World News

โลกหลังโควิด-19: ยังมองไม่เห็นระเบียบโลกใหม่ – AI เพิ่มบทบาทสำคัญ

ผู้เชี่ยวชาญมอง “โลกหลังโควิด-19” มีแนวโน้มไร้ระเบียบ ขาดแคลนภาวะผู้นำ ขณะที่ AI จะก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญด้านสาธารณสุข เป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงของมนุษย์

 

เมื่อไม่นานนี้ มหาวิทยาลัยชิงหัว สถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของจีนได้จัด “การประชุมสันติภาพโลก” (World Peace Forum) ปี 2020 ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งมีคณะผู้เชี่ยวชาญระดับสูงจาก 7 ประเทศ ร่วมอภิปรายถึงความจำเป็นของความร่วมมือหลังการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)

“ยามมนุษยชาติเผชิญภัยคุกคามร่วมขนานใหญ่เช่นนี้ ประชาคมระหว่างประเทศได้สร้างแนวร่วมและการรับมือที่สอดประสานและมีประสิทธิภาพ ทว่าการเมืองโลกก็เกิดการแบ่งขั้วที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น รวมถึงความไม่สมเหตุสมผล ความไม่แน่นอน และความไร้เสถียรภาพ” ชิวหย่ง อธิการบดีมหาวิทยาลัยชิงหัว กล่าวในพิธีเปิดการประชุม

อภิปราย โลกหลังโควิด-19

โลกหลังโควิด-19 อาจ “ไร้ขั้ว”

ดร. เกรแฮม อัลลิสัน จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดของสหรัฐ แบ่งปันมุมมองต่อสายสัมพันธ์จีน-สหรัฐ ว่า แม้มหาอำนาจทั้ง 2 จะยังคงประชันขันแข่งกันต่อไปหลังโรคระบาดใหญ่ แต่ขณะเดียวกันก็เกิดความร่วมมือเพื่อการบรรลุผลประโยชน์ร่วม เนื่องจากไวรัสโคโรนาได้ย้ำเตือนว่า ทุกชาติมิอาจเอาชนะภัยคุกคามภายนอกแต่เพียงผู้เดียวได้

ดร. อเล็กซานเดอร์ เอ. ดีย์คิน จากรัสเซีย กล่าวว่า เหล่าศูนย์กลางอำนาจชั้นนำในปัจจุบันไม่ได้เข้าใจดีหรือมีมุมมองชัดเจนต่อระเบียบโลกในอนาคตหลังโควิด-19 ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะกลายเป็น โลกไร้ขั้ว เหมือนที่นักวิชาการ ริชาร์ด ฮาส เปรยไว้นานแล้ว ทำให้เราควรแสวงหาแผนการจัดระเบียบโลกแบบใหม่ ที่หลายฝ่ายต่างรับผิดชอบร่วมกันในระยะยาว

โวล์เกอร์ เพิร์ธส ผู้อำนวยการสถาบันกิจการระหว่างประเทศความมั่นคงเยอรมัน (SWP) ชี้ว่า การเพิ่มพูนความร่วมมือระดับพหุพาคีอันแนบชิดจะส่งผลดีต่อการรักษาระบบสาธารณสุขโลก เพื่อเตรียมพร้อมรับมือวิกฤตลักษณะเดียวกันที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

อภิปราย โลกหลังโควิด-19

ขาดแคลนภาวะผู้นำโลก

ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรีไทย มองว่าโรคระบาดใหญ่ได้ลดทอนความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ ขณะที่กลุ่มประเทศเอเชียส่วนหนึ่งก็หันมาช่วยเหลือซึ่งกันและกันแทน

“การต่อต้านโลกาภิวัฒน์ สงครามการค้า และสงครามเทคโนโลยี รวมถึงระบอบพหุภาคีและกระแสต่อต้านระบอบพหุภาคี ซึ่งมีมาก่อนโควิด-19 จะยังคงดำเนินต่อไป ดังนั้นความมั่นคงและการหารือในหมู่ประเทศเอเชียจึงจำเป็นต่อเสถียรภาพในเอเชียหลังโควิด-19”

ดร. เหยียนเสวียทง จากมหาวิทยาลัยชิงหัว เชื่อว่าระเบียบโลกในอนาคตอันใกล้จะเป็น “ระเบียบไร้ความจริงใจ” (order of bad faith) เนื่องจากขาดแคลนภาวะผู้นำโลก แต่ยังมีความหวังว่า อนาคตจะไม่ไร้ทางตันด้วยทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างแข็งขัน

ทั้งนี้ ท่ามกลางการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 เทคโนโลยีทรงประสิทธิภาพอย่าง “ปัญญาประดิษฐ์” (AI) ได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญอย่างมาก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจากจีนและสหรัฐร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางการประยุกต์ใช้และความร่วมมือทางเทคโนโลยีหลังโรคระบาด

ai โลกหลังโควิด

AI รับบทสำคัญ

เซวียหลัน จากวิทยาลัยชวาร์ซแมนของมหาวิทยาลัยชิงหัว กล่าวว่า ประชาคมมนุษยชาติพานพบความเสี่ยงและความท้าทายร่วมกัน เราจึงควรจับมือกันมากกว่าต่อสู้กัน พร้อมเน้นย้ำความสำคัญของการจัดตั้งระบบกำกับดูแลปัญญาประดิษฐ์ มาตรฐานทางจริยธรรม และหลักการ โดยจีนและสหรัฐควรปฏิบัติตามหลักการสามซี (3C) ได้แก่ ร่วมมือ ร่วมงาน และแข่งขัน

สจวร์ต รัสเซลล์ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียของสหรัฐชี้ว่า ปัญญาประดิษฐ์มีส่วนช่วยตรวจหาโรค เฝ้าติดตาม และการตัดสินใจของบุคลากรการแพทย์ ประเทศต่างๆ ควรร่วมมือกันสร้างสรรค์ปัญญาประดิษฐ์ที่ปลอดภัยและเป็นประโยชน์ ซึ่งจะนำพาสินค้าและบริการอันไร้ขีดจำกัดมาให้มนุษยชาติ

จางย่าฉิน ศาสตราจารย์อาวุโสและผู้อำนวยการสถาบันวิจัยอุตสาหกรรมอัจฉริยะของมหาวิทยาลัยชิงหัว เผยว่าโควิด-19 ได้สร้างความท้าทายทางเทคโนโลยี และมนุษยชาติควรใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์ในการตรวจโรคและพัฒนายา พร้อมเสนอหลักการแบ่งปันข้อมูลปัญญาประดิษฐ์ ได้แก่ รักษาการสื่อสาร ได้รับอนุญาต และพิจารณาผลลัพธ์

เวนเดล วอลแลช จากมหาวิทยาลัยเยลของสหรัฐ มองว่า จีนในฐานะมหาอำนาจด้านนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์รายใหม่ ต้องดำเนินบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลปัญญาประดิษฐ์ และทุกประเทศควรดำเนินความร่วมมือระหว่างประเทศในการพัฒนาความมั่นคง ปัญญาประดิษฐ์ และการวิจัยอื่นๆ เพื่อผลประโยชน์ร่วมของมนุษยชาติ

แมกซ์ เทกมาร์ค จากสหรัฐเผยว่า การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์นำพาความท้าทายมาสู่โลก เวลานี้เราทำเรื่องต่างๆ โดยอาศัยปัญญาประดิษฐ์ ความเสี่ยงและความท้าทายจากเทคโนโลยีนี้จึงเป็นเรื่องของคนทั้งโลก

เทกมาร์คเสริมว่า จีนสามารถมีบทบาทหลักในการจัดการความท้าทายเหล่านี้ และช่วยออกแบบอนาคตของปัญญาประดิษฐ์ที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นตัวช่วยและประโยชน์แก่มนุษย์ในยุคหลังโควิด-19 ประชาคมระหว่างประเทศจึงควรมีวิสัยทัศน์เชิงบวกร่วมกันในเรื่องนี้

อนึ่ง การประชุมสันติภาพโลก ปี 2020 จัดขึ้น 2 วัน ระหว่างวันที่ 16-17 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา โดยมุ่งเน้นความมั่นคงของเอเชีย-แปซิฟิกหลังการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 และความสัมพันธ์จีน-สหรัฐ ในยุคหลังโรคระบาดใหญ่

ธนา เธียรอัจฉริยะ

ก่อนหน้านี้ กูรูด้านการตลาดของไทย “ธนา เธียรอัจฉริยะ” เคยเขียนเฟซบุ๊กเกี่ยวกับ โลกหลังโควิด -19 ในชื่อบทความเรื่อง “คู่มือโลกหลังโควิด” ( Post covid handbook)  ดังนี้

“เราคงคาดการณ์ได้ไม่ยากว่า โลกหลังโควิดนั้นน่าจะมีคนจำนวนมากต้องถูกออกจากงานที่เคยมี ไม่ว่าจากสาเหตุที่เศรษฐกิจที่แย่ลง บริษัทห้างร้านปิดตัวไปเนื่องจากวิกฤติ โรงงานเริ่มใช้เครื่องจักรมากขึ้น และบริษัทที่ยังคงอยู่ก็จะต้องทำตัวผอมลงเพื่อให้อยู่รอด คนที่ถูกออกจากงานเหล่านี้ จำนวนไม่น้อยที่อาจจะมีอายุในวัยที่เริ่มต้นอะไรก็ยากมาก หรือแม้แต่ผู้ที่อยู่รอดจากภัยพิบัตินี้ที่เป็นธุรกิจขนาด SME จะใช้วิธีเดิม ทำแบบเดิมก็รู้แล้วว่าคงไม่ได้ กระบวนการที่จะเริ่มธุรกิจ เริ่มอาชีพใหม่นั้นควรจะเริ่มอย่างไรดี

นอกจากนั้น ภัยพิบัติโควิดครั้งนี้ ยังนำมาถึงกระบวนความคิดใหม่ๆ ที่ตั้งคำถามกับการดำเนินชีวิตหรือธุรกิจแบบเดิม การสร้างความมั่งคั่งแบบทำงานหนักแทบตาย การแสวงหาความสำเร็จ ชื่อเสียง การสร้างอาณาจักรใหญ่ๆ กินรวบทุกอย่าง วิธีคิดเหล่านี้กำลังถูกท้าทายจากการเขย่าของโควิดอย่างมาก การใฝ่หาความสมดุลของชีวิต ความสุขในการทำงาน ความตระหนักว่าชีวิตไม่มีอะไรแน่นอน การที่ตัวเล็กและเบานั้นกลับกลายเป็นเรื่องดีเวลาพายุมา ฯลฯ กระบวนการคิดที่จะเริ่มอะไรใหม่ๆ มีจุดประสงค์ใหม่ก็มีคำถามอีกว่า จะเริ่มอย่างไรดีเช่นกัน…”

ที่มาสำนักข่าวซินหัว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo