COVID-19

ลุ้นศบค. อนุมัติ 22 ข้อ เปิด ‘ผับ-บาร์’ งดเสียงดัง ห้ามเดิน มาได้กลุ่มละ 5 คน

เปิด ‘ผับ-บาร์’ เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง ศบค.ชุดเล็ก ร่วมหารือผู้ประกอบการสถานบันเทิง ได้ร่างมาตรการ 22 ข้อ เตรียมเสนอต่อที่ประชุมชุดใหญ่ ก่อนผ่อนคลายระยะ 5 วันที่ 1 กรกฎาคมนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  คณะทำงานมาตรการผ่อนคลาย ในคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ชุดเล็ก ได้ร่วมหารือกับตัวแทนผู้ประกอบการสถานบันเทิง และได้มีการร่าง 22 มาตรการ เพื่อรองรับการ เปิด ผับ บาร์ และสถานบันเทิง โดยจะเสนอต่อที่ประชุม ศบค. ชุดใหญ่ ก่อนที่จะผ่อนคลายมาตรการระยะ 5 ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 นี้

เปิด 'ผับ-บาร์'

22 ร่างมาตรการ เปิด ‘ผับ-บาร์’ 

  • ควบคุมจำนวนผู้เข้าใช้บริการในการ เปิด ‘ผับ-บาร์’ ให้เหมาะสมต่อพื้นที่มิให้แออัด และมีการเว้นระยะห่างทางสังคม
  • ต้องมีการตรวจคัดกรองอุณหภูมิพนักงานและผู้ใช้บริการทุกคน
  • จัดให้มีบริการเจลแอลกอฮอล์ล้างมือบริเวณทางเข้า และตามจุดต่างๆตามความเหมาะสม
  • งดการเข้าใช้บริการเป็นกลุ่มเกิน 5 คนขึ้นไป
  • จัดระบบเข้าคิวบริเวณทางเข้าให้มีการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลโดยมีผู้ควบคุม
  • จัดให้มีระยะห่างระหว่างโต๊ะ แต่ละโต๊ะไม่น้อยกว่า 2 เมตร หรือทำฉากกั้นระหว่างโต๊ะ
  • กำหนดจุดวางเก้าอี้สำหรับแต่ละโต๊ะ ให้มีการเว้นระยะห่างระหว่างที่นั่งอย่างน้อย 1 เมตร โดยควบคุมไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายเก้าอี้
  • จัดให้มีการระบายอากาศที่ดี
  • อนุญาตให้นั่งรับประทานอาหาร และเครื่องดื่มเท่านั้น งดการส่งเสียงร้องเพลง และเต้นรำ
  • ใช้เมนูกระดาษแบบครั้งเดียวทิ้ง (disposable menu ) แทนการใช้เมนูเล่ม

เปิด 'ผับ-บาร์'

  • การสั่งเครื่องดื่มให้สั่งเป็นรายแก้ว โดยให้พนักงานเป็นผู้เสิร์ฟ แทนการสั่งเป็นเหยือก หรือเป็นขวด เพื่อเลี่ยงการสัมผัสขวด ถังน้ำแข็ง และแก้วของผู้อื่น รวมถึงป้องกันการสลับแก้วกัน
  • พนักงานต้องใส่หน้ากากอนามัย และ face shield ตลอดเวลา
  • จัดให้มีฉากกั้นระหว่างเวทีหรือพื้นที่การแสดง กับพื้นที่ในส่วนของผู้ใช้บริการ หรือจัดระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร
  • พูดแสดงบนเวทีต้องสวม face shield ตลอดเวลา
  • จัดให้มีผู้ควบคุมไม่ให้เกิดการชุมนุม รวมกลุ่ม ตะโกน หรือใช้เสียงดัง และไม่ให้มีการเดินไปเดินมา
  • จัดให้มีอุปกรณ์เครื่องใช้ สำหรับการรับประทานอาหาร และเครื่องดื่ม สำหรับแต่ละบุคคล โดยมีช้อนกลาง และที่วางช้อนกลางส่วนตัว สำหรับผู้ใช้บริการแบบหมู่คณะ
  • ต้องทำความสะอาดสุขาทุก 30-60 นาที
  • ทำความสะอาดพื้นที่บริการ โต๊ะ เก้าอี้ ราวจับ ลูกบิดประตู เคาน์เตอร์ จุดสัมผัส และอุปกรณ์อื่นๆ ด้วยผงซักฟอก หรือน้ำยาทำความสะอาดฆ่าเชื้อ พร้อมกับจัดให้มีการระบายอากาศในพื้นที่ ให้มีความเหมาะสม อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง
  • ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการเล่น การแข่งขัน หรือทำให้เกิดการรวมกลุ่ม การเชียร์กัน
  • งดการใช้เครื่องเล่น หรืออุปกรณ์การเล่นเกมต่างๆ เช่น โต๊ะพูล เป้าลูกดอก ตู้เกม เป็นต้น
  • จัดพื้นที่สำหรับการสูบบุหรี่โดยเฉพาะ และให้มีการเว้นระยะห่าง ทางสังคม อย่างเหมาะสม
  • งดให้พนักงานบริการ หรือตัวแทนประชาสัมพันธ์เครื่องดื่ม นั่งรวมกับผู้ใช้บริการ

มองตามความเป็นจริง! มาตรการ เปิด ‘ผับ-บาร์’

ก่อนหน้านี้ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊ก “Thira Woratanarat” เกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส “โควิด” โดยระบุว่า อย่าโลกสวยให้มองตามความเป็นจริง ในมาตรการสำหรับผับ บาร์ และคาราโอเกะ

รศ.นพ.ธีระ ระบุว่า โจทย์หลักที่ต้องตีให้แตกคือ ความเสี่ยงหลักอยู่ที่อะไรบ้าง โดยกิจการเหล่านี้ ถือเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ แต่มีการเต้น และอาจมีการสัมผัสใกล้ชิดระหว่างคน ตั้งแต่กระซิบกระซาบ ตะโกน หรือ กอดรัดฟัดเหวี่ยงกันตามสถานการณ์ รวมถึงการแชร์ของกินของใช้กัน ระหว่างใช้บริการ โดยย้ำว่า ปัจจัยเสี่ยงหลักที่จะทำให้โรคระบาด คือ การใกล้ชิด แชร์ของกินของใช้ สัมผัสจับต้องคน หรือสิ่งของที่มีเชื้อแล้วนำเข้าสู่ร่างกาย และระหว่างใช้สุขา จะอ้วก หรืออื่นๆ

ส่วนปัจจัยหนุนเสริมที่จะทำให้ใกล้ชิดกัน สัมผัสกัน ขาดสติ คือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาเสพติดต่างๆ และสิ่งแวดล้อมรอบตัว

พร้อมกันนี้ รศ.นพ.ธีระ ยังให้คำแนะนำถึงความเสี่ยงที่พอจะจัดการลดได้ ประกอบไปด้วย

  • ทำความสะอาดจานชาม ช้อนส้อม ตะเกียบ แก้วน้ำ สถานที่ ที่นั่ง ราวจับ ไมโครโฟน และสุขาให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
  • คัดกรองคน ทั้งคนทำงาน และคนมาใช้บริการ ด้วยกระบวนการมาตรฐาน วัดไข้ และใช้ระบบบันทึกรายละเอียดบุคคลเพื่อใช้ในการติดตามหรือเตือนให้ไปตรวจหากเกิดมีการตรวจพบคนติดเชื้อในวันเวลาที่มาใช้บริการ
  • จำกัดจำนวนคนในพื้นที่
  • รักษาระยะห่างระหว่างวงดนตรี/นักดนตรี/นักแสดง กับลูกค้า และงดการจับมือ
  • วงดนตรี นักดนตรี นักแสดง ใส่เฟซชิลด์ แม้จะช่วยได้ไม่มากนักก็ดีกว่าไม่ใช้
  • ลักษณะของเพลง : ควรเลี่ยงเพลงที่มี “เนื้อหา” ปลุกเร้าอารมณ์ทางเพศ หรือเน้นความรุนแรงและกระตุ้นให้เกิดการตะโกน แต่เรื่องทำนองเพลงนั้น งานวิจัยยังมีข้อถกเถียงกัน
  • เน้นนโยบายไม่แชร์ของกินของใช้
  • เจ้าของกิจการควรจัดการเรื่องต่างๆ ที่ระบุไว้อย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้เกิดโรคระบาดจนทำให้กิจการต้องปิดอีกยาว สิ่งที่ควรทำเพิ่มเติม และสำคัญอย่างมากคือ การส่งคนทำงานทุกคนไปตรวจคัดกรองโรค COVID-19 ทุก 1-2 สัปดาห์ ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านครับ

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

Avatar photo