Business

ถอดความสำเร็จ ‘สยามพิวรรธน์’ จากสยามเซ็นเตอร์ สู่ สยามพรีเมี่ยม เอาท์เล็ต

บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด นับเป็นธุรกิจค้าปลีก ที่สร้างประวัติศาสตร์ ในสมรภูมิค้าปลีกไทย หลังจาก อยู่มานานครบ 61 ปีในปี 2563 นี้

โดยเฉพาะกับก้าวล่าสุด การเปิดโครงการ สยาม พรี่เมียม เอาท์เล็ต มูลค่า 4,000 ล้านบาท โครงการค้าปลีกระดับลักซ์ชัวรี่ พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต ที่ได้ผู้ร่วมทุนยักษ์ใหญ่ อย่าง ไซม่อน พร็อพเพอร์ตี้ กรุ๊ป ซึ่งเพิ่งเปิดสดๆ ร้อนๆ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ที่ผ่านมานี่เอง

สยามพิวรรธน์

ที่บอกว่า สยามพิวรรธน์ สร้างประวัติศาสตร์ ให้วงการค้าปลีกไทย ก็เพราะหากไล่เรียงดูธุรกิจค้าปลีกในเครือ จะเห็นได้ว่า แต่ละโครงการ มีความแตกต่าง และมีเอกลักษณ์ต่างกันอย่างชัดเจน และประสบความสำเร็จอย่างมาก จนคว้ารางวัลระดับโลกมากมาย

ที่สำคัญคือ โครงการค้าปลีกที่สร้างสรรค์ขึ้น ทำให้จากเดิมที่ ค้าปลีกเมืองไทย ต้องไปดูงานเมืองนอก กลับกลายเป็น ผู้ประกอบการค้าปลีกเมืองนอก ต้องเข้ามาดูค้าปลีกเมืองไทยแทน และมีส่วนทำให้ ประเทศไทย กลายเป็นเดสติเนชั่นด้านการช้อปปิ้งอีกด้วย

จากความสำเร็จดังกล่าว ทำให้น่าสนใจถึงที่มา ที่กว่าจะถึงวันนี้ของสยามพิวรรธน์ ซึ่งไล่เรียงได้ดังนี้

21JUN 60 ปี สยามพิวรรธน์

ก้าวแรก โรงแรมห้าดาวระดับนานาชาติ

บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ก่อตั้งครั้งแรกภายใต้ชื่อ บริษัท บางกอกอินเตอร์คอนติเนนตอล โฮเต็ลส จำกัด เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2502 เพื่อบริหารและพัฒนาที่ดินจำนวน 50 ไร่ บริเวณถนนพระรามที่ 1 ก่อสร้างโรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล ในปี 2509

สยามอินเตอร์คอนติเนนตัล ถือเป็นโรงแรมรห้าดาวระดับนานาชาติแห่งแรกของไทย โดยมี พลเอกเฉลิมชัย จารุวัสตร์ เป็นผู้ก่อตั้ง จากนั้น ชฎาทิพ จูตระกูล บุตรสาวของพลเอกเฉลิมชัย ได้เข้ามารับช่วงต่อ

 

ต่อมาในปี 2516 ได้รุกคืบเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีก ด้วยการเปิดโครงการ สยามเซ็นเตอร์ ขึ้น เป็นศูนย์การค้ามาตรฐานนานาชาติแห่งแรกของไทย ภายใต้ชื่อเดิมคือ ศูนย์การค้าสยาม ตามด้วย การปิดโรงแรมสยามอินเตอร์คอนฯ ที่เปิดดำเนินการมาครบ 30 ปี ในปี 2545 และรื้อถอนโรงแรมเพื่อเริ่มด่อสร้างศูนย์การค้าสยามพารากอน

สยามเซ็นเตอร์

จากนั้นในปี 2546 ได้เปลี่ยนชื่อบริษัท เป็น “สยามพิวรรธน์” ซึ่งเป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 28 มกราคม 2546

สยามพารากอน โครงการยักษ์กลางเมือง 15,000 ล้าน

ศูนย์การค้าสยามพารากอน ที่เปิดตัวในปี 2548 ถือเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ ด้วยเม็ดเงินลงทุนถึง 15,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นเงินลงทุนที่สูงสุดสำหรับศูนย์การค้าในขณะนั้น ตามด้วยการเปิด รอยัล พารากอน ฮอลล์ ศูนย์การประชุมระดับโลกในปี 2549

พารากอน

หลังจากนั้น ในปี 2556 ได้ปรับโฉม สยามเซ็นเตอร์ใหม่ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “สยามเซ็นเตอร์ เมืองแห่งไอเดียที่ล้ำเทรนด์” และประสบความสำเร็จด้วยการคว้ารางวัลถึง 9 รางวัล ตามด้วยการเปิด สยามพิวรรธน์อคาเดมี ซึ่งถือได้ว่าเป็นสถาบันแรกในเมืองไทย ที่รวบรวมทุกแง่มุมของการบริหารจัดการ ศูนย์การค้า และ โครงการอสังหาริมทรัพย์

แล้วก็ถึงคิวการปรับโฉมของ สยามดิสคัฟเวอรี่ ในปั 2559 ในฐานะ ดิ เอ็กซ์พลอราทอเรียม วางตำแหน่งเป็น ไลฟ์สไตล์ สเปเชียลตี้สโตร์ แห่งแรกและใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตามด้วยปี 2560 ที่ขยายธุรกิจสู่กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ด้วยการเปิดบริษัท สยาม กูร์เมต์ โฮลดิ้ง จำกัด เพื่อดูแลธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มโดยเฉพาะ

อภิมหาโปรเจ็คริมน้ำเจ้าพระยา “ไอคอนสยาม”

อีกก้าวสำคัญ ที่สร้างชื่อเสียงในฐานะค้าปลีกระดับโลก คือ การเปิดตัวโครงการ “ไอคอนสยาม” อภิมหาโปรเจ็คริมน้ำเจ้าพระยา ที่มีงบลงทุนมูลค่าสูงถึง 54,000 ล้านบาท

ไอคอนสยาม

ก้าวเดินนี้ ถือเป็นการเปิดตำราหน้าใหม่ของ สยามพิวรรธน์ ด้วยการ “สร้างเมือง” โดยนำความล้ำสมัยจากใจกลางเมือง มาผสานกับวัฒนธรรม และความงดงามแบบไทย พร้อมเสริมความสมบูรณ์แบบของเมือง ด้วยคอนโดมิเนียม “แมกโนเลียส์ วอเตอร์ฟรอนท์ เรสซิเดนซ์” คอนโดหรูริมน้ำเจ้าพระยา ติดไอคอนสยาม

จนถึงปีล่าสุด 2563 นี้ ที่ สยามพิวรรธน์สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้ตัวเอง และวงการค้าปลีกไทยอีกครั้ง ด้วยการทุ่มทุน 4,000 ล้านบาท บุกเบิกขยายธุรกิจค้าปลีกเซ็กเมนต์ใหม่ “ลักซ์ชัวรี ่พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต” ภายใต้ชื่อ “สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต” ที่ได้ ไซม่อน พร็อพเพอร์ตี้ กรุ๊ป ยักษ์อสังหาริมทรัพย์ระดับโลก มาร่วมลงทุน เนื่องจากกลุ่มไซม่อนมีเครือข่ายเอาท์เล็ตกว่า 200 แห่งทั่วโลก

ไล่เรียงงบลงทุนพุ่งเฉียดแสนล้าน

การเปิด สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต จึงทำให้ปัจจุบัน สยามพิวรรธน์มีธุรกิจค้าปลีกในเครือถึง 5 แห่ง ได้แก่ สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ สยามพารากอน ไอคอน สยาม และ สยาม พรีเมียม เอาท์เล็ต รวมเม็ดเงินลงทุนสูงถึง 78,000 ล้านบาท ไม่รวมงบประมาณที่ใช้ปรับโฉม สยามเซ็นเตอร์ และ สยามดิสคัฟเวอรี่ ซึ่งหากรวมแล้ว จะพุ่งแตะระดับแสนล้านเลยทีเดียว

siam premium outlet ๒๐๐๖๒๑ 0002

และในวันนี้ แม้ประเทศไทยรวมถึงทั่วโลก ต้องเผชิญกับวิกฤติไวรัสโควิด – 19 แต่ก็หาได้ทำให้สยามพิวรรธน์ ภายใต้การบริหารของ ชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ย่อท้อ เห็นได้จากการเปิด สยามพรีเมี่ยม เอาท์เล็ต ในช่วงโควิด – 19 และพร้อมเดินหน้าทำตามแผนเดิมที่วางไว้

กำเงิน 70,000 ล้าน ลงทุนใน 5 ปี

นั่นคือ การเตรียมเงินลงทุนไว้ไม่ต่ำกว่า 70,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนขยับขยายธุรกิจต่อเนื่อง ในช่วง 5 ปีจากนี้ โดยมีหลักชัยอยู่ที่การสร้างรายได้กว่า 50,000 ล้านบาท ในอีก 5 ปีจากนี้เช่นกัน ซึ่งหมายความว่า สยามพิวรรธน์ ต้องสร้างรายได้ให้โตกว่าเท่าตัว จากปี 2561 ที่มีรายได้อยู่ที่ 25,500 ล้านบาท

ชฎาทิพ เคยบอกเล่าถึง หัวใจสำคัญของ สยามพิวรรธน์ที่ทำให้สามารถสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ๆ ได้ดังที่เห็น เป็นผลมาจากการได้พันธมิตรที่ดี ไม่ว่าจะเป็น การร่วมทุนกับ เดอะ มอลล์ กรุ๊ป ลุยโครงการสยามพารากอน การจับมือกับ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น เปิดอภิมหาโปรเจ็ค ริมน้ำเจ้าพระยา ไอคอนสยาม จนถึงล่าสุดคือ สยาม พรีเมียม เอาท์เล็ต ที่ร่วมทุนกับกลุ่มไซม่อน

WRA04 1000

นอกจากนี้ “ชฎาทิพ จูตระกูล” ซีอีโอ สยามพิวรรธน์ ยังสร้างประวัติศาสตร์ครั้งยิ่งใหญ่ จากการเป็นผู้หญิงไทยคนแรก ที่ได้รับคัดเลือกให้ถูกจารึกชื่อใน “World Retail Hall of Fame 2019” ของสภาการค้าปลีกโลก (World Retail Congress) ในปี 2562 ที่ผ่านมาอีกด้วย

ปัจจุบัน สยามพิวรรธน์ แบ่งโครงสร้างธุรกิจในเครือ ออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจค้าปลีก และ ธุรกิจอื่นๆ รวม 11 บริษัทหลักๆ ได้แก่

ธุรกิจค้าปลีก

ประกอบด้วย บริษัท ดิสคัฟเวอรี่ รีเทล จำกัด ดำนินธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้าในโซนโอเพนสเปซ ใน สยามดิสคัฟเวอรี, บริษัท สยามพารากอน รีเทล จำกัด ซึ่งร่วมทุนกับกลุ่มเดอะมอลล์ เพื่อดำเนินการ “พารากอน ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์” ในสยามพารากอน, บริษัท สยามพิวรรธน์ รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด เพื่อจัดจำหน่ายสินค้าในรูปแบบต่างๆ รวมกว่า 12 แบรนด์ อาทิ ลอฟท์, เดอะ วันเดอร์ รูม, เดอะ ซีเล็คเต็ด, จิน แอนด์ มิลค ฯลฯ

บริษัท บริษัท สยาม กูร์เมต์ โฮลดิ้ง จำกัด เพื่อบริหารร้านอาหารเจมีส์ อิตาเลียน และมาย คิทเช่น ในศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี, บริษัท สยาม ทาคาชิมาย่า (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินธุรกิจห้างสรรพสินค้าสยามทาคาชิมาย่า สาขาไอคอนสยาม และล่าสุด บริษัท สยามพิวรรธน์ ไซม่อน จำกัด บริหาร สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต

ธุรกิจอื่นๆ

ประกอบด้วย บริษัท ซูพรีโม จำกัด บริษัทจัดการตลาดให้กับศูนย์การค้าในเครือ, บริษัท ดิจิมีเดีย จำกัด บริษัทจัดการตลาดในสื่อออนไลน์,รอยัลพารากอนฮอลล์ ดำเนินการในนามบริษัท รอยัลพารากอน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด, บริษัท สยามโปรเฟสชั่นแนล แมเนจเม้นท์ จำกัด ดูแลการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ในเครือ และ บริษัท ซุปเปอร์ฟอร์ซ จำกัด บริหารจัดการระบบรักษาความปลอดภัยภายในอาคารในเครือสยามพิวรรธน์

ทั้งหมดนี้ เป็นความสำเร็จอันสวยงามของ สยามพิวรรธน์ ในการสร้างสรรค์ สิ่งใหม่ๆ และยิ่งใหญ่ ให้จารึกไว้บนบันทึกวงการค้าปลีกไทย ที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก จึงน่าจับตางบลงทุน 70,000 ล้านบาท ที่เชื่อใจได้ว่า จะเป็นการสร้างประวัติศาสตร์วงการค้าปลีกไทยอีกแน่นอน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo