ไบโอเทค จะรับผิดชอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการผลิตเชิงพาณิชย์ ขณะที่กิจการร่วมค้ารับผิดชอบการพัฒนาทางคลินิกและการขึ้นทะเบียนทั่วโลก โดยทั้งแพนนาเซียฯ และรีฟานา จะรับผิดชอบการจำหน่ายและการแจกจ่ายวัคซีนในดินแดนที่เกี่ยวข้อง

“การทำงานร่วมกับรีฟานามีเป้าหมายผลิตวัคซีนทางเลือกสำหรับโรคโควิด-19 กว่า 500 ล้านโดส ซึ่งคาดว่าจะพร้อมส่งมอบกว่า 40 ล้านโดสภายในต้นปีหน้า โดยวัคซีนชนิดเชื้อตายทั้งหมดมีความน่าเชื่อถือด้านความปลอดภัยและประสิทธิผลสูงกว่า มีประวิตศาสตร์ยาวนานและความเข้าใจกลไกการออกฤทธิ์ที่ดีกว่า ซึ่งเห็นชัดเจนตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา” ราเชศ เชน กรรมการผู้จัดการของแพนนาเซีย ไบโอเทค กล่าว

ยารักษาโควิด

นายกฯ อินเดียชวนฝึก “โยคะ” เอาชนะโควิด-19

นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ยังแสดงทัศนะว่าโลกกำลังต้องการ “โยคะ” มากกว่าที่เคย ขณะเผชิญการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19

โมดีกล่าวว่า ภูมิคุ้มกันร่างกายที่แข็งแกร่งช่วยเอาชนะโรคโควิด-19 ได้ ซึ่งโยคะมีวิถีทางและท่าทางอันหลากหลาย ที่ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกาย เสริมสร้างความแข็งแรงทั้งร่างกายและกระบวนการเผาผลาญอย่างมาก

“โรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจเป็นหลัก ดังนั้น ‘ปราณายามะ’ (การควบคุมลมหายใจ) จะช่วยให้ระบบทางเดินหายใจของเราแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ผมขอเชิญชวนทุกคนทำปราณายามะเป็นประจำ” โมดีกล่าว

“ผู้ป่วยโรคโควิด-19 จำนวนมากกำลังฝึกการควบคุมลมหายใจปราณายามะเพื่อเอาชนะไวรัสโคโรนา การออกกำลังด้วยโยคะท่าทางต่างๆ ช่วยเราเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันและพัฒนาระบบทางเดินหายใจด้วย”

ทั้งนี้ โมดีแสดงทัศนะดังกล่าวเนื่องในวันโยคะสากล (IDY) ซึ่งตรงกับวันที่ 21 มิถุนายนของทุกปี

ที่มาสำนักข่าวซินหัว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo