General

เด็กไทยยังไม่คุ้นเรียนออนไลน์ เพิ่มบทบาทครู ผู้สนับสนุนการเรียนรู้

เด็กไทยยังไม่คุ้นเรียนออนไลน์ สสวท. เผย ทั้งครู นักเรียน ผู้ปกครอง ไม่พร้อม 70% พบปัญหาขาดอุปกรณ์ 31% แนะเร่งปรับรับ New Normal การศึกษาไทย

ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กล่าวในเวที Recovery Forum หัวข้อ “School Reopening and Teacher Empowerment to cope with the Next Normal in Education” จัดโดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ว่า จนถึงปัจจุบัน เด็กไทยยังไม่คุ้นเรียนออนไลน์

ครู 1

ทั้งนี้ เห็นได้จากผลการสำรวจข้อมูล การจัดการเรียนการสอน ในสถานการณ์ปัจจุบันของ ครูระดับปฐมวัย ประถมศึกษา และมัธยมศึกษาทั่วประเทศ ในช่วงโควิด-19 พบว่า นักเรียน ครู ผู้ปกครอง 70% ระบุว่า ไม่คุ้นเคย และ ไม่พร้อมกับการเรียนการสอนออนไลน์

ขณะที่ด้านอุปกรณ์และเทคโนโลยี พบว่า 31 ขาดอุปกรณ์ ขาดความพร้อม สัญญาณโทรศัพท์/อินเทอร์เน็ตไม่เสถียร ทางบ้านไม่มีกำลังสนับสนุน

ด้านพฤติกรรม พบว่า ร้อยละ 12 นักเรียนขาดสมาธิระหว่างเรียนออนไลน์ การสอนค่อนข้างจะเป็นแบบ One-way จะเป็น Two-way เฉพาะครูที่มีเทคนิคและปรับตัวเข้ากับสถานการณ์สอนออนไลน์ได้ดี และปัญหาของผู้ปกครองต้องทำงาน ไม่มีเวลาดูแลบุตรหลานให้ตั้งใจเรียน

ด้านการสนับสนุนจากส่วนกลาง พบว่า 13% ครูที่สนใจการสอนออนไลน์ ต้องการแนวทาง หรือการฝึกอบรมจากส่วนกลาง เกี่ยวกับวิธีการใช้โปรแกรม เทคนิคการสอนออนไลน์ การสนับสนุนงบประมาณด้านอุปกรณ์และโปรแกรม และสื่อ ตำราเรียนออนไลน์

ปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มีการจัดทำแนวทาง การจัดการเรียนการสอน ของโรงเรียนในสถานการณ์โควิด-19 ทั้งรูปแบบการจัดการเรียนการสอน ทั้งรูปแบบปกติ และการจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน บทบาทในการเรียนของนักเรียน บทบาทในการสอนของครู การเรียนในชั้นเรียน การเรียนผ่านโทรทัศน์ และการเรียนการสอนแบบออนไลน์

20200513 ๒๐๐๖๒๐ 0027

สำหรับ New Normal ทางการศึกษาไทยนั้น ระบบการศึกษา จะเป็นส่วนหนึ่งของระบบสังคม มีการให้ความสำคัญกับกระบวนการ รวมถึง well-being ของนักเรียนแบบองค์รวม เกิดการพัฒนาการศึกษา โดยรับฟังเสียงสะท้อนจากทุกระดับ ครู ผู้ปกครอง นักเรียน ชุมชน ร่วมกันตัดสินใจเกี่ยวกับการจัดการศึกษา

ขณะเดียวกัน ต้องมีการออกแบบหลักสูตร โดยคำนึงถึงความแตกต่างของนักเรียนแต่ละคน มีแบบทดสอบที่หลากหลาย เพื่อวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน รวมถึงนักเรียนและครู ร่วมกันออกแบบสภาพแวดล้อมในห้องเรียน

อย่างไรก็ตาม แนวทางการปรับการศึกษายุคนิวนอร์มัล จำเป็นต้องปรับบทบาทครู จากรูปแบบดั้งเดิม เป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้ โดยเชื่อว่า คานงัดของการศึกษาไทย คือ การมีครูคุณภาพจำนวนมาก ที่มีความสามารถในการเป็น Facilitator สามารถเชื่อมโยงหลักสูตร วิธีการสอนและประเมินผลการเรียนรู้ ด้วยการฝึกอบรมครูให้ครูเปลี่ยนจากผู้สอน ไปเป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้ ชักชวนให้เด็กได้เรียนรู้

นอกจากนี้ สสวท. ได้นำเสนอ 2 แนวคิดสำคัญ ในการมุ่งเน้นการพัฒนาครู คือ 1. เปลี่ยนจากครูแบบเดิม เป็นครูที่สอนครอบคลุมเกี่ยวกับการใช้ชีวิตจริงได้  และ 2. แพลตฟอร์มสนับสนุนเพื่อการพัฒนาครูอย่างยั่งยืน

ปัจจุบัน สสวท. มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศทั้ง 38 แห่ง ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ครู ผ่านการพัฒนาครูในทุกพื้นที่ของประเทศ ให้มีความพร้อมสู่การเป็นครูยุคใหม่ในศตวรรษที่ 21 มุ่งเน้นการพัฒนาความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิทยาการคำนวณ

จากความต้องการบุคลากรของธุรกิจที่เปลี่ยนไป โดยเน้นบุคลากรที่มี Agility ไม่ใช่รู้ลึกเฉพาะเรื่อง แต่ต้องมีความสามารถที่หลากหลาย ยืดหยุ่นและสามารถปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็ก และต้องสร้างระบบการเรียนรู้ที่แตกต่างจากปัจจุบัน จึงเป็นอีกหนึ่งความท้าทายทางด้านการศึกษา

Avatar photo