CEO INSIGHT

‘วิบูลย์ กรมดิษฐ์’ ยกระดับอมตะ สู่ ‘Smart City’ เมืองแห่งอนาคต

499A3549
วิบูลย์ กรมดิษฐ์

การดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเป็นภารกิจที่ภาครัฐ และเอกชนกำลังจับมือไปด้วยกัน เพื่อให้ไทยยังคงเป็นพื้นที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ต่างๆ ที่เป็นไปอย่างรวดเร็วตามยุคดิจิทัล และการมีคู่แข่งขันที่ดุเดือดรอบบ้าน

มุมมองของ “อมตะ” ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมรายใหญ่และเก่าแก่ นับว่ามีความสำคัญที่จะทำให้เห็นทิศทางการลงทุน และการเตรียมรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) ให้คำตอบกับเราในหลายเรื่อง

อมตะ ซิตี้ ระยอง 4

ตั้ง Holding Company ขยายสู่ธุรกิจบริการในอนาคต

อมตะ คือ “Land Developer” ในฐานะที่เรามีความชำนาญในการหาพื้นที่ และวางระบบสาธารณูปโภคให้กับผู้ประกอบการซึ่งทำมาตลอดกว่า 20 ปี ธุรกิจนี้จะเป็นหลักของเราต่อไป โดยได้ปรับแผนการพัฒนาที่ดินมาเป็น “การแบ่งเขตพื้นที่การพัฒนา” หรือจัดโซน เพราะมองว่า วิถีการบริหารงานของแต่ละประเทศที่มาลงทุนในบ้านเรามีความแตกต่าง การจัดรวมกลุ่มลูกค้าแต่ละประเทศที่มีความต้องการคล้ายคลึงกันให้อยู่ด้วยกัน จะสามารถจัดการได้ง่ายกว่า และคนในประเทศเดียวกันคุยกันรู้เรื่องกว่า เช่น ให้คนจีนคุยกับคนจีนด้วยกันย่อม

ส่วนธุรกิจที่อมตะไม่ถนัดแต่มีศักยภาพก็จะถูกจัดอยู่ในกลุ่ม “New Business Development” เพื่อสร้างผลตอบแทนใหม่ อาทิ ไฟฟ้า น้ำ หรือ ก๊าซอุตสาหกรรม สร้างโรงงานให้เช่า

“Agenda ของเรา คือ ทำแต่สิ่งที่เชี่ยวชาญ อะไรที่ไม่ถนัดไม่ทำเอง จะหาผู้ร่วมทุน ดังนั้นในธุรกิจบริการต่างๆอมตะ จะตั้งเป็นบริษัทลูก และดึงพันธมิตรเข้ามาร่วมลงทุน นำเอาทรัพย์สินที่มีอยู่ ทั้งที่ดิน และสาธารณูปโภค มาแปลงเป็นทุน  สร้างผลตอบแทนในรูปของการปันผล  ในอนาคตจะพัฒนาสู่การเป็น Holding Company”

ตัวอย่างโรงไฟฟ้า 1,400 เมกะวัตต์ ที่ขายเข้าระบบ และจำหน่ายผู้ประกอบการในนิคมฯ ต่างๆ อมตะเข้าไปถือหุ้น มีสัดส่วนที่เป็นไฟฟ้าของอมตะ คิดเป็น 260 เมกะวัตต์ หรือร่วมทุนกับฮิตาชิ เพื่อทำ Smart Factory เป็นต้น

อมตะ ซิตี้ ระยอง 6

Smart City ไฮไลท์ใน 2-3 ปี

“Smart” จะเป็นคำไฮไลท์การดำเนินธุรกิจของอมตะในอนาคต โดยมุ่งพัฒนาธุรกิจด้วยนวัตกรรมบนความท้าท้ายใหม่ๆ เช่น การพัฒนาไปสู่การเป็น “Smart City” หรือเมืองอัจฉริยะ ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายการยกระดับนิคมอุตสาหกรรมสู่ผู้นำเมืองอัจฉริยะ ทั้ง 10 ด้าน

  1.  พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy)
  2. การเดินทางอัจฉริยะ(Smart Mobility)
  3. ชุมชนอัจฉริยะ (Smart Community)
  4. สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment)
  5. ระบบการศึกษาอัจฉริยะ (Smart Education)
  6. สายการผลิตอัจฉริยะ (Smart Manufacturing) 
  7. เมืองอากาศยานอัจฉริยะ (Smart Aerospace City)
  8. นวัตกรรมอัจฉริยะ (Smart Innovation)
  9. ระบบเศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy)
  10. การบริหารจัดการเมืองแบบอัจฉริยะ (Smart Governance)

คอนเซปต์การเป็น “Smart City” ของเราจะพัฒนาเป็นส่วนๆไปให้เกิดเป็นสังคมที่เป็นเมือง (socioeconomic) ไม่ใช่ “เมืองตาย” หรือเมืองที่หยุดพัฒนา เพื่อให้พร้อมรองรับสถานการณ์ทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม การไปสู่ Smart City ต้องใช้เทคโนโลยี และดิจิทัลเข้ามาช่วยสนับสนุนในเรื่องต้นทุน ซึ่งยอมรับว่าวันนี้ยังไม่เป็นดิจิทัลที่สมบูรณ์ จำเป็นต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

เติบโตได้รัฐบาลต้องสนับสนุน

การเดินหน้าของอมตะจะเป็นไปอย่างรวดเร็วมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับการสนับสนุนจากภาครัฐด้วย โดยเฉพาะเรื่องการอำนวยความสะดวก เช่น ขั้นตอนทางกฎหมายที่ต้องยืดหยุ่น ซึ่งวันนี้เราอยู่ภายใต้กฎหมายของ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ.  และการส่งเสริมของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ล่าสุดมีสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) ถือว่าหน่วยงานเหล่านี้ช่วยอำนวยความสะดวกสบายในการทำธุรกิจ ให้เป็นไปอย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ แต่

ท้ายสุด เสถียรภาพของรัฐบาลเป็นตัวขับเคลื่อนนโยบายที่สำคัญ เพราะโดยพื้นฐานแล้วประเทศไทยถือเป็นประเทศที่น่าลงทุนอยู่แล้ว

499A3504
วิบูลย์ กรมดิษฐ์

EEC คือจุดแข่งขันกับเพื่อนบ้าน

ความท้าทายในการทำธุรกิจของอมตะหนีไม่พ้นสภาวะการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นของประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน โดยเฉพาะเวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เมียนมา ที่มีการขยายอุตสาหกรรมค่อนข้างมาก และดุเดือด ดังนั้นผู้ประกอบการต้องเตรียมตัวให้พร้อมกับสภาวะการแข่งขันอยู่เสมอ

สิ่งสำคัญ คือ การสร้างความสามารถในการแข่งขัน สะท้อนให้เห็นว่า ทำไมทั้งรัฐและเอกชนต้องผลักดันให้เกิดการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) หรือ “EEC” เพราะเป็นเครื่องมือตัวหนึ่ง ที่จะเข้ามาช่วยให้ประเทศไทยแข่งขันกับเพื่อนบ้านได้ และสามารถดึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI ) ให้กลับมาลงทุนในไทย

EEC จึงนับเป็นจุดเด่นของอมตะไปด้วย  วันนี้ภาพการพัฒนาเริ่มชัดเจนเพิ่มขึ้นในพื้นที่นี่ แต่ต้องทำให้เกิดความรอบคอบ ต้องเอาเครื่องมือนี้ไปเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านด้วย เพราะปัจจุบันเพื่อนบ้านได้ FDI ไปมาก

ภารกิจของเราวันนี้จะต้องดึง FDI กลับมา แต่ไม่ได้หมายความว่าจะดึงทุกธุรกิจ ต้องเลือก FDI ที่จะมาพัฒนาประเทศเราด้วย ต้องมีเทคโนโลยี และนวัตกรรมมากกว่า เน้นเรื่องของการใช้แรงงาน และต้องเน้นอุตสาหกรรมขั้นสูงให้มากขึ้น

อมตะ ซิตี้ เบียนหัว เวียดนาม 7

อุตสาหกรรม 4.0 มุ่งสร้างสมดุลเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อม

เช่นเดียวกันบนพื้นที่อมตะเอง ก็ต้องพิจารณาเลือกนักลงทุนที่เข้ามา หากเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ก่อมลพิษ อมตะพร้อมรองรับเข้ามาในพื้นที่ เพราะวันนี้ต้องคิดให้หนักว่า “ประเทศอยู่ได้ เราอยู่ได้ ” นักธุรกิจภาคตะวันออกซึ่งเป็นฐานลงทุนหลักของประเทศ ต้องให้ความสำคัญในเรื่องการลงทุนที่ดูแลสิ่งแวดล้อมไม่ใช่มองที่เม็ดเงินลงทุนเพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ตามมา เพราะทุกคนมีหน้าที่ต้องไม่สร้างภาระให้ลูกหลานในอนาคต

สอดคล้องกับหลักการของอมตะที่จะเดินไปสู่ “บริษัท Sustrainable Development” ทุกส่วนได้ประโยชน์อย่างแท้จริง และก่อผลกระทบน้อยที่สุด นี่คือ “อุตสาหกรรม 4.0” ในความหมายของเราที่ไม่ใช่การมุ่งแต่ดิจิทัลเท่านั้น แต่กินความถึง “สังคมอยู่ได้ สิ่งแวดล้อมต้องดี เศรษฐกิจขยายตัว”

“ยอมรับว่าอดีตเราไม่เคยคิดเรื่องเหล่านี้ คิดแต่มุมเศรษฐกิจ และการผลิตแต่เพียงด้านเดียว วันนี้ต้องคิดใหม่ ต้องทำ 3 องค์ประกอบไปพร้อมกัน ทั้งสิ่งแวดล้อม สังคมและเศรษฐกิจ และต้องบ่มเพาะรุ่นต่อรุ่นเพื่อให้เข้าใจตรงกัน”

อย่างไรก็ตาม ภาพของการลงทุนภายใต้อุตสาหกรรม 4.0 ในภาพรวมของประเทศจะหน้าตาเป็นอย่างที่เราคาดหวังหรือไม่ จะชัดเจนในอีก 3-5 ปีข้างหน้า เช่นเดียวกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องใช้เวลาเช่นกัน เนื่องจากแต่ละอุตสาหกรรมมีการลงทุนและพัฒนาแตกต่างกันไป เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม (Robotics) อาจจะใช้เวลา 2-3 ปี เป็นต้น โดยมี Smart City เป็นปัจจัยหลักในการนำไปสู่ อุตสาหกรรม 4.0

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight