Business

ได้เงินยัง!! ‘ธ.ก.ส.’ โอนเงินเยียวยาเกษตรกรงวดที่ 2 ครบ 7 ล้านรายแล้ว

ได้เงินยัง!! “ธ.ก.ส.” โอน เงินเยียวยาเกษตรกรงวดที่ 2 ครบ 7,051,605 รายตามแผน คิดเป็นเงิน 35,258 ล้านบาท ประกาศตามหาเกษตรกรอีก 141,895 รายที่ยังไม่แจ้งเลขบัญชี

นายกษาปณ์ เงินรวง รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า วันนี้ (21 มิ.ย.) ได้โอน เงินเยียวยาเกษตรกรงวดที่ 2 ของเดือนมิถุนายนให้เกษตรกรแล้ว 7,051,605 ราย เป็นเงิน 35,258 ล้านบาท เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ ทั้งนี้ รวมการจ่ายเงิน 2 งวดคิดเป็นเงิน 71,549.96 ล้านบาท

สำหรับรายชื่อเกษตรกรที่กระทรวงเกษตรฯ ส่งมาเพิ่มเติมระหว่างวันที่ 1 – 14 มิถุนายนนั้น จะทยอยโอนเงินงวดที่ 2 ให้ตั้งแต่วันที่ 22 – 25 มิถุนายน ส่วนที่อยู่ระหว่างตรวจสอบความถูกต้องของบัญชีธนาคาร ซึ่งเกษตรกรแจ้งข้อมูลเข้ามาเพิ่ม 59,519 ราย หากได้รับคำยืนยันจากธนาคารต่างๆ จะโอนให้ทันที

เงินเยียวยาเกษตรกรงวดที่ 2

ส่วนที่ยังไม่สามารถโอนได้มีทั้งหมด 141,895 ราย เนื่องจากเกษตรกรผู้ได้รับสิทธิ์ยังไม่แจ้งเลขบัญชี จึงขอให้เกษตรกรแจ้งบัญชีผ่าน www.เยียวยาเกษตรกร.com โดยเป็นบัญชีธนาคารใดก็ได้ รวมทั้งพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก

ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระดับภูมิภาค ซึ่งจะไปติดต่อถึงบ้าน หากได้รับแจ้งเลขบัญชีและตรวจสอบความถูกต้อง ของข้อมูลแล้ว ธ.ก.ส.จะโอนให้ทันที และมีผู้ประสงค์คืนสิทธิ์ หรือ สละสิทธิเงินเยียวยาเกษตรกร โดยนำเงินไปคืนที่เคาน์เตอร์ ธ.ก.ส. แล้ว 4 ราย

นายกษาปณ์ กล่าวอีกว่า สำหรับรายชื่อเกษตรกร ที่กระทรวงเกษตรฯ จะส่งให้เพิ่มเติม เป็นกลุ่มที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกิน ซึ่งที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบ ให้ได้รับเงินเยียวยาประมาณ 137,093 ราย

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่าง ตรวจสอบความซ้ำซ้อนกับสิทธิ์อื่น ๆ ได้แก่ โครงการเราไม่ทิ้งกัน และ ประกันสังคม หากกระทรวงเกษตรฯ ส่งให้ ธ.ก.ส.จะเร่งโอนเงินให้ภายใน 3 วันทำการก่อนสิ้นเดือนมิถุนายน

เงินเยียวยาเกษตรกรงวดที่ 2

ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2563/2564 ได้ผ่านความเห็นชอบ จากคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) แล้ว ซึ่งรูปแบบแนวทาง จะช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกข้าว ให้มีรายได้ไม่ต่ำกว่าที่ประกันไว้ และมีมาตรการเสริมช่วยเหลืออีกหลายมาตรการ โดยเฉพาะ ช่วยค่าบริหารจัดการ และพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

ซึ่งเดิมช่วยค่าต้นทุน 500 บาทต่อตัน ไม่เกิน 20 ไร่ ช่วยค่าเก็บเกี่ยว 500 บาทต่อตัน ไม่เกิน 20 ไร่ แต่บางครั้งค่าเก็บเกี่ยวมีปัญหา เพราะภัยแล้ง น้ำท่วม ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์ จึงขอปรับปรุงแนวทางใหม่ คือ ให้เงินส่วนนี้ก้อนเดียวในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ หรือ 20,000 บาทต่อครัวเรือน

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการอื่น ๆ เสริม เช่น กรณีช่วงไหนที่ปริมาณข้าวออกมามาก จะใช้วิธีชะลอการขาย ให้เกษตรกรเก็บข้าวเปลือกไว้ที่ยุ้งฉางก่อน โดยได้รับเงินชดเชยตันละ 1,500 บาท แต่หากเป็นสถาบันเกษตรกรก็ได้อีก 1,500 บาทเช่นกัน ขณะที่โรงสี และสหกรณ์ต่าง ๆ หากช่วยรับซื้อข้าว เพื่อไม่ให้ปริมาณข้าวออกสู่ตลาดมาก ภาครัฐจะช่วยเรื่องดอกเบี้ย 3%

อย่างไรก็ตาม พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่ปลูกข้าวหอมมะลิ ซึ่งรัฐบาลจะประกันรายได้ให้กับเกษตรกร โดยข้าวหอมมะลิประกันตันละ 15,000 บาท หากวันไหน ราคาข้าวหอมมะลิในตลาดต่ำกว่านี้ รัฐบาลพร้อมจ่ายเงินส่วนต่าง ให้กับเกษตรกรทันที ซึ่งหลักเกณฑ์ทั้งหมดนี้

ทางกระทรวงพาณิชย์ จะนำเสนอขอความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ และวันพรุ่งนี้จะมีประชุมคณะอนุกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ข้าวไทย ครั้งที่ 1/2563 เพื่อกำหนดแนวทางการทำตลาดข้าวไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้และวางกรอบแนวทางไว้ปีหน้าได้ต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo